Home Blog Page 45

กลุ่มศรีสวัสดิ์ตอบรับจม.นายกฯ เสนอตัวแก้ปัญหาหนี้นอกระบบ พร้อมช่วยแก้วิกฤติประเทศ

กลุ่มศรีสวัสดิ์ พร้อมมีส่วนร่วมให้ประเทศผ่านพ้นโควิด-19 หลังได้รับหนังสือเชิญจากนายกรัฐมนตรี เสนอช่วยแก้ปัญหาหนี้นอกระบบ ใช้ 4 พันสาขาทั่วประเทศ เป็นคลินิกแก้หนี้นอกระบบ

ธิดา แก้วบุตตา

ธิดา แก้วบุตตา ตัวแทนกลุ่มบริษัทศรีสวัสดิ์ คอร์ปอเรชั่น จำกัด(มหาชน) หรือ SAWAD เปิดเผยว่า นายฉัตรชัย แก้วบุตตา ประธานเจ้าหน้าที่บริหารบริษัทและกลุ่มศรีสวัสดิ์ เป็นหนึ่งในบุคคล ที่ ได้รับหนังสือเชิญจากท่านนายกรัฐมนตรี พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ให้เข้าไปมีส่วนร่วมในการช่วยเหลือประเทศให้สามารถผ่านพ้นวิกฤติการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 กลุ่มศรีสวัสดิ์ และนายฉัตรชัย พร้อมที่จะช่วยเหลือให้ประเทศสามารถฝ่าวิกฤติในครั้งนี้

ทางกลุ่มศรีสวัสดิ์เสนอเข้าไปมีส่วนร่วมช่วยเหลือแก้ไขปัญหาหนี้นอกระบบ โดยใช้สาขาของศรีสวัสดิ์ กว่า 4 พันสาขาทั่วประเทศ เป็นคลินิกแก้หนี้นอกระบบ ซึ่งทางกลุ่มศรีสวัสดิ์มีความพร้อมด้านบุคลากรและการบริหารจัดการ เชื่อว่ามีประชาชนกลุ่มที่ได้รับผลกระทบจากการหยุดงานหรือเลิกจ้างในช่วงนี้เป็นจำนวนมากที่กำลังเผชิญกับปัญหาหนี้นอกระบบ ดังนั้น จึงเห็นว่าการเข้าไปช่วยแก้ปัญหาหนี้นอกระบบ จะเป็นอีกทางหนึ่งที่ช่วยแบ่งเบาภาระภาครัฐและดูแลประชาชนในช่วงวิกฤติ และเป็นผลดีในระยะยาวต่อเศรษฐกิจต่อไป

ทั้งนี้ กลุ่มศรีสวัสดิ์กำลังจัดทำแผนการทำงานเต็มรูปแบบเพื่อให้การร่วมมือกับรัฐบาลแก้ปัญหาในครั้งนี้สำเร็จด้วยดี เพื่อประโยชน์ของประเทศต่อไปในระยะยาว

EIC มองแรงงานน่าเป็นห่วง โควิด-19ทำคนตกงานเป็นประวัติการณ์ กระทบภาคครัวเรือน

อีไอซี หรือ Economic Intelligence Center (EIC) หน่วยงานกลยุทธ์ของธนาคารไทยพาณิชย์ มอง เศรษฐกิจไทยกำลังอยู่ในสภาวะวิกฤติที่ยังไม่รู้จุดจบแน่ชัด จากผลของการแพร่ระบาดของ Covid-19 ซึ่งส่งผลกระทบในเกือบทุกสาขาธุรกิจ โดยมีความรุนแรงเป็นพิเศษในส่วนที่เกี่ยวข้องกับภาคการท่องเที่ยว วิกฤติดังกล่าวเป็นความเสี่ยงต่อตลาดแรงงานซึ่งมีสัญญาณความอ่อนแอมาตั้งแต่ในช่วงก่อนหน้า โดยกลุ่มแรงงานที่มีความเสี่ยงสูงคือกลุ่มลูกจ้างชั่วคราว  ผู้ประกอบอาชีพอิสระ และลูกจ้าง SMEs ซึ่งถือเป็นคนส่วนมากถึง 62% ของกำลังแรงงานไทย และมีความอ่อนไหวสูงต่อสภาวะเศรษฐกิจ

