Home Blog Page 43

ปูนซิเมนต์ไทย กับโตโยต้าลิสซิ่ง ช่วยเหลือตัวเองได้ ไม่ขอเข้ากองทุนพยุงหุ้น

นายคำนูณ สิทธิสมาน สมาชิกวุฒิสภา โพสต์ผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัว Kamnoon Sidhisamarn ว่า “คำยืนยันจาก SCG และ TLT” ได้รับโทรศัพท์จากคุณประมนต์ สุธีวงศ์ เมื่อสักครู่นี้ คุยเรื่องข้อเสนอแนะหรือข้อสมมติที่ผมโพสต์เสนอไป 2 วันก่อนว่า ถ้าเป็นมหาเศรษฐีรายต้น ๆ ที่ได้รับจดหมายจากท่านนายกฯ จะเสนอตัวช่วยชาติเป็นปฐมด้วยการขอซื้อหุ้นกู้ที่บริษัทในเครือออกมา Rollover ก่อน “เป็นการส่วนตัว” ก่อนที่กองทุน BSF วงเงิน 4 แสนล้านบาท ธนาคารชาติตาม พระราชกำหนดจะเข้ามาช่วย

ท่านให้ความเห็นโดยสรุปว่า เชื่อว่าธนาคารชาติมีเจตนาดี ที่จะช่วยตั้งทำนบเป็นด่านสุดท้ายไว้ เพราะตลาดหุ้นกู้มีปัญหาทั่วโลก แต่ในทางปฏิบัติท่านเชื่อว่าบริษัทใหญ่ ๆ ในไทยจะพยายามช่วยตัวเองให้มากที่สุด ไม่ขอเข้าโครงการรับความช่วยเหลือจากกองทุน BSF ง่าย ๆ เพราะจะเป็นเครดิตของบริษัทเอง

ท่านยืนยันว่าได้รับทราบจากผู้บริหารระดับสูงสุดของบริษัทที่ท่านเกี่ยวข้องอยู่ 2 บริษัท คือ ปูนซิเมนต์ไทย (SCG) และโตโยต้า ลิสซิ่ง (TLT) ที่หุ้นกู้จะครบกำหนดในปี 2563 นี้เป็นอันดับ 2 (มูลค่า 25,000 ล้านบาท) และ 3 (มูลค่า 20,720 ล้านบาท) ตามข้อมูลที่ก.ล.ต.เปิดเผยทั่วไป และคุณนวพร เรืองสกุลรวมทั้งสื่อมวลชนนำมาเผยแพร่ (ตามภาพ) ว่า….

ทั้ง SCG และ TLT มีศักยภาพที่จะช่วยตัวเองได้ จะไม่ขอเข้าโครงการกองทุน BSF ของธนาคารชาติตามพระราชกำหนด

ผมก็ได้แต่เปล่งเสียงอนุโมทนาสาธุ และบอกว่าจะเป็นคุณูปการอย่างยิ่ง เพราะจะเป็นตัวอย่างที่ดียิ่งและเป็นการนำตลาด สุดท้ายจะช่วยเซฟเงินของชาติ 4 แสนล้านบาท ไว้ให้ได้มากที่สุด ท่านอนุญาตให้ผมเปิดเผยข้อมูลที่คุยกันนี้ต่อสาธารณะได้ครับ กราบขอบพระคุณครับ และขอบพระคุณ SCG และ TLT มา ณ ที่นี้

ธอส.ออกมาตราการพักเงินต้น และดบ.ให้ลูกค้าเอสเอ็มอี สินเชื่่อแฟลตและ Pre Finance

นาย ฉัตรชัย ศิริไล กรรมการผู้จัดการ ธนาคารอาคารสงเคราะห์ (ธอส.) กล่าวว่า คณะกรรมการธนาคารมีมติเมื่อวันที่ 24 เมษายน 2563 เห็นชอบให้จัดทำ มาตรการที่ 7 พักชำระเงินต้นและดอกเบี้ย ระยะเวลา 6 เดือน สำหรับลูกค้า SMEs ผู้ประกอบการแฟลต/อพาร์ทเม้นท์ และผู้ประกอบการพัฒนาโครงการที่อยู่อาศัย(Pre Finance) ที่มีวงเงินกู้ไม่เกิน 100 ล้านบาท(วงเงินสินเชื่อรวมทั้งกลุ่มธุรกิจของลูกค้าที่มีกับธนาคารไม่เกิน 100 ล้านบาท) มีสถานะบัญชีปกติ และทำนิติกรรมภายในวันที่ 22 เมษายน 2563 ภายหลังจากการพักชำระหนี้ให้กลับไปใช้อัตราดอกเบี้ยตามเงื่อนไขของสัญญาเดิมโดยไม่ถือว่าเป็นการผิดนัดชำระหนี้หรือเสียประวัติข้อมูลเครดิต เพื่อให้ผู้ประกอบการ SMEs มีเงินทุนและสภาพคล่องเพียงพอในการดำเนินธุรกิจและรักษาการจ้างงาน

