Home Blog Page 42

ทรีนีตี้ เปิดขายกองทุน “ทรีนีตี้ เอเชียน ไพรเวทฟันด์” มองโอกาสลงทุนตปท.หลังโควิด-19 คลี่คลาย

ชี้วิกฤติโควิด-19 กำลังคลี่คลาย เป็นโอกาสลงทุนต่างประเทศ ผลจากธนาคารกลางประเทศต่างๆ อัดฉีดเงินเข้าระบบไม่จำกัด หนุนสภาพคล่องท่วมโลก มองหุ้นจีนฟื้นตัวเร็วสุด

พร้อมเปิดผลงาน“ทรีนีตี้ เอเชียน ไพรเวทฟันด์” กองก่อนหน้า ให้ผลตอบแทนชนะตลาดที่ติดลบแรง

ดร.วิศิษฐ์ องค์พิพัฒนกุล กรรมการผู้จัดการ บริษัทหลักทรัพย์ ทรีนีตี้ จำกัด เปิดเผยว่า ทรีนีตี้ประเมินสถานการณ์โควิด-19 ที่กำลังคลี่คลาย ถือเป็นโอกาสในการออกไปลงทุนต่างประเทศ โดยมองว่าตลาดหุ้นจะกลับมาปรับตัวเพิ่มขึ้นอีกครั้งภายหลังจากการออก QE ของธนาคารกลางของประเทศต่างๆ ที่อัดฉีดเม็ดเงินเข้าระบบ เช่น ธนาคารกลางสหรัฐ ฯ (เฟด) ออก QE แบบไม่จำกัดวงเงินซึ่งได้ทำแล้วราว 2 ล้านล้านเหรียญฯ และคาดว่าจะทำเพิ่มอีก 2 ล้านล้าน เหรียญฯในปีนี้ และเฟดเองก็ลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลงมาอยู่ที่ระดับต่ำ 0-0.25 % ขณะที่กระทรวงการคลังสหรัฐฯ ก็ใช้นโยบายการคลังด้วยการอัดฉีดเงินเข้าระบบประมาณ 10% ของจีดีพี ธนาคารกลางยุโรปออก QE ในวงเงิน 1.1 ล้านยูโรภายในสิ้นปีนี้ ส่วนธนาคารกลางญี่ปุ่นก็ออกมาตรการซื้อพันธบัตรรัฐบาลแบบไม่จำกัดเช่นกัน

“ผลของการดำเนินนโยบายนี้จะทำให้สภาพคล่องของเงินทุนล้นโลกซึ่งจะเป็นตัวสนับสนุนให้ตลาดหุ้นปรับตัวเพิ่มขึ้นได้ภายหลังวิกฤติโควิด-19 โดยเฉพาะตลาดหุ้นจีนน่าจะฟื้นตัวได้เร็วกว่าประเทศอื่น”

ทั้งนี้ ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (PMI) ของจีนได้ฟื้นตัวกลับมาอยู่ในตัวเลขเดียวกันกับในช่วงก่อนวิกฤติแล้วหรือคาดว่าเศรษฐกิจจีนจะใช้เวลาในการฟื้นตัวประมาณ 1-2 ปี ในการฟื้นฟูเศรษฐกิจกลับมาที่เดิมและมองว่าตลาดหุ้นจีนจะฟื้นตัวเร็วสุด ขณะที่สหรัฐ ฯ จะใช้เวลาอย่างน้อย 4 ปี ในขณะที่เศรษฐกิจของยุโรปอาจจะใช้เวลามากกว่า 4 ปี  ส่วนประเทศไทยยังต้องใช้เวลาเพราะวิกฤติรอบนี้ทำให้จีดีพีปีนี้จะติดลบ 6-7 % ซึ่งถือว่าติดลบหนักสุดในภูมิภาคเอเชีย

ดร.วิศิษฐ์ กล่าวว่า การจัดสรรเงินลงทุน ในสภาวะการณ์เช่นนี้ ทรีนีตี้ แนะนำให้ลงทุนทองคำในสัดส่วน 10% ลงทุนในหุ้นไทย 20% เน้นหุ้นปันผลดีประมาณ 30-40%และลงทุนในตราสารหนี้ที่มีอันดับความน่าเชื่อถือระดับ BBB ขึ้นไปและอีก 10-20% ลงทุนในกองทุนส่วนบุคคลทรีนีตี้ เอเชียน ไพรเวทฟันด์เพราะเป็นกองทุนที่จะลงทุนในหุ้นจีนในสัดส่วนที่มากและ ส่วนอีก 10-20 % ถือเป็นเงินสดเพราะในภาวะที่ตลาดหุ้นยังมีความผันผวนสูงการถือเงินสดจะสร้างโอกาสที่ดีให้กับนักลงทุนได้ในจังหวะที่ตลาดปรับตัวลดลงมา

“ทรีนีตี้มองว่าในวิกฤติมีโอกาสสำหรับการลงทุนเสมอ ดังนั้นจะเปิดขายกองทุนส่วนบุคคล ทรีนีตี้ เอเชียน ไพรเวทฟันด์ (TRINITY ASIAN Private Fund) ให้นักลงทุนจองซื้อได้ตั้งแต่วันนี้ถึง 27 พฤษภาคม 2563 กองทุนนี้จะมีสัดส่วนการลงทุนในตลาดหุ้นจีนเป็นหลัก  เพราะเศรษฐกิจและตลาดหุ้นจีนจะสามารถฟื้นตัวได้เร็วกว่าประเทศอื่นๆ ”