EIC ประเมินว่า จำนวนผู้ว่างงานจะเพิ่มขึ้นสูงถึงราว 3-5 ล้านคน ถือเป็นระดับที่สูงกว่าทุกวิกฤติการณ์ในอดีตของไทย ทั้งนี้เพราะผลกระทบครั้งนี้กินวงกว้างกว่าและมีการหยุดชะงักฉับพลัน (sudden stop) ของหลายกิจกรรมทางเศรษฐกิจ ขณะที่ภาคเกษตรอาจไม่สามารถทำหน้าที่ดูดซับคนตกงานจากภาคอื่น ๆ ได้เหมือนในอดีตจากปัญหาภัยแล้ง 

EIC มองว่า จะมีแรงงานอีกจำนวนมากที่แม้จะไม่ตกงาน แต่จำนวนชั่วโมงทำงานและรายได้จะลดลงอย่างมากหรือกระทั่งไม่มีรายได้เลยในบางช่วง ทั้งนี้คาดว่าการฟื้นตัวของตลาดแรงงานจะเป็นไปอย่างช้า ๆ ตามเศรษฐกิจที่คาดว่าจะฟื้นตัวแบบ U-shaped และผลจาก Covid-19 ที่จะยังมีอยู่ตราบใดที่ยังไม่มียารักษาและวัคซีน ความเสี่ยงในตลาดแรงงานมีแนวโน้มส่งผลต่อเนื่องไปยังคุณภาพชีวิตของภาคครัวเรือนที่มีความเปราะบางอยู่แล้วเป็นทุนเดิม โดยครัวเรือนไทยประมาณ 60% มีสินทรัพย์ทางการเงินไม่เพียงพอใช้จ่ายเกิน 3 เดือน

เงาหุ้น : ซื้อหุ้นอุปโภคบริโภค

ดัชนีหุ้นไทยวันที่  21 เม.ย. 63  ปิดที่ 1,252.92 จุด  ลดลง  13.48 จุด มีมูลค่าซื้อขาย 58,676.75 ล้านบาท     ต่างชาติขายสุทธิ 6,103.20 ล้านบาท

หุ้นมูลค่าซื้อขายสูงสุด PTT ปิด 34  บาท ลบ 1.25 บาท,GULF ปิด  36.50 บาท  บวก  0.50 บาท, AOT ปิด 60.50 บาท ลบ 1.50 บาท,CPALL ปิด  65.50 บาท ลบ 0.50 บาท  และ PTTEP ปิด  76.25 บาท ลบ 2.75 บาท 

หุ้นไทยย่อตัวลงตามตลาดหุ้นต่างประเทศ หลังราคาน้ำมันดิ่งลงอย่างรุนแรง กดหุ้นกลุ่มพลังงาน ขณะที่มีแรงเทขายหุ้นกลุ่มแบงก์ผสมโรงกดดันตลาด หลังมองทิศทางผลประกอบการแบงก์ไม่ดีนัก

ครม. มีมติเห็นชอบระเบียบในการจัดหาเงินและตั้งคณะกรรมการตาม พ.ร.ก. กู้เงิน 1 ล้านล้านบาท และเห็นชอบ พ.ร.ก. ของ ธปท. ทั้ง 2 ฉบับ ขณะที่สถานการณ์ COVID-19 ในประเทศดีขึ้นต่อเนื่อง ทำให้มีโอกาสผ่อนปรนมาตรการ Lockdown แต่ยังไม่ปลด Lockdown ทั้งหมด และยังไม่มีกำหนดเวลาที่ชัดเจน โดยหากภาคส่วนไหนต้องการเปิด ต้องเสนอมาตรการป้องกันให้พิจารณาเป็นรายกรณี

ขณะที่ ครม. เห็นชอบขยายวงเงินเยียว 5,000 บาท/คน/เดือน จาก 9 ล้านคน เป็น 14 ล้านคน โดยกำหนดกรอบเวลา 3 เดือน คิดเป็นวงเงิน 2.1 แสนล้านบาท บล.หยวนต้า(ประเทศไทย)มองเป็น Sentiment เชิงบวกต่อกลุ่มสินค้าอุปโภคบริโภค  หุ้นเด่น CPF- CPALL- BJC-TACC-CBG- ADVANC และDTAC 