ส่วนดอกเบี้ยที่พักชำระไว้ ธนาคารได้แบ่งเบาภาระค่าใช้จ่ายในการชำระให้แก่ลูกค้า แบ่งเป็น กรณีสินเชื่อแฟลต ให้พักชำระดอกเบี้ยได้อีก 12 เดือน จากนั้นให้ทยอยชำระดอกเบี้ยที่พักชำระไว้ภายใน 24 เดือน หรือ 36 เดือน ตามความสามารถในการชำระหนี้ของลูกหนี้ ส่วนกรณีสินเชื่อพัฒนาโครงการ (Pre Finance) ให้ชำระในช่วงท้ายของสัญญากู้เงิน ลงทะเบียนแจ้งความประสงค์เข้ามาตรการผ่านทาง www.ghbank.co.th ตั้งแต่วันที่ 27 เมษายน – 31 พฤษภาคม 2563

นอกจากนี้ สำหรับลูกค้าที่ลงทะเบียนแจ้งความประสงค์เข้า มาตรการที่ 5 พักชำระเงินต้นและดอกเบี้ยเป็นระยะเวลา 4 เดือน ซึ่งธนาคารจะยกดอกเบี้ยที่พักชำระให้ลูกค้าเมื่อสิ้นสุดระยะเวลากู้ตามสัญญา ซึ่งเป็นมาตรการที่มีลูกค้าลงทะเบียนมากที่สุดถึง 197,907 บัญชี วงเงินกู้ 180,595 ล้านบาท ล่าสุดธนาคารยังให้สิทธิ์ในการเลื่อนระยะเวลาชำระค่าเบี้ยต่ออายุกรมธรรม์ประกันอัคคีภัย ประจำปี 2563 ซึ่งจะครบกำหนดการคุ้มครองตามกรมธรรม์เดิมในวันที่ 30 เมษายน 2563 โดยเลื่อนการชำระจากเดิมระหว่างวันที่ 1-31 พฤษภาคม 2563 ไปเป็นระหว่างวันที่ 1 สิงหาคม – 15 พฤศจิกายน 2563 และลูกค้าจะยังคงได้รับความคุ้มครองต่อเนื่องในช่วงที่ธนาคารให้สิทธิ์เลื่อนระยะเวลาชำระค่าเบี้ยต่ออายุกรมธรรม์

ขณะเดียวกันธนาคารยังอำนวยความสะดวกให้กับลูกค้าที่เคยแจ้งความประสงค์เข้ามาตรการที่ 5 พร้อมกับกดยอมรับข้อตกลงของมาตรการไปแล้ว หากต้องการยกเลิกหรือเปลี่ยนกลับไปผ่อนชำระตามเงื่อนไขของสัญญาเงินกู้เดิมเนื่องจากรายได้ไม่ได้รับผลกระทบจากปัญหา COVID-19 ให้สามารถกดยกเลิกมาตรการที่ 5 ได้ด้วยตัวเองผ่าน Application : GHB ALL โดยไม่ต้องเดินทางไปที่สาขาภายในวันที่ 28 เมษายน 2563 เท่านั้น ทั้งนี้ เมื่อกดยกเลิกมาตรการที่ 5 แล้วจะไม่สามารถเข้ามาตรการอื่น ๆ ของโครงการ ธอส. ช่วยคนไทย ร่วมสร้างชาติ ได้ในภายหลัง ส่วนลูกค้าที่ลงทะเบียนแจ้งความประสงค์เข้ามาตรการที่ 5 แล้ว ต้องกดยอมรับข้อตกลงของมาตรการผ่าน Application : GHB ALL จึงถือเป็นการลงทะเบียนเข้ามาตรการโดยสมบูรณ์ และหลังจากปฏิบัติตามข้อตกลงของมาตรการแล้ว ธนาคารจะยกดอกเบี้ยที่พักชำระไว้ทั้ง 4 เดือน ในงวดสุดท้ายของสัญญากู้ต่อไป สอบถามรายละเอียดหรือติดตามข้อมูลข่าวสารของธนาคารเพิ่มเติมได้ที่ศูนย์ลูกค้าสัมพันธ์ (Call Center) โทร 0-2645-9000 Facebook Fanpage ธนาคารอาคารสงเคราะห์ และ www.ghbank.co.th