สำหรับกองทุนส่วนบุคคล ทรีนีตี้ เอเชียน ไพรเวทฟันด์ บริหารงาน โดย AZIM Singapore   เป็นกองทุนปิดที่มีนโยบายลงทุนหุ้นในภูมิภาคเอเชีย ยกเว้น ญี่ปุ่น (Asia ex-Japan) มีการบริหารกองทุนแบบ Active Fund ที่เลือกลงทุนหุ้นที่มีคุณภาพ มีการเติบโตและมีมูลค่าเพิ่ม โดยผู้จัดการกองทุนจะปรับเปลี่ยนหุ้นในพอร์ตไปยังกลุ่มอุตสาหกรรมที่มีแนวโน้มได้รับประโยชน์จากปัจจัยแวดล้อมได้อย่างรวดเร็ว ซึ่งกลยุทธ์การบริหารกองทุนในลักษณะนี้ทำให้ผลการดำเนินงานของกองทุน TRINITY Asian Private Fund (ex-Japan) มีผลตอบแทนสูงกว่า Benchmark (MSCI ex-Japan) มาโดยตลอด ณ วันที่ 17 เมษายน 2563 ผลตอบแทน (ที่ยังไม่ได้หักค่าบริหารจัดการ และค่าใช้จ่ายอื่นๆ) เท่ากับ +11.65% ในขณะที่ MSCI (ex-Japan) -9.58%

ทั้งนี้ นักลงทุนที่สนใจสามารถจองซื้อได้ตั้งแต่วันนี้ถึง 27 พฤษภาคม 2563 ซึ่งกำหนดเงินลงทุนเริ่มต้น 2 ล้านบาท มีระยะเวลาลงทุนประมาณ 1 ปี กองทุนนี้ไม่มีนโยบายจ่ายปันผลโดยจะนำเงินปันผลไปลงทุนต่อเพื่อสร้างผลตอบแทนรวมทั้งได้มีการป้องกันความเสี่ยงในเรื่องของอัตราแลกเปลี่ยนบางส่วนด้วย ซึ่งการป้องกันความเสี่ยงจะขึ้นอยู่กับดุลพินิจของผู้จัดการกองทุน

ธุรกิจการบินของไทยอาการร่อแร่ เร่งกลับมาเปิดบิน รอดูความช่วยเหลือจากภาครัฐ

Economic Intelligence Center (EIC) หน่วยงานภายใต้ธนาคารไทยพาณิชย์ ประเมินว่า ปีนี้ รายได้ธุรกิจการบินสัญชาติไทย มีแนวโน้มหดตัวลง 60% มาอยู่ที่ประมาณ 1.21 แสนล้านบาท โดยเฉพาะในเส้นทางระหว่างประเทศจากจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติที่ลดลงกว่า 67% เหลือเพียง 13.1 ล้านคน ซึ่งเป็นผลจากมาตรการห้ามเดินทางเข้า-ออกประเทศของรัฐบาลหลายประเทศ ความกังวลของนักเดินทางกับการติดเชื้อ และสภาวะเศรษฐกิจโลกที่เข้าสู่ภาวะถดถอยที่กดดันให้ความต้องการเดินทางฟื้นตัวอย่างค่อยเป็นค่อยไป

การขาดรายได้จากการหยุดให้บริการจะส่งผลให้สภาพคล่องของสายการบินสัญชาติไทยลดลง และจะเพียงพอต่อภาระค่าใช้จ่ายที่ยังคงเหลืออยู่ซึ่งมีสัดส่วน 30% ของค่าใช้จ่ายต่อเดือน ได้เพียงประมาณ 3 เดือน

วิธีที่สายการบินสัญชาติไทยได้เร่งปรับตัว ได้แก่ การลดค่าใช้จ่ายที่ยังคงเหลืออยู่ เช่น ค่าเช่าเครื่องบิน ค่าใช้จ่ายพนักงาน เป็นต้น การให้เปลี่ยนเที่ยวบินแทนการคืนค่าโดยสาร การหารายได้เพิ่มเติมจากธุรกิจอื่น ๆ และการเตรียมกลับมาให้บริการในประเทศ

ในต่างประเทศ ภาครัฐได้ให้ความช่วยเหลือธุรกิจสายการบินในหลายรูปแบบ เช่น ลดค่าธรรมเนียมและค่าภาษีในธุรกิจการบิน, สนับสนุนค่าใช้จ่ายบุคลากรทางการบิน, พิจารณาให้เงินกู้ระยะสั้นเพื่อเสริมสภาพคล่อง

สำหรับไทย ภาครัฐต้องพิจารณาให้รอบด้าน ในการพิจารณาให้ความช่วยเหลือแก่สายการบินที่ได้รับผลกระทบ ทั้งรูปแบบและระดับในการช่วยเหลือที่เหมาะสม ประโยชน์ที่จะได้รับ รวมถึงนัยต่อฐานะการคลังของประเทศที่มีจำกัดด้วย