นอกจากนี้ยังได้  Update หุ้น STA  พบว่า ล่าสุดออเดอร์ถุงมือยางแน่นไปถึงเดือน ก.พ. 64 แล้ว ด้วยราคาขายที่เพิ่มขึ้น YoY อย่างมีนัยสำคัญ และยังได้ประโยชน์จากบาทอ่อน เพราะส่งออก 90%  แนะนำซื้อทางเทคนิคมีแนวต้านที่ 12.50 บาท หากผ่านไปได้แนวถัดไป 13.00 บาท

ส่วนประเด็นที่ เยอรมัน เดินหน้าทยอยปลด lockdown เพิ่มเติม หลังอนุญาตให้ร้านค้าปลีกขนาดเล็ก, ผู้ผลิตรถยนต์, ร้านจักรยาน, และร้านหนังสือเปิดทำการไปแล้ว ส่วนโรงเรียนจะเริ่มเปิด 4 พ.ค. 63 แต่ห้างค้าปลีกขนาดใหญ่ โรงหนัง และร้านอาหารยังปิดทำการ  ซึ่งเยอรมันถือเป็นประเทศที่คุม COVID-19 ได้ดีสุดในยุโรป 

การกลับมาเปิดกิจกรรมทางเศรษฐกิจของเยอรมัน เป็น Sentiment เชิงบวกต่อกลุ่มอิเล็กทรอนิกส์ DELTA-KCE !!

ที่มา คอลัมน์ เงาหุ้น โดย อินเด็กซ์51 นสพ.ไทยรัฐ

แอลกอฮอล์ทางการแพทย์ กับ แก๊สโซฮอล์ แอลกอฮอล์เหมือนกัน แต่คุณสมบัติไม่เหมือนกัน

ความแตกต่าง ระหว่าง แอลกอฮอล์ที่ผสมในน้ำมันเชื้อเพลิง และ แอลกอฮอล์ทำความสะอาดมือ อย่างที่ทราบกันนั้น มีคุณสมบัติ สารประกอบ และการนำไปใช้ประโยชน์แตกต่างกัน ไม่สามารถนำมาใช้แทนกันได้ รวมไปถึงต้นทุนในการผลิตไม่เท่ากันด้วย สามารถนำมาเปรียบเทียบกันได้ ดังนี้

สำหรับแอลกอฮอล์ที่นำไปใช้สำหรับล้างมือป้องกันเชื้อไวรัสโควิด-19 จะมีความเข้มข้น 70-90% โดยปริมาตร มีน้ำเป็นส่วนผสม 10-30% แล้วแต่สูตร เพื่อให้เจือจางไม่ระคายผิว และมีระยะเวลาการระเหยที่ไม่เร็วเกินไป มีประสิทธิภาพ ในการฆ่าเชื้อโรค โดยต้องผ่านกระบวนการกลั่นหลายขั้นตอนเพื่อดึงเอาสิ่งที่ปนเปื้อนอยู่ออก เพื่อให้ได้ค่าความบริสุทธิ์ ที่สูงเพียงพอสำหรับมาตรฐานที่ใช้สำหรับอุตสาหกรรมอาหาร ที่เรียกว่า Food Grade หรือ สำหรับอุตสาหกรรมยา Pharmaceutical Grade เรียกง่ายๆ ว่าเป็นแอลกอฮอล์เกรดดี จึงมีต้นทุนการผลิตสูงกว่าเกรดที่ใช้เป็นเชื้อเพลิงมาก