ซีพีเอฟ เปิดตัวอาหารกล่อง ราคาโดนใจ 20 บาท ลดภาระค่าครองชีพ

บริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) หรือ ซีพีเอฟ เปิดตัวแคมเปญ “ลดจริง..ไม่ทิ้งกัน ช่วยค่าครองชีพ” ในร้านซีพีเฟรชมาร์ท ลดราคาข้าวกล่องเหลือ กล่องละ 20 บาท ช่วยแบ่งเบาภาระคนไทยช่วงวิกฤตโควิด19 ให้เข้าถึงอาหารคุณภาพดีในราคาประหยัดทั่วไทย

นายประสิทธิ์ บุญดวงประเสริฐ ประธานคณะผู้บริหาร ซีพีเอฟ กล่าวว่า บริษัทร่วมมือกับกระทรวงพาณิชย์จัดกิจกรรมลดราคาพิเศษอาหารข้าวกล่องหลายเมนู เช่น ข้าวอกไก่ซอสจิ้มแจ่ว ข้าวผัดไก่ย่างซอสเกาหลี ข้าวอกไก่ย่างซอสเกาหลี ข้าวไก่สไปซี่ ข้าวตับกระเทียม และข้าวไข่เจียว จำหน่าย​ในราคา ​20 ​บาท​ เป็นอาหารคุณภาพ​มาตรฐาน​ส่งออก​ที่บริษัทผลิตขึ้นมาเป็นพิเศษสำหรับคนไทยให้ได้อาหารคุณภาพ​ดี​ อร่อยและปลอดภัยในราคาพิเศษสุด​ เพื่อช่วยลดค่าครองชีพของประชาขนในช่วงโควิด​19 จำหน่ายใน ร้านซีพีเฟรชมาร์ท 147 สาขาทั่วกรุงเทพมหานครและภาคกลาง

“เราคัดเลือกสินค้าเป็นพิเศษ​ และข้าวกล่องหลายเมนูสามารถอุ่นร้อน​และทานได้ทันที​ จำนวน​1 ล้าน​กล่อง ​เพื่อช่วยลดภาระค่าครองชีพ​คนไทย”

นอกจากนี้​ ผู้​บริโภคยังจะได้รับส่วนลดเพิ่มเติมอีก​5 บาท​ เมื่อซื้อครบ​ 5 กล่อง​และจ่ายเงินด้วย​ True​Wallet​ เพื่อเพิ่มความปลอดภัย​ลดสัมผัส​จากการจ่ายเงินสด

ซีพีเอฟ​ ยังได้คัดเลือกสินค้าอาหารเป็นพิเศษ​โดยเน้นอาหารที่เป็น “ครัวของบ้าน” มาจำหน่ายในราคาพิเศษ ที่ร้าน​ซีพี​ เฟรชมาร์ท ​3​50​ สาขาทั่วประเทศ

ทั้งนี้ ซีพีเอฟ ได้ดำเนินการอย่างต่อเนื่องในการส่งมอบอาหารคุณภาพดีและปลอดภัยภายใต้ “โครงการซีพีเอฟ ส่งอาหารจากใจ ร่วมต้านภัยโควิด19” ให้กับโรงพยาบาลของรัฐแล้ว 105 แห่ง ตลอดจนผู้เฝ้าระวังที่กลับจากประเทศเสี่ยงอีก 20,000 คน และยังคงเดินหน้า “โครงการซีพีเอฟ ส่งอาหารจากใจให้โรงพยาบาล ครอบครัวแพทย์-พยาบาล” ซึ่งกำลังทยอยส่งมอบอาหารในขณะนี้จำนวน 30,000 คน