ทั้งนี้ ธุรกิจการบินถือเป็นอีกหนึ่งธุรกิจที่ได้รับผลกระทบอย่างรุนแรงจากการแพร่ระบาดของ COVID-19 โดยมาตรการ lock down ในหลายประเทศทั่วโลกส่งผลให้สายการบินต้องยกเลิกเที่ยวบินจำนวนมากและถึงขั้นหยุดให้บริการโดยเฉพาะในเส้นทางระหว่างประเทศ สมาคมขนส่งทางอากาศระหว่างประเทศ (IATA) ประเมิน ณ วันที่ 14 เม.ย. 2020 ว่าปริมาณการขนส่งผู้โดยสารทั่วโลกในปี 2020 จะลดลงกว่า -48% และส่งผลให้รายได้สายการบินทั่วโลกปรับลดลงกว่า -55%

กรุงไทยขานรับสรรพากร สนับสนุนนิติบุคคลผูกพร้อมเพย์ผ่านออนไลน์ / เปิดชำระภาษีฟรีค่าธรรมเนียม

นายผยง ศรีวณิช กรรมการผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงไทย เปิดเผยว่า ตามที่กรมสรรพากรมีนโยบายปรับปรุงกระบวนการให้บริการคืนภาษีเงินได้นิติบุคคลผ่านระบบพร้อมเพย์ ตั้งแต่ 1 พ.ค.นี้ ธนาคารกรุงไทยได้พัฒนาช่องทางในการสมัครและผูกบัญชีพร้อมเพย์ผ่าน Krungthai Corporate Online เพื่ออำนวยความสะดวกให้กับลูกค้าธุรกิจ โดยมีขั้นตอนการยื่นขอสมัครง่าย สะดวก และรวดเร็ว เพียงมีเลขทะเบียนนิติบุคคล 13 หลักและเลขที่บัญชีเงินฝากธนาคารกรุงไทยเท่านั้น

ส่วนธุรกิจที่ยังไม่ได้เปิดใช้บริการ Krungthai Corporate Online สามารถยื่นเอกสารขอดำเนินการได้ที่ธนาคารกรุงไทยทุกสาขา และขอเชิญชวนลูกค้าธุรกิจใช้บริการพร้อมเพย์ในการรับเงินคืนภาษี เพื่อจะได้เงินคืนเข้าบัญชีโดยตรง การทำธุรกรรมทางการเงินจะสะดวกและคล่องตัวมากขึ้น ทั้งการรับ-โอนเงินระหว่างบุคคลกับนิติบุคคล หรือนิติบุคคลกับนิติบุคคล ก็สามารถดำเนินการได้ โดยใช้เลขทะเบียนนิติบุคคล 13 หลัก แทนการใช้เลขที่บัญชีเงินฝากธนาคาร

นอกจากนี้ ธนาคารกรุงไทยจับมือกับกรมสรรพากร อำนวยความสะดวกให้ลูกค้านิติบุคคล สามารถชำระภาษีผ่านช่องทางอิเล็กทรอนิกส์ของธนาคารโดยไม่มีค่าธรรมเนียมการทำรายการ ได้แก่ แอปพลิเคชัน Krungthai NEXT, Krungthai Corporate Online และตู้ ATM/ADM สามารถดำเนินการได้ทุกที่ทุกเวลา โดยไม่ต้องเดินทางมาที่สาขาของธนาคาร

คาเฟ่ อเมซอน ชวนสมทบทุนกองทุนชัยพัฒนาสู้ภัยโควิด 19 ผ่านโครงการ 1 แก้ว 1 กำลังใจ ร่วมสร้างพลังที่ยิ่งใหญ่

คาเฟ่ อเมซอน (Café Amazon) ขอเชิญชวนคนไทยทุกคนร่วมส่งมอบกำลังใจร่วมสู้สถานการณ์โควิด 19 กับโครงการ “1 แก้ว 1 กำลังใจ ร่วมสร้างพลังที่ยิ่งใหญ่” ร่วมส่งต่อพลังใจให้บุคลากรทางการแพทย์

ทุก ๆ การซื้อเครื่องดื่ม คาเฟ่ อเมซอน 1 แก้ว ทั้งการซื้อที่หน้าร้าน และสั่งซื้อผ่านเดลิเวอรี่แอปทุกช่องทาง ระหว่างวันที่ 1 – 7 พฤษภาคม 2563 ทางคาเฟ่ อเมซอนจะหักรายได้ 1 บาท/แก้ว มอบให้กองทุนชัยพัฒนาสู้ภัยโควิด 19 (และโรคระบาดต่าง ๆ)

กองทุนดังกล่าว อยู่ภายใต้การดำเนินงานของมูลนิธิชัยพัฒนา ซึ่งจัดตั้งขึ้นเพื่อมอบความช่วยเหลือแก่โรงพยาบาล บุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุขทั่วประเทศ ที่ปฏิบัติหน้าที่แนวหน้าในการรับมือกับการแพร่ระบาดของโควิด 19

ท้้งนี้ สามารถร่วมเป็นส่วนหนึ่งของโครงการ “1 แก้ว 1 กำลังใจ ร่วมสร้างพลังที่ยิ่งใหญ่” ได้ที่ร้านคาเฟ่ อเมซอน กว่า 2,900 สาขาทั่วประเทศ และเดลิเวอรี่แอปทุกช่องทาง ให้คาเฟ่ อเมซอน ทุกแก้วของคุณส่งต่อพลังให้กับสังคม