ส่วนแอลกอฮอล์ที่ผสมในน้ำมันเชื้อเพลิง นั้น จะมีความเข้มข้นมากถึง 99.5% คือมีน้ำเป็นส่วนประกอบเพียง 0.5% เพราะหากมากกว่านี้ อาจทำให้เครื่องยนต์เสียหายได้ แต่ความบริสุทธิ์มีไม่มากเท่ากับแอลกอฮอล์ที่ใช้ทำความสะอาดมือเรียกว่าบริสุทธิ์น้อยกว่ามาก เพราะเป็นเกรดเชื้อเพลิง ไม่ใช่ Food Grade หรือ Pharmaceutical Grade จึงอาจยังมีสารปนเปื้อน สารตกค้าง โลหะ หรือ สารพิษเจือปน ซึ่งอาจเป็นอันตราย หรือ เกิดการระคายเคืองหากนำมาใช้กับคน

ซึ่งจะเห็นได้แล้วว่าแอลกอฮอล์ทั้ง 2 ชนิด มีความแตกต่าง ทั้งกระบวนการผลิต คุณสมบัติที่เหมาะสม และวัตถุประสงค์การนำไปใช้จึงไม่สามารถนำมาใช้แทนกันได้

ที่มา กระทรวงพลังงาน

ออมสิน ขยายเวลาพักหนี้เป็น 6 เดือน ช่วยลูกค้าฝ่าวิกฤตโควิด-19

ธนาคารออมสิน ขยายเวลาพักชำระหนี้เงินต้นและดอกเบี้ยอัตโนมัติเพิ่มจาก 3 เดือน เป็น 6 เดือน เริ่ม 1 เม.ย.-30 ก.ย.63 ช่วยลูกค้าเผชิญภัยไวรัสโควิด-19

ลูกค้าสินเชื่อบุคคล สินเชื่อเคหะ และสินเชื่อผู้ประกอบการSMEs สถานะปกติจนถึงค้างชำระไม่เกิน 3 เดือน ณ 31 มีนาคม 2563

ไม่ต้องลงทะเบียน หากไม่ต้องการเข้าร่วมสามารถชำระได้ตามปกติ

ดร.ชาติชาย พยุหนาวีชัย ผู้อำนวยการธนาคารออมสิน เปิดเผยว่า เดิมธนาคารออมสิน จะช่วยลูกค้าเงินกู้เคหะที่มียอดเงินต้นคงเหลือไม่เกิน 3 ล้านบาท แต่เห็นว่าลูกค้าเดือดร้อนเหมือนกัน จึงพิจารณาให้เข้าร่วมโครงการได้ทั้งหมด

แต่ถ้าลูกค้าไม่ต้องการพักชำระก็สามารถแจ้งกับธนาคารได้ หรือต้องการชำระเป็นบางเดือนที่ลูกค้าคิดว่าสามารถจ่ายได้ โดยธนาคารฯ ผ่อนปรนให้ถือว่าเป็นสถานะลูกค้าปกติ ไม่คิดดอกเบี้ยผิดนัดชำระ

ส่วนลูกหนี้ที่ถูกฟ้องอยู่ในสถานะหลังจากมีการพิพากษาแล้วจะได้รับการช่วยเหลือด้วย แต่จะพิจารณาเป็นกรณีเฉพาะราย

สำหรับดอกเบี้ยของเงินงวดในช่วงพักชำระหนี้ 6 เดือนให้ชำระในงวดสุดท้ายของสัญญา หรือเลือกเฉลี่ยจ่ายหลังพ้นจากช่วงพักชำระไปแล้วก็ได้

ทั้งนี้ หลังจากครบกำหนดระยะเวลาการพักชำระเงินต้นและดอกเบี้ยแล้ว ให้ลูกค้าชำระงวดค้างเดิมก่อนเข้ามาตรการ (ถ้ามี) แล้วจึงผ่อนชำระเงินงวดในเงื่อนไขเดิมตามสัญญาปกติหรือสัญญาปรับปรุงโครงสร้างหนี้ก่อนหน้าเข้ามาตรการพักชำระเงินต้นและดอกเบี้ย 6 เดือนข้างต้นนี้

หากไม่สามารถชำระได้ ให้เข้าร่วมมาตรการพักชำระเงินต้นได้อีก 2 ปีที่ธนาคารได้ประกาศไปแล้วก่อนหน้านี้ได้ ซึ่งเป็นมาตรการให้ความช่วยเหลือลูกหนี้ที่ได้รับผล กระทบจากสถานการณ์ที่ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทย

ครม.อนุมัติขยายจำนวนผู้เข้าโครงการเยียวยา 5000 บาท จาก 9 ล้านคนเป็น 14 ล้านคน วงเงินเพิ่มเป็น 2.1 แสนล้านบาท

นางสาวรัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยผลการประชุมคณะรัฐมนตรี วันนี้ (21 เม.ย.) ว่า ที่ประชุมมีมติเห็นชอบตามที่กระทรวงการคลังเสนอให้ขยายจำนวนผู้รับเงินชดเชยเยียวยาจากรัฐบาลเนื่องจากผลกระทบจากโควิด-19 จาก 9 ล้านคน เป็น 14 ล้านคน เนื่องจากจำนวนของผู้ที่ได้รับผลกระทบที่มาลงทะเบียนมีเป็นจำนวนมาก และเมื่อตรวจสอบสิทธิ์ตามที่ได้มีการอุทรณ์เข้ามาพบว่ามีจำนวนที่เพิ่มกว่าเป้าหมายเดิมอย่างมาก

กระทรวงการคลังจึงขอขยายจำนวนคนที่เข้าโครงการซึ่งจะได้รับเงินจากภาครัฐ เดือนละ 5000 บาทเป็นระยะเวลา 3 เดือน ทำให้ต้องใช้งบประมาณเพิ่มขึ้นจาก 1.35 แสนล้านบาท เป็น 2.1 แสนล้านบาท ซึ่งจะใช้จ่ายงบประมาณจากเงินกู้ตาม พ.ร.ก.ให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินวงเงิน 1 ล้านล้านบาท รวมทั้งจากการโอนงบประมาณปี 2563 

รัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี

สาธารณสุข ร่าง 5 ข้อเสนอแนวทางผ่อนปรน ม.ควบคุม โควิด-19

ทยอยเริ่มต้นจากกลุ่มจังหวัดที่ไม่พบผู้ป่วยติดเชื้อในพื้นที่ในสองสัปดาห์ที่ผ่านมา

กระทรวงสาธารณสุข ระดมผู้เชี่ยวชาญ นักวิชาการ คณบดีจากคณะแพทย์ จัดทำร่างข้อเสนอแนวทางผ่อนปรนมาตรการควบคุมโรคโควิด-19 ด้านสาธารณสุข เพื่อให้ประชาชน และผู้ประกอบการ สามารถประกอบอาชีพได้ตามปกติและมีความปลอดภัยในการใช้ชีวิต โดยเตรียมเสนอต่อศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (ศบค.) พิจารณา โดยมีเงื่อนไขสำคัญ 5 แนวทาง คือ

1. หน่วยงานด้านสาธารณสุข ต้องเพิ่มความเข้มข้นมาตรการตรวจคัดกรองคนติดเชื้อในประเทศเข้มงวดกับผู้ที่เดินทางเข้าประเทศ มีการกักเฝ้าสังเกตอาการ 14 วันในสถานที่ที่กำหนด การค้นหาผู้ป่วยในกลุ่มเสี่ยงเพิ่มเติม เช่น ในชุมชนแออัด

2. คนไทยทุกคน ทุกชุมชน ทุกสังคม ต้องร่วมมือปฏิบัติตามมาตรการสุขลักษณะ ล้างมือ สวมหน้ากากอนามัยหรือหน้ากากผ้าเมื่อออกจากบ้าน การมีระยะห่างทางกาย งดการชุมนุม กลุ่มเสี่ยงยังควรหลีกเลี่ยงการออกจากบ้าน

3. ภาคธุรกิจ ต้องประเมินความเสี่ยง และปรับการดำเนินการให้มีความเสี่ยงต่ำ เช่น มาตรการตรวจวัดไข้ เว้นระยะห่างทางกาย การทำความสะอาดมือ การลดจำนวนผู้คนที่มาติดต่อใช้บริการ

4. ปิดบริการหรือกิจการที่มีความเสี่ยงสูง เป็นแหล่งแพร่ระบาดได้แก่ สถานบันเทิง ผับ บาร์ คาราโอเกะ สถานบริการทางเพศทั้งตรงและแฝง สนามการพนัน ต้องปิดในระยะยาว สำหรับการปิดกิจการในอนาคต ควรใช้วิธีปิดแบบจำเพาะที่เป็นปัญหา และคงความเข้มข้นของการบังคับใช้กฎหมายอย่างเข้มงวด

5. เฝ้าระวังตรวจจับและคาดการณ์ความรวดเร็วของการแพร่ระบาดในระดับพื้นที่และระดับประเทศ เป็นการเตือน และเพิ่มหรือผ่อนคลายมาตรการตามแต่ละจังหวัด และมีการเฝ้าระวังโดยภาคประชาชน อสม.