เงาหุ้น : BTSGIF–EA

ดัชนีหุ้นไทยวันที่ 24 เม.ย.63 ปิดที่ 1,258.78 จุด ลบ 13.75 จุด มีมูลค่าการซื้อขาย 68,704.56 ล้านบาท ต่างชาติขายสุทธิ 3,156.04 ล้านบาท

หุ้นมูลค่าซื้อขายสูงสุด BAM ปิด 23.40 บาท ลบ 0.60 บาท, PTT ปิด 34 บาท บวก 0.25 บาท, PTTEP ปิด 76.25 บาท บวก 0.25 บาท, GULF ปิด 38 บาท ลบ 1.25 บาท, GPSC ปิด 69.25 บาท ลบ 3 บาท

ตลาดปรับตัวลงทิศทางเดียวกับตลาดหุ้นอื่นในภูมิภาค หลังมีข่าวยา “Remdesivir” ซึ่งเป็นยาต้าน COVID-19 ประสบผลล้มเหลวระหว่างการทดลองทางคลินิก

บล.เอเซียพลัสระบุว่า การเดินทางของ SET Index ที่ต่อเนื่องจากจุดต่ำสุดช่วงกลางเดือน มี.ค.63 จนถึงปัจจุบันขึ้นมากว่า 303 จุด หรือ 31% แต่จากนี้ฝ่ายวิจัยยังเชื่อว่า SET Index มีความเสี่ยงที่จะปรับฐานลงในระยะสั้น เนื่องจาก SET Index เตรียมทดสอบแนวต้านสำคัญทั้งในมุมมองทางปัจจัยพื้นฐาน และเทคนิค ดังนี้

หากพิจารณาจาก Valuation ทางพื้นฐาน ซึ่งกำหนดบนคาดการณ์ EPS ของตลาดปี 63 ที่ 72.62 บาท/หุ้น และให้ Market Earning Yield Gap ที่ 5% จะให้ค่า PER เป้าหมายที่ 17.4 เท่า คิดเป็น SET Index เป้าหมายที่ 1,264 จุด เท่ากับที่ระดับ SET Index ปัจจุบันไม่เหลือ Upside ทางพื้นฐานแล้ว

มุมมองปัจจัยเทคนิค ยังมีจุดเตือนที่จะเป็นแนวต้านในระยะสั้นอยู่ เริ่มจากแนวต้านบริเวณ 1265+/- จุด รวมถึงแนวต้านทางจิตวิทยาที่ 1,300 จุด

รวมถึงยังต้องเตรียมรับมือกับตัวเลขผลประกอบการไตรมาสแรกของปี ซึ่งเป็นความเสี่ยง ที่อาจเกิด Downside ทำให้ต้องปรับลดประมาณการ ทำให้ระดับดัชนีเป้าหมายปรับลดลงอีก รวมถึงยังต้องรอติดตามพัฒนาการการผ่อนคลายกิจกรรมทางเศรษฐกิจว่าจะมากอย่างที่คาดหรือไม่

กลยุทธ์การลงทุนเตรียมความพร้อมรับมือกับความผันผวนของตลาด โดยการเลือกลงทุนหุ้น Defensive ที่ราคายัง Laggard อย่าง BTSGIF–EA ซึ่งราคาหุ้นทั้ง 2 ยัง Laggard กว่ากลุ่ม และตลาดอยู่มาก!!

ที่มา คอลัมน์ เงาหุ้น อินเด็กซ์ 51 หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ

ออมสิน ตีกรอบปล่อยซอฟท์โลน 8 หมื่่นล้านบาท เสริมสภาพคล่องกลุ่มนอนแบงก์ ให้ผ่อนปรนลูกหนี้รายย่อย

รายงานข่าว เปิดเผยว่า วันนี้ (24 เม.ย.) ได้มีการประชุมชี้แจง กรอบหลักเกณฑ์ ในการปล่อยสินเชื่อ “โครงการสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ (Soft Loan) สำหรับผู้ประกอบการ Non-Bank ที่ได้รับผลกระทบจาก COVID-19” ระหว่างธนาคารออมสิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) ร่วมกับ ผู้ประกอบธุรกิจการเงินที่ไม่ใช่สถาบันการเงิน (Non-Bank)