สรรพากร พร้อมคืนภาษีเงินได้นิติบุคคล ผ่านพร้อมเพย์ 1 พ.ค.นี้

กรมสรรพากร ธนาคารแห่งประเทศไทย สมาคมธนาคารไทย และสมาคมธนาคารนานาชาติ ร่วมสนับสนุนการทำธุรกรรม digital ให้เดินหน้าอย่างต่อเนื่อง ด้วยการให้บริการคืนเงินภาษีเงินได้นิติบุคคล ผ่านระบบพร้อมเพย์ เริ่ม 1 พฤษภาคม 2563

นางสมหมาย ศิริอุดมเศรษฐ ที่ปรึกษาด้านยุทธศาสตร์การจัดเก็บภาษี (กลุ่มธุรกิจพลังงาน) ในฐานะโฆษกกรมสรรพากร เปิดเผยว่า ตั้งแต่วันที่ 1 พฤษภาคม 2563 เป็นต้นไป กรมสรรพากรพร้อมให้บริการคืนเงินภาษีเงินได้นิติบุคคลผ่านระบบพร้อมเพย์ โดยการคืนภาษีเงินได้นิติบุคคลสำหรับนิติบุคคลที่มีคุณสมบัติ ต่อไปนี้

  • 1. เป็นนิติบุคคลที่มีพร้อมเพย์
  • 2. มีเงินคืนภาษีไม่ถึง 100 ล้านบาท
  • 3. ไม่เปลี่ยนแปลงสถานะนิติบุคคล

สำหรับนิติบุคคลที่มีคุณสมบัติครบถ้วนและได้สมัครลงทะเบียนพร้อมเพย์แล้ว กรมสรรพากร จะพิจารณาคืนเงินเข้าบัญชีเงินฝากธนาคารที่ผูกไว้กับเลขทะเบียนนิติบุคคล 13 หลัก ส่วนนิติบุคคลอื่นๆ ที่ไม่เข้าเงื่อนไข กรมสรรพากรจะคืนเป็นเช็ค หรือโอนผ่านบัญชีธนาคาร

เป้าหมายในอนาคตจะมีการปรับเปลี่ยนรูปแบบการคืนเงินภาษีเงินได้นิติบุคคลผ่านระบบพร้อมเพย์แทนการคืนเงินเป็นเช็คหรือโอนผ่านบัญชีธนาคารทุกราย เพื่อสนับสนุนนโยบายการชำระเงินแบบอิเล็กทรอนิกส์แห่งชาติ (National e-Payment) ลดต้นทุนการทำธุรกรรมทั้งภาครัฐและเอกชน เพิ่มความสะดวก และความปลอดภัยในการให้บริการ โดยช่องทางการลงทะเบียนสมัครพร้อมเพย์ เพียงเตรียมเอกสารและติดต่อธนาคารที่บริษัทมีบัญชีอยู่

โฆษกกรมสรรพากรกล่าวเพิ่มเติมว่า “การคืนภาษีเงินได้นิติบุคคลผ่านระบบพร้อมเพย์จะช่วยอำนวยความสะดวก และเพื่อความปลอดภัยในช่วงสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรน่า 2019 (COVID-19) ในขณะนี้ เพื่อลดการติดต่อกันในระหว่างการทำธุรกรรม เว้นระยะห่างทางสังคม (Social Distancing) และหวังว่าจะเป็นส่วนหนึ่งที่จะช่วยสนับสนุนให้ทุกคนอยู่ที่บ้าน สนับสนุนแนวคิด “อยู่บ้าน หยุดเชื้อ เพื่อชาติ” ของรัฐบาลต่อไป”

ทั้งนี้ สามารถศึกษาข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ www.rd.go.th หรือสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ ศูนย์สารนิเทศสรรพากร (RD Intelligence Center) โทร. 1161 หรือที่สำนักงานสรรพากรทุกแห่งทั่วประเทศ

ถอดบทเรียน วิธีที่เจ้าของกิจการและผู้บริหารนำพาธุรกิจรอดพ้นวิกฤต

การได้เรียนรู้แนวคิดของเจ้าของกิจการและผู้บริหาร ที่เคยเจอวิกฤตในหลายๆ ครั้งที่ผ่านมา ไม่ว่าจะเป็นวิกฤตต้มยำกุ้งปี 2540 วิกฤตซับไพรม์หรือวิกฤตแฮมเบอร์เกอร์ปี 2550-2551 อุทกภัยน้ำท่วมใหญ่ปี 2554  รวมถึงวิกฤตเศรษฐกิจต่างๆ พบว่า ผู้นำเหล่านี้ ล้วนมีวิธีคิดและวิธีบริหารจัดการธุรกิจที่มีความคล้ายคลึงกันในหลายๆ ด้าน การถอดบทเรียนประสบการณ์การนำทัพของแต่ละท่านที่พาธุรกิจก้าวพ้นช่วงเวลาที่ยากลำบากไปได้นั้น จะเป็นแนวทางที่ดีสำหรับผู้ประกอบการในการนำมาเรียนรู้และปรับใช้กับธุรกิจที่ขณะนี้กำลังเผชิญกับความท้าทายจากสถานการณ์โควิด-19 ให้สามารถนำพาธุรกิจรอดพ้นวิกฤต พลิกฟื้นกลับมาเข้มแข็งได้เช่นกัน