หากสามารถดำเนินการได้ทั้ง 5 แนวทาง จะผ่อนปรนให้กลับมาดำเนินการได้ โดยใช้ข้อมูลของกระทรวงสาธารณสุขดูจังหวัดที่มีการติดเชื้อต่ำเริ่มจากกลุ่มจังหวัดที่ไม่พบผู้ป่วยติดเชื้อในพื้นที่ในสองสัปดาห์ที่ผ่านมา (ประมาณ 32 จังหวัด) สามารถเริ่มได้ในต้นเดือนพฤษภาคม หรืออาจนำร่องทดลองปลายเดือนเมษายน

ระยะต่อไปจะเริ่มในกลุ่มที่สอง คือ จังหวัดที่พบผู้ป่วยติดเชื้อในพื้นที่แบบประปราย (ประมาณ 38 จังหวัด) ประมาณกลางเดือนพฤษภาคม

สำหรับกลุ่มที่สาม คือ จังหวัดที่มีการระบาดอย่างต่อเนื่อง (ประมาณ 7 จังหวัด) หากสามารถลดการระบาดและไม่มีการระบาดเป็นกลุ่มก้อนใหญ่ สามารถผ่อนปรนเปิดได้ต้นเดือนมิถุนายน นี้

รัฐบาลจัดให้ จับมือเอกชน โทรมือถือฟรีทุกค่าย 100 นาที กดรับสิทธิ 1 – 15 พ.ค.นี้

รัฐบาลร่วมกับ กสทช.สนับสนุนมาตรการโทรฟรี 100 นาที รองรับ “Work – Learn” from Home ในช่วงวิกฤตโควิด-19 ซึ่งผู้ให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ทั้ง 5 ราย ได้แก่ เอไอเอส ทรู ดีแทค ทีโอที และ บมจ. กสท โทรคมนาคม (แคท) จะให้สิทธิ์ โทร.ฟรี 100 นาที ทุกเครือข่าย 45 วัน
.

ลงทะเบียนรับสิทธิ์โทรฟรี โดยประชาชนสามารถกดรับสิทธิ์ ได้ตั้งแต่วันที่ 1 – 15 พ.ค. 63 ด้วยการ กด * 170 * ตามด้วยหมายเลขบัตรประชาชน 13 หลักที่ใช้ลงทะเบียนซิม จากนั้น กด # แล้วกดโทรออก เมื่อได้รับ SMS ยืนยันสิทธิ์แล้วจะสามารถใช้งานได้ 45 วัน

นอกจากนี้ ผู้ได้รับสิทธิ์จะต้องลงทะเบียนซิมในนามของบุคคลธรรมดาสัญชาติไทย เท่านั้น 1 สิทธิ์ ต่อ 1 ค่าย โดยได้รับทุกค่าย เช่น ถ้ามีมือถือทั้ง 3 ค่าย ๆ ละเบอร์ จะได้รับสิทธิ์ทั้ง 3 เบอร์ เป็นต้น

หมอเสริฐ แชมป์เศรษฐีอันดับ 11 ตอบรับจม.นายกฯ ทุ่มงบ 100 ล้านบาท เสนอขุดน้ำบาดาลที่จ.สุโขทัย

เตรียมรับมือปัญหาขาดแคลนน้ำใช้จากภัยแล้ง หลังผ่านพ้นวิกฤตโควิด-19 ให้รัฐบาลส่งตัวแทนจังหวัดมาพูดคุย