ดร.ชาติชาย พยุหนาวีชัย ผู้อำนวยการธนาคารออมสิน เปิดเผยว่า ตามที่คณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติเห็นชอบ “โครงการสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำเพื่อช่วยเหลือผู้ประกอบการที่ได้รับผลกระทบทั้งทางตรงและทางอ้อมจากการระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนา (COVID-19)” เมื่อวันที่ 10 มีนาคม 2563 โดยกระทรวงการคลังได้มอบหมายให้ธนาคารออมสินเร่งดำเนินการเป็นผู้สนับสนุนเงินทุนดอกเบี้ยต่ำวงเงินโครงการรวม 150,000 ล้านบาท เพื่อให้สถาบันการเงินปล่อยสินเชื่อแก่ผู้ประกอบการที่ได้รับผลกระทบ ภายในวงเงิน 135,000 ล้านบาท และให้ธนาคารออมสินสามารถให้สินเชื่อแก่ผู้ประกอบการโดยตรงได้ในวงเงิน 15,000 ล้านบาท สำหรับเป็นเงินทุนสำรองสำหรับเสริมสภาพคล่องและลงทุน รวมถึงเพื่อแบ่งเบาภาระของผู้ประกอบการในช่วงที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของเชื้อCOVID-19

อย่างไรก็ตาม สถานการณ์การระบาดของเชื้อCOVID-19 ยังคงส่งผลกระทบต่อประชาชนและเศรษฐกิจในภาพรวมของประเทศอย่างวงกว้างต่อเนื่อง ดังนั้น ครม.จึงมีมติในการประชุมเมื่อวันที่ 7 เมษายน 2563 เห็นชอบให้ธนาคารออมสินช่วยเหลือผู้ประกอบธุรกิจการเงินที่ไม่ใช่สถาบันการเงิน (Non-Bank) ที่ให้บริการให้สินเชื่อแก่ลูกหนี้รายย่อย ได้แก่ สินเชี่อบัตรเครดิต สินเชื่อส่วนบุคคล ลีสซิ่ง เช่าซื้อ เช่าซื้อรถจักรยานยนต์ และสินเชื่อทะเบียนรถ เป็นการเร่งด่วน เพื่อผู้ประกอบการจะได้มีแหล่งเงินทุนในอัตราดอกเบี้ยต่ำไปสนับสนุนการผ่อนปรนการชำระหนี้ของลูกหนี้รายย่อยตามมาตรการของธปท. โดยที่มติครม. ลดวงเงินที่จะจัดสรรให้สถาบันการเงิน จาก 135,000 ล้านบาท เป็น 55,000 ล้านบาท และให้ธนาคารออมสินจัดสรรวงเงินให้สินเชื่อแก่ Non-Bank วงเงิน 80,000 ล้านบาท ในอัตราดอกเบี้ยถูก เพื่อช่วยเสริมสภาพคล่อง และให้สามารถช่วยเหลือลูกหนี้รายย่อย ให้ได้รับการผ่อนปรนเงื่อนไขการชำระหนี้

ทั้งนี้ ธนาคารได้กำหนดวงเงินให้กู้ตามความสามารถและความจำเป็นของกิจการ รายละไม่เกิน 10% ของพอร์ตสินเชื่อทั้งหมด ณ สิ้นเดือนก่อนการอนุมัติ หรือตามงบการเงิน ปี 2562 แต่ต้องไม่เกินยอดคงค้างของลูกหนี้ที่มีคุณภาพดีของบริษัท วงเงินกู้สูงสุดไม่เกินรายละ 5,000 ล้านบาท อัตราดอกเบี้ยเงินกู้ เท่ากับ 2% ต่อปี ระยะเวลาการกู้ 2 ปี โดยผู้ประกอบการที่สนใจสามารถยื่นขอสินเชื่อได้ ตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป จนถึงวันที่ 30 ธันวาคม 2563 หรือจนกว่าวงเงินโครงการจะหมด

ธ.ก.ส. พักเงินต้นและดอกเบี้ยให้ SMEs เกษตร ออกสินเชื่อดบ.ต่ำ 2% ปลอดดบ. 6 เดือนแรก