“จากที่ธุรกิจเคยมีทรัพย์สิน..ชั่วคืนเดียวกลายเป็นมีหนี้สิน ขาดทุนมหาศาล”

“ขายของไม่ได้ ลูกค้ารัดเข็มขัด”

ปัญหาต่างๆ เหล่านี้ เป็นสิ่งที่เจ้าของกิจการหรือผู้บริหารไม่อยากเจอ แต่การเป็นเจ้าของธุรกิจ คือการเป็นผู้นำที่ต้องแก้ปัญหาตลอดเวลาไม่ว่าจะเป็นปัญหาเล็กน้อยประจำวัน หรือปัญหาใหญ่โตที่มีผลกระทบต่อธุรกิจ ดังนั้น การมีหลักการและวิธีแก้ปัญหาที่ดี (Input) การเลือกใช้วิธีการแก้ปัญหาที่มีประสิทธิภาพ (Process) ย่อมทำให้ผลลัพธ์ส่วนใหญ่ (Output) ออกมาดีเช่นกัน ดังนั้น เราลองมาดูกันว่าวิธีแก้ปัญหายามเจอวิกฤตที่ได้ถอดบทเรียนจากเจ้าของธุรกิจและผู้บริหารนั้นมีอะไรบ้าง

1. X-ray ธุรกิจอย่างจริงจัง ทบทวนว่าธุรกิจอะไรที่เราทำเก่ง ถนัดที่สุด ซึ่งเป็นจุดแข็งและจุดขายที่ทำให้บริษัทยังยืนระยะต่อไปได้ เลือกให้เป็น Core business ที่เหลืออาจจะตัดทิ้ง เพราะหากรั้งไว้ก็อาจจะสร้างหนี้สินให้ธุรกิจมากขึ้นไปอีก

2. ปรับโครงสร้างธุรกิจ ลดขนาดของธุรกิจลง แต่ไม่ใช่ลดพนักงาน ผู้บริหารเลือกที่จะไม่ไล่พนักงานออก แต่จะสื่อสารขอให้ทุกคนปรับตัวร่วมกัน ประหยัดค่าใช้จ่าย ลดการใช้งบประมาณที่ไม่จำเป็น ผู้บริหารและพนักงานบางบริษัทเสียสละโดยการลดเงินเดือนของตัวเองลง รวมถึงเน้นการพัฒนาศักยภาพของพนักงานมากขึ้น ช่วยกันหาวิธีเพิ่มความรู้และทักษะใหม่ๆ เพื่อให้พนักงานสามารถไปช่วยทำงานใน Core business สนับสนุนการหารายได้เข้าบริษัท

3. หาช่องทางขายใหม่ๆ (ที่ไม่เคยลองมาก่อน) ผู้บริหารต้องไม่ยึดติดกับวิธีการเดิมๆ ต้องกล้าคิดนอกกรอบการมองหาโอกาสใหม่ๆ ในภาวะวิกฤตไม่ใช่เรื่องยากจนเกินไป แต่ต้องทดลองและปลุกพลังให้ทีมงานกล้าทำสิ่งใหม่ๆ ไปด้วยกัน

4. บริหารเงินทุนอย่างเป็นระบบ โดยเน้นซื้อขายด้วยเงินสดและไม่กู้เงินเพิ่ม ในกรณีที่บริษัทมีหนี้อยู่ และยังไม่สามารถชำระหนี้ได้ ให้ใช้วิธีสื่อสารกับเจ้าหนี้อย่างจริงใจ ตรงไปตรงมา แสดงเจตนาว่าบริษัทมีความรับผิดชอบ เพียงขอแค่ขยายเวลาชำระหนี้ออกไป (เพื่อบริหาร Cash flow) รวมถึงเสนอแผนการต่าง ๆ เพื่อสร้างความมั่นใจให้กับเจ้าหนี้ หรือ Supplier รวมไปถึงคู่ค้า โดยการให้ราคาสินค้าและเครดิตเทอมที่เป็นธรรมเหมาะสมกับสถานการณ์

5. ให้ความสำคัญกับนวัตกรรมมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นการพัฒนาสินค้าบริการ พัฒนากระบวนการใหม่ๆ ที่ต้องเร็วขึ้น สะดวกขึ้น ตอบโจทย์ความต้องการของลูกค้าได้ทันที โดยเฉพาะระบบบริหารจัดการหลังบ้าน อันจะเป็นการช่วยเรื่องลดต้นทุน ลดเวลา (สามารถนำเอาเวลาไปสร้าง Value ในด้านอื่นๆ แทน) รวมถึงการใช้    กลยุทธ์การตลาดที่เหมาะสม

6. นำนโยบายเรื่องการบริหารความเสี่ยงมาใช้ และทำธุรกิจอย่างรอบคอบ เช่น การกำหนดนโยบาย หรือมาตรการรับมือที่ผู้บริหารและพนักงานต้องปฎิบัติตาม รวมถึงการจัดทำแผนพัฒนาระบบบริหารความต่อเนื่องของธุรกิจ หรือแผนสำรองการทำงานในภาวะฉุกเฉิน (Business Continuity Planning: BCP) เพื่อให้ธุรกิจสามารถดำเนินไปได้อย่างต่อเนื่องเมื่อเกิดเหตุการณ์ที่ไม่คาดคิดต่างๆ เป็นต้น

จากทั้ง 6 ข้อข้างต้นนั้น เป็นเพียงหลักการวิธีแก้ปัญหาเพื่อให้ธุรกิจผ่านพ้นช่วงเวลาแห่งความยากลำบาก แต่การจะทำให้ธุรกิจเติบโตอย่างยั่งยืนในทุกสภาวการณ์นั้น สิ่งสำคัญที่สุดอีกสิ่งหนึ่งคือ “การมีธรรมาภิบาลและความรับผิดชอบต่อสังคม” หรือหลักการดำเนินธุรกิจที่ดีที่เรียกว่า Good Governance & Corporate Social Responsibility เพราะหากธุรกิจขาดคุณธรรมต่อพนักงาน ต่อคู่ค้า ต่อผู้ลงทุนและต่อ Supplier ธุรกิจจะไม่มีวันประสบความสำเร็จ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเวลาวิกฤต การขาดพันธมิตรและผู้สนับสนุนนั้น ธุรกิจที่ว่ายิ่งใหญ่แค่ไหนก็รอดยาก


บทความโดย : นุชนาถ คุณความดี
ฝ่ายพัฒนาความรู้ผู้ประกอบการ
ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย

เงาหุ้น : จับตา Sell in May

ดัชนีหุ้นไทยวันที่ 27 เม.ย.63 ปิดที่ 1,267.41 จุด บวก 8.63 จุด มีมูลค่าการซื้อขาย 49,584.05 ล้านบาท ต่างชาติขายสุทธิ 669.07 ล้านบาท

หุ้นมูลค่าการซื้อขายสูงสุด CPALL ปิด 69.25 บาท บวก 3 บาท, BAM ปิด 23.70 บาท บวก 0.30 บาท, GPSC ปิด 70.50 บาท บวก 1.25 บาท, PTT ปิด 34 บาท ไม่เปลี่ยนแปลง, GULF ปิด 39 บาท บวก 1 บาท

ตลาดปิดบวกตามตลาดหุ้นต่างประเทศด้วยมูลค่าการซื้อขายที่ชะลอตัวลง ขณะที่ ศบค.มีมติเสนอ ครม.ต่อเวลาประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินและเคอร์ฟิวทั่วประเทศอีก 1 เดือน และให้งดหรือชะลอการเดินทางข้ามจังหวัด, งดกิจกรรมที่จะทำให้เกิดการ
รวมตัวกันของคนหมู่มาก รวมทั้งควบคุมการเข้าออกประเทศต่ออีก 1 เดือน สิ้นสุด 31 พ.ค.63 จากเดิมสิ้นสุด 30 เม.ย.นี้ ทั้งนี้รอเสนอ ครม.พิจารณาอนุมัติวันที่ 28 เม.ย.63

ฝ่ายวิจัย บล.เอเซียพลัส เผยบทวิเคราะห์ ระบุ ปัญหาโควิดที่ยังอยู่อาจเป็นการตอกย้ำให้เกิดเหตุการณ์ Sell in May ซ้ำรอยอดีตที่เดือน พ.ค.ตลาดหุ้นไทยมักจะปรับตัวลงแรงเสมอ เฉลี่ยลดลงราว 2% และเป็นการปรับตัวลงถึง 8 ปีใน 10 ปี

มี 3 ปัจจัยที่มักเกิดขึ้นซ้ำๆ ส่งผลให้เกิดปรากฏการณ์ Sell in May อยู่เสมอ ดังนี้

1. เดือน พ.ค. เป็นช่วงประกาศงบบริษัทจดทะเบียนในไตรมาสแรก หากออกมาต่ำกว่าคาดมีโอกาสที่จะถูก “Sell on fact” ได้ ยิ่งไปกว่านั้นในปีนี้นักลงทุนส่วนใหญ่ยังคาดว่ากำไรบริษัทจดทะเบียนปีนี้น่าจะทำจุดต่ำสุดในไตรมาส 2 ทำให้ตลาดหุ้นในช่วงเดือน พ.ค.63 อาจไม่คึกคักมาก

2. เดือน พ.ค.เป็นเดือนที่เม็ดเงินลงทุนต่างชาติมักไหลออกจากตลาดหุ้นมากสุด เฉลี่ยสูงถึง 1.65 หมื่นล้านบาท

3. เนื่องจากเดือน พ.ค.เป็นช่วงที่มีการขึ้นเครื่องหมาย XD และจ่ายปันผลงบปี 62 เกือบหมดแล้วกว่า 408 ใน 488 บริษัท (คิดเป็น 83% ของบริษัทที่ประกาศจ่ายปันผล) ทำให้นักลงทุนมีการโยกเงินกลับประเทศบางส่วน รวมถึงก่อนขึ้นเครื่องหมาย XD

ยังได้มีการเก็งกำไรหุ้นแล้ว จึงไม่มีแรงซื้อที่เข้ามาหนุนตลาดเหมือนกับเดือนที่ผ่านๆมา

ดังนั้นกลยุทธ์การลงทุนยังคงเตรียมรับมือกับความผันผวนของตลาด โดยเลือกลงทุนหุ้น Defensive ราคา Laggard อย่าง BTSGIF และ EA ซึ่งราคาหุ้นทั้งสอง ยัง Laggard กว่ากลุ่ม และมี Valuation ที่น่าสนใจ!!