นายอภิรมย์ สุขประเสริฐ ผู้จัดการธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) เปิดเผยว่า จากมติ คณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 7 เมษายน 2563 เห็นชอบให้ตราพระราชกำหนดการให้ความช่วยเหลือทางการเงินแก่วิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา และมีผลบังคับ เมื่อวันที่ 19 เมษายน 2563 ที่ผ่านมา โดยให้ธนาคารแห่งประเทศไทยดำเนินการมาตรการเลื่อนกำหนดการชำระหนี้ และการสนับสนุนสินเชื่อใหม่ (Soft Loan) เพื่อช่วยเหลือผู้ประกอบการที่ได้รับผลกระทบทั้งทางตรงและทางอ้อมจากการระบาดของเชื้อไวรัส COVID – 19 และปัญหาอื่น ๆ ให้มีเงินทุนหมุนเวียน เสริมสภาพคล่องในการดำเนินธุรกิจ ช่วยรักษาระดับการจ้างงาน และเป็นแรงขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ โดย ธ.ก.ส. พร้อมให้ความช่วยเหลือผ่านมาตรการ ดังนี้

1) มาตรการพักชำระหนี้ธุรกิจ SMEs โดยพักชำระหนี้ต้นเงินและดอกเบี้ย 6 เดือน ตั้งแต่เมษายน ถึง กันยายน 2563 แบบอัตโนมัติทุกราย ให้กับลูกค้า SMEs และ SMEs เกษตร ของ ธ.ก.ส. ได้แก่ เกษตรกร บุคคล ผู้ประกอบการ (นิติบุคคล) กลุ่มเกษตรกร วิสาหกิจชุมชน กองทุนหมู่บ้านหรือชุมชน และสหกรณ์ภาคการเกษตร ที่ประกอบธุรกิจในกระบวนการรวบรวม การแปรรูป การตลาด และการบริการที่ประกอบธุรกิจในประเทศไทย มีสถานะหนี้ไม่เป็น NPLs ณ วันที่ 31 ธันวาคม 2562 และมีวงเงินกู้รวมไม่เกิน 100 ล้านบาท ซึ่งผู้ค้ำประกันไม่ต้องลงนามสัญญา อีกทั้งลูกหนี้ที่ได้รับสิทธิ์จะไม่ถูกรายงานเครดิตบูโรเป็น NPLs ทั้งนี้ หากลูกหนี้ประสงค์ชำระค่างวดในช่วงของการพักชำระหนี้ ไม่ถือว่าลูกหนี้ สละสิทธิ์ในการร่วมโครงการ โดย ธ.ก.ส. ยังคืนดอกเบี้ยให้ร้อยละ 10 ของเงินที่ส่งชำระ (Cash Back)

2) มาตรการสนับสนุนสินเชื่อธุรกิจ SMEs เพื่อเสริมสภาพคล่องให้แก่ผู้ประกอบการที่ประสบปัญหาสภาพคล่อง ในการดำเนินธุรกิจ ในอัตราดอกเบี้ยร้อยละ 2 ต่อปี เป็นระยะเวลา 2 ปี ปลอดชำระคืนดอกเบี้ยในช่วง 6 เดือนแรก วงเงินกู้สูงสุดไม่เกินร้อยละ 20 ของยอดหนี้คงค้าง ณ วันที่ 31 ธันวาคม 2562 และมีวงเงินกู้รวมไม่เกิน 500 ล้านบาท โดยไม่เรียกหลักประกันเพิ่ม ทั้งนี้ สินเชื่อธุรกิจทุกประเภทสามารถใช้บริการตามมาตรการดังกล่าว ยกเว้นวงเงินหนังสือ ค้ำประกัน วงเงิน A – Cash บัตรเกษตรสุขใจ บุคลากรภาครัฐ สินเชื่อเพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตและสินเชื่อรายย่อยอื่น ๆ โดยสามารถติดต่อสอบถามเกี่ยวกับมาตรการสินเชื่อได้ที่ ธ.ก.ส. สาขาต้นสังกัด หรือศูนย์ธุรกิจ ธ.ก.ส. ประจำจังหวัด ใกล้บ้านท่าน

ติดต่อสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ Call Center 02 555 0555 นายอภิรมย์กล่าว

ก.ล.ต. ติดตามตราสารหนี้กลุ่มเสี่ยง บรรเทาผลกระทบโควิด-19

ตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ได้ติดตามสถานการณ์ของตราสารหนี้กลุ่มเสี่ยง (unrated และ non-investment grade) มาอย่างต่อเนื่อง โดยได้ประสานงานกับบริษัทผู้ออกตราสาร บริษัทหลักทรัพย์ ธนาคารพาณิชย์ และผู้แทนผู้ถือหุ้นกู้อย่างใกล้ชิด รวมทั้งพิจารณาแนวทางเพื่อลดและจำกัดผลกระทบในวงกว้างเท่าที่จะเป็นไปได้

โดยมาตรการที่ ก.ล.ต. ดำเนินการที่ผ่านมา สรุปได้ ดังนี้

1.ติดตามสถานการณ์และผู้ออกตราสารอย่างใกล้ชิด

2. ก.ล.ต. ตั้ง #ศูนย์ประสานงานหุ้นกู้ : ติดต่อสอบถามและให้คำแนะนำผู้ออกตราสาร กรณีคาดว่าจะไม่สามารถ rollover ได้

3. จัดตั้ง คณะกรรมการกำกับและพัฒนาตลาดตราสารหนี้ : ให้คำแนะนำเกี่ยวกับการกำกับและพัฒนาตลาดตราสารหนี้ ยกระดับ ecosystem ของตลาดตราสารหนี้ และช่วยหาแนวทางแก้ปัญหาเป็นรายกรณีหากจำเป็น

4. แนะนำ #ผู้ออกตราสาร #ตัวกลางในการขาย #ผู้แทนผู้ถือหุ้นกู้ : แนวทางการจัดประชุมผู้ถือหุ้นกู้ การมอบฉันทะ การจัดประชุมแบบ e-meeting กรณีผู้ออกต้องการจัดประชุมผู้ถือหุ้นกู้เพื่อแก้ไขข้อกำหนดสิทธิในเรื่องต่าง ๆ

5. กำชับผู้แทนผู้ถือหุ้นกู้ให้ทำหน้าที่ #รักษาผลประโยชน์ของผู้ถือหุ้นกู้

ชงแผนฟื้นฟูการบินไทยให้คนร.พิจารณา 29 เม.ย.นี้

รายงานข่าว เปิดเผยว่า เช้าวันนี้ (24 เม.ย.) มีการประชุมติดตามแผนฟื้นฟูบริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) ที่กระทรวงคมนาคม โดยมีนายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธานการประชุม พร้อมกับนายอุตตม สาวนายน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม นายถาวร เสนเนียม รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม และนายจักรกฤศฏิ์ พาราพันธกุล รองปลัดกระทรวงการคลัง ในฐานะรักษาการกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัทการบินไทย

ภายหลังการประชุม นายศักดิ์สยาม รมว.กระทรวงคมนาคม เปิดเผยว่า รายละเอียดในแผนฟื้นฟูยังไม่แล้วเสร็จ และยังไม่สามารถเปิดเผยได้ คาดว่าจะแล้วเสร็จทันต่อการนำเสนอเข้าที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (คนร.) ที่มี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีเป็นประธาน พิจารณาได้ในวันที่ 29 เม.ย.นี้ อย่างไรก็ดี เชื่อว่าแผนฟื้นฟูดังกล่าวจะช่วยทำให้อุตสาหกรรมการบินของไทยกลับมาเข้มแข็งได้

การบินไทยจัดให้ อยู่บ้านก็ได้ไมล์สะสม

การบินไทย ร่วมกับ วันเดอร์แมน ธอมสัน เปิดแคมเปญ “เก็บตัว เก็บไมล์ ช่วยชาติกับการบินไทย” มอบไมล์สะสมรอยัล ออร์คิด พลัส 1 ไมล์ ทุก 4 ชั่วโมงที่อยู่บ้าน ผ่านแอปพลิเคชัน “THAI Stay Home Miles Exchange” เพื่อไว้ใช้เดินทางท่องเที่ยวอีกครั้งหลังจากสถานการณ์โรคระบาดคลี่คลาย หรือเก็บไว้แลกโรงแรมที่พักหรือของรางวัลอื่นๆ ตามเงื่อนไข

เก็บสะสมไมล์ระหว่างเก็บตัวอยู่บ้านได้ง่ายๆ ใน 3 ขั้นตอน ดังนี้

1. ดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน THAI Stay Home Miles Exchange
• ระบบ Android: ดาวน์โหลดที่ bit.ly/THAIStayHome และร่วมแคมเปญได้ตั้งแต่วันที่ 24 เมษายน 2563 – 23 พฤษภาคม 2563
• ระบบ IOS: ดาวน์โหลดที่ App Store และร่วมแคมเปญได้ตั้งแต่วันที่ 27 เมษายน 2563 – 26 พฤษภาคม 2563