ที่มา คอลัมน์เงาหุ้น หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ

ปากกาแลนเซอร์ ปิดกิจการ เซ่นพิษโควิด-19

รายงานข่าว เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 27 เม.ย. 63 พล.ต.ต.วาทิน คำทรงศรี กรรมการบริษัท ดี.ที.ซี.อินดัสตรี่ส์ จำกัด (มหาชน) หรือ DTCI ผู้ผลิตอุปกรณ์เครื่องเขียน ตรา  แลนเซอร์ Lancer  ได้ทำหนังสือแจ้งมายังตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย โดยระบุว่า

“ด้วยสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ได้ส่งผลกระทบอย่างมากต่อการดำเนินกิจการของบริษัท คือ ไม่มีรายการสั่งซื้อจากลูกค้าที่เคยสั่งซื้อ และทางบริษัทไม่สามารถจัดส่งสินค้าไปยังลูกค้าได้ เนื่องจากลูกค้าซึ่งเป็นร้านค้าต่างๆ ล้วนต้องปิดร้านตามคำสั่งรัฐ และยังไม่อาจทราบได้ว่าจะกลับมาเปิดดำเนินการได้เมื่อไร

ทั้งนี้ เพื่อเป็นการลดผลกระทบจากเหตุการณ์ดังกล่าว บริษัท ดี.ที.ซี.อินดัสตรี่ส์ จำกัด (มหาชน) จึงได้ประกาศปิดกิจการชั่วคราว ตั้งแต่วันที่ 24 เม.ย. 63 เป็นต้นไป และจะเปิดดำเนินการต่อไปเมื่อสถานการณ์ดีขึ้น”

ทั้งนี้ บริษัท DTCI เป็นผู้ผลิตเครื่องเขียน แบรนด์ LANCER มีทั้งปากกาลูกลื่น ปากกาเคมี ปากกาเขียนไวท์บอร์ด ปากกาไฮไลต์ และอุปกรณ์เครื่องเขียนอื่นๆ

CPF ส่งมอบอาหารปลอดภัย บรรเทาความเดือดร้อนของชาวเพชรบุรี

นายกอบชัย บุญอรณะ ผู้ว่าราชการจังหวัดเพชรบุรี รับมอบผลิตภัณฑ์อาหารปลอดภัย จาก บริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) หรือ ซีพีเอฟ ในโครงการ CPF ส่งอาหารจากใจ ร่วมต้านภัยโควิด-19 โดยมี นายวิโรจน์ รชตธนภัทรพร้อมด้วย นายอลงกรณ์ วารีรักษ์ และ นายสัมฤทธิ์ แสงลอย ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ ผู้แทนบริษัทฯ ส่งมอบ เพื่อนำไปสมทบให้กับโรงครัวใช้ในการประกอบอาหารแจกจ่ายให้กับประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากวิกฤติโควิด-19 ในพื้นต่อไป ณ ศาลากลางจังหวัดเพชรบุรี

นายกอบชัย บูญอรณะ ผู้ว่าราชการจังหวัดเพชรบุรี กล่าวว่า ขอขอบคุณซีพีเอฟ ที่ได้สนับสนุนอาหารแทนความห่วงใยที่จะใช้สู้โควิด-19 นอกเหนือจากการทำงานของหน่วยงานภาครัฐที่มุ่งมั่นทำงานอย่างเต็มที่ทุกมาตรการแล้ว ความสำเร็จที่มาจากภาคเอกชนก็เป็นส่วนสำคัญ ที่เสริมสร้าง ขวัญ กำลังใจ ให้กับเจ้าหน้าที่และพี่น้องประชาชนให้ผ่านพ้นวิกฤติโควิด-19 ไปด้วยกัน

นายวิโรจน์ รชตธนภัทร ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ ซีพีเอฟ กล่าวว่า ซีพีเอฟ มุ่งมั่นช่วยเหลือประชาชน เราคนไทยจะไม่ทอดทิ้งกัน โดยบริษัทได้ส่งมอบอาหารปลอดภัยให้กับเจ้าหน้าที่ผู้ที่ทุ่มเทในการปฏิบัติงาน อีกทั้งยังส่งต่อไปให้พี่น้องประชาชนเพื่อบรรเทาความเดือดร้อน ให้ทุกคนพร้อมสู้กับวิกฤติโควิด-19 ไปด้วยกัน สำหรับผลิตภัณฑ์อาหารปลอดภัยที่นำมามอบให้ในครั้งนี้ มีอาหารสำเร็จรูปแช่แข็ง น้ำดื่ม 50 โหล และไข่ไก่ 1,500 ฟอง โดยจะนำไปสมทบให้โรงครัวเพื่อใช้ประกอบอาหารแจกจ่ายให้กับประชาชนต่อไป

AIS Business เปิดศูนย์ปฏิบัติการฯ สู้ภัยไซเบอร์ สร้างความปลอดภัยให้ลูกค้าองค์กร

พบอาชญากรรมทางไซเบอร์ทั่วโลกเดือนมี.ค. 2563 เพิ่มสูงขึ้น 37% เมื่อเทียบกับเดือนก.พ.

มีองค์กรและธุรกิจที่ Work From Home ถูกโจมตีทางไซเบอร์เพิ่มสูงขึ้นกว่า 127%

คาดว่าอาชญากรรมทางไซเบอร์ทั่วโลกจะสร้างความเสียหายมากกว่า 6 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ ภายในปี 2021

เตรียมพร้อมธุรกิจไทย รับ New Normal หลังวิกฤตโควิด-19

นายยงสิทธิ์ โรจน์ศรีกุล หัวหน้าคณะผู้บริหารกลุ่มลูกค้าองค์กร เอไอเอส เปิดเผยว่า ทุกวันนี้ การโจมตีหรือภัยคุกคามทางไซเบอร์เกิดขึ้นได้ตลอดเวลา โดยมีกลุ่มองค์กรและภาคธุรกิจเป็นเป้าหมายหลัก ยิ่งในสถานการณ์ปัจจุบันที่ทุกองค์กรให้พนักงานทำงานจากที่บ้าน (Work From Home) ซึ่งบางครั้งต้องเข้าสู่ระบบของบริษัท ทำให้เป็นช่องโหว่ให้เกิดภัยไซเบอร์ตามมา

ยงสิทธิ์ โรจน์ศรีกุล หัวหน้าคณะผู้บริหารกลุ่มลูกค้าองค์กร เอไอเอส

ขณะเดียวกัน ภาครัฐได้ประกาศใช้ พ.ร.บ.การรักษาความปลอดภัยมั่นคงไซเบอร์ พ.ศ.2562 และ พ.ร.บ.คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล พ.ศ.2562 เพื่อให้องค์กรที่เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะองค์กรที่อยู่ในกลุ่มโครงสร้างพื้นฐานสำคัญทางสารสนเทศ ประกอบด้วย กลุ่มความมั่นคงและบริการภาครัฐ, กลุ่มการเงิน, กลุ่มเทคโนโลยีสารสนเทศและโทรคมนาคม, กลุ่มการขนส่งและโลจิสติกส์, กลุ่มพลังงานและสาธารณูปโภค และกลุ่มสาธารณสุข ให้ความสำคัญต่อการจัดระบบรักษาความปลอดภัยทางไซเบอร์และการดูแลความปลอดภัยข้อมูล ซึ่งเป็นพื้นฐานสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจดิจิทัลของประเทศ

AIS Business จึงได้พัฒนาโซลูชั่นและบริการ AIS Cyber Secure เพื่อดูแลความปลอดภัยทางไซเบอร์ให้กับลูกค้าองค์กรโดยเฉพาะ ด้วยการเปิดศูนย์ปฏิบัติการด้านความปลอดภัยไซเบอร์ หรือ CSOC ขึ้น โดยร่วมมือกับ Trustwave บริษัทผู้เชี่ยวชาญด้านความปลอดภัยไซเบอร์ อันดับต้นของโลก พร้อมนำความเชี่ยวชาญด้าน Cyber Security ของเอไอเอสในการดูแลความปลอดภัยไซเบอร์ให้กับลูกค้าเอไอเอสทั้งฐาน ตลอดจนเครื่องมือและเทคโนโลยีที่ทันสมัยในการตรวจจับ แจ้งเตือน และป้องกันการโจมตีทางไซเบอร์ ตลอด 24 ชั่วโมง เพื่อให้ทุกองค์กรสามารถเดินหน้าทำงาน ทำธุรกิจ ได้อย่างมั่นใจ ไร้กังวลเรื่องภัยไซเบอร์

นอกจากนี้ กลุ่มบริการ AIS Cyber Secure ยังมีหลายหลายโซลูชันส์ที่พร้อมประยุกต์ เพื่อตอบโจทย์ความต้องการของแต่ละองค์กร ดังนี้

• Enterprise Mobility Management เครื่องมือช่วยบริหารจัดการการใช้งานบนมือถือให้เป็นไปตามนโยบายของบริษัท

• Network Firewall เครื่องมือ Firewall ที่เชื่อถือได้เพิ่มประสิทธิภาพให้กับธุรกิจ

• IT Log Management ศูนย์รวมการจัดเก็บข้อมูลการใช้อินเทอร์เน็ตตามกฎหมาย

• Vulnerability Assessment & Penetration Testing ค้นหาช่องโหว่และจุดอ่อนใน Network ขององค์กร พร้อมทำหน้าที่เสมือนเป็นแฮกเกอร์เพื่อวินิจฉัยช่องโหว่ที่อาจมีอยู่ เพื่อรักษาความปลอดภัยข้อมูลและป้องกันจากแฮกเกอร์

สำหรับลูกค้าองค์กร ภาคธุรกิจ และเอสเอ็มอี ที่สนใจใช้บริการ AIS Cyber Secure รวมถึงบริการอื่นๆ ของ AIS Business สามารถติดต่อได้ที่ทีมงานของ AIS ที่ดูแลลูกค้าองค์กร หรือที่เว็บไซต์ https://business.ais.co.th/solution/security.html