2. ค้นหาตำแหน่งบ้านหรือที่พักอาศัย (หากระบุตำแหน่งแล้วจะไม่สามารถเปลี่ยนแปลงได้) จากนั้นแอปพลิเคชันจะเริ่มเก็บข้อมูล หากผู้ใช้อยู่ในสถานที่ดังกล่าว หรือเคลื่อนที่ในรัศมีไม่เกิน 100 เมตร ระบบจะสะสมไมล์อย่างต่อเนื่อง แต่หากออกจากตำแหน่งดังกล่าว ระบบจะแจ้งเตือนและหยุดสะสมไมล์

3. หลังสิ้นสุดแคมเปญ (หรือเมื่อจำนวนไมล์สะสมในแคมเปญ รวม 500,000 ไมล์สำหรับแต่ละระบบปฏิบัติการ หมดลง) ระบบจะโอนไมล์สะสมรอยัล ออร์คิด พลัส เข้าบัญชีสมาชิกภายในวันที่ 10 กรกฎาคม 2563 (หากท่านยังไม่มีบัญชีสมาชิกรอยัล ออร์คิด พลัส

รายละเอียดเพิ่มเติม ?? bit.ly/ROP-THAISHME

สงวนสิทธิ์การเข้าร่วมแคมเปญเฉพาะสมาชิกรอยัล ออร์คิด พลัส ที่พำนักอยู่ในประเทศไทยเท่านั้น 
สมัครสมาชิก ?? bit.ly/ROP-Enroll

บีทีเอสกรุ๊ป มอบกรมธรรม์ประกันชีวิตให้กับบุคลากรทางการแพทย์ และอสม.

รายงานข่าว เปิดเผยว่า วันที่ 24 เม.ย. ที่ทำเนียบรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้เป็นประธานส่งมอบกรมธรรม์ประกันชีวิตให้กับบุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุข พร้อมมอบกองทุนสนับสนุนและเยียวยาให้กับ อสม. โดยมีนายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เข้าร่วมด้วย

โดยเป็นความร่วมมือระหว่างกระทรวงสาธารณสุขและภาคเอกชน คือบริษัท บีทีเอส กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ จำกัด (มหาชน) โดย นายคีรี กาญจนพาสน์ ประธานกรรมการ ได้มอบ

  • 1.กรมธรรม์ประกันชีวิตสำหรับแพทย์และพยาบาล จำนวน 50,000,000 บาท
  • 2.กรมธรรม์ประกันชีวิตสำหรับผู้ช่วยพยาบาล เทคนิคการแพทย์และรังสีเทคนิค จำนวน 10,000,000 บาท
  • 3.กองทุนสนับสนุนและเยียวยาให้แก่อสม. จำนวนเงิน 10,000,000 บาท

ทั้งนี้ เพื่อเป็นการสร้างขวัญ กำลังใจ และตอบแทนการกระทำความดีของบุคลากรสาธารณสุขทั้งระบบ จำนวน 400,000 คน และ อสม. จำนวน 1,040,000 คน ที่เป็นกำลังหลักของประเทศ ในการรับมือกับการระบาดของโรคโควิด-19 อย่างต่อเนื่อง โดยปฏิบัติงานอย่างเข้มแข็งและเสียสละ โดยนายกรัฐมนตรีได้กล่าว ชื่นชมและขอบคุณ บุคลากรทุกภาคส่วนที่ได้ เสียสละ อุทิศตน ในการเฝ้าระวังคัดกรองโควิด19 ทำให้สถานการณ์ในประทศดีขึ้น อย่างไรก็ตามทางรัฐบาลก็ไม่ได้ประมาท ได้มีการเตรียมการวางแผนร่วมกันกับทั้งภาคเอกชน สังคม อย่างต่อเนื่อง พร้อมเน้นย้ำ สุขภาพ สำคัญที่สุด รองลงมาคือเรื่องเศรษฐกิจ

และขอบคุณที่บริษัท BTS ได้เข้ามาช่วยเหลือบุคคลากรสาธารณสุข โดย มอบกรรมธรรม์ เงินช่วยเหลือเยียวยา และหวังเป็นอย่างยิ่งว่าทางภาคเอกชนจะเข้ามาร่วมมือในการเสนอแนวทางในการแก้ไขปัญหาทางเศรษฐกิจต่อไป