นายแพทย์ ปราเสริฐ ปราสาททองโอสถ อดีตประธานคณะผู้บริหาร และกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ ประธานกรรม การบริหาร และกรรมการบริษัท กรุงเทพดุสิตเวชการ จำกัด เจ้าของสายการบิน บางกอก แอร์เวย์ส และผู้ถือหุ้นกลุ่มโรงพยาบาลเอกชนรายใหญ่ในเครือ กรุงเทพดุสิตเวชการ ที่นิตยสาร ฟอร์บส์จัดอันดับเป็นมหาเศรษฐีคนไทย อันดับ 11 ด้วยมูลค่าทรัพย์สิน 84,900 ล้านบาท กล่าวถึงกรณีพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ส่งจดหมายถึง 20 มหาเศรษฐีไทย ว่า มาตรการเยียวยา และการดูแลผลกระทบของประชาชนของรัฐบาล ออกมาค่อนข้างมาก และได้ผลดีในระดับหน่ึงแล้ว

ตนในฐานะที่มีความพร้อมด้านการบิน และการแพทย์ ได้ให้ความช่วยเหลือแก่แพทย์สภา และกระ ทรวงสาธารณสุข ในการนำเครื่องบินไปรับส่งบุคคลากรทางการแพทย์จำนวนมากเพื่อเดินทางไปรักษาผํู้ป่วยติดเชื้อในจังหวัดต่างๆ โดยเฉพาะที่ภูเก็ต และช่วยให้การศึกษาแก่ผู้คนในการระมัดระวังการติดเชื้อจนประสบความสำเร็จในหลายจังหวัด

ส่วนเรื่องที่นายกรัฐมนตรีร้องขอมา คิดว่า ปัญหาที่ประเทศไทย จะต้องเผชิญต่อจากโควิด-19 คือ ปัญหาการขาดแคลนน้ำใช้ จึงอยากจะช่วยรัฐบาลในเรื่องนี้ โดยเฉพาะที่จังหวัดสุโขทัย เนื่องจากใต้ดินมีน้ำจำนวนมาก ที่สามารถนำมาใช้เพ่ือการเกษตรกรรมได้ เดิมทีสุโขทัย และ จังหวัดใกล้เคียง ใช้น้ำจากแก่งเสือเต้นซึ่งเป็นที่รวมของแม้น้ำปิง วัง ยม น่าน แต่เมื่อรัฐบาลไม่ให้ใช้แก่งเสือเต้น น้ำที่หลากมาตอนฤดูฝนก็จะไหลผ่านเมืองลงทะเลไป ไม่สามารถเก็บกักมาใช้ทำประโยช์ได้ในหน้าแล้ง เห็นได้จากตอนนี้ แม่น้ำยมสามารถเดินข้ามไปอีกฝั่งได้ เพราะน้ำแล้งแห้งขอด


ทั้งนี้ ตนอยากจะช่วยออกเงิน ให้รัฐส่งผู้แทนจังหวัดมา มีหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมาช่วยจัดหาพื้นที่ที่มีความเหมาะสม และไม่ทำให้เจ้าของที่ดินเดิมเดือดร้อน พร้อมทหารช่าง รวมถึงอาจจะจ้างทหารที่เกษียณราชการแล้ว แแต่ยังมีกำลังวังชาอยู่ มาช่วยกันขุดบ่อน้ำเล็กๆให้ชาวบ้าน มีน้ำไว้ใช้ หากช่วยกันคนละไม้คนละมือ อาจใช้เวลาขุดบ่อน้ำให้ชาวบ้านไว้เลี้ยงปลา และทำนาปรังได้ภายในเวลาเพียง 10 วัน

โดยตั้งงบไว้ประมาณ 100 ล้านบาท เพื่อขุดน้ำใต้ดินขึ้นมาใช้ แต่กรณีนี้ ต้องให้รัฐบาลยินยอมที่จะให้มีการขุดน้ำบาดาลขึ้นมาใช้ด้วย เมื่อแต่ละจังหวัดมีน้ำใช้เพียงพอ เกษตรกรก็สามารถจะจับปลาไปขาย และมีน้ำไว้ทำนาปรัง เชื่อว่า ปีหน้า ราคาข้าวน่าจะสูงขึ้น เพราะปีนี้น้ำแล้ง ปลูกข้าวไม่ค่อยได้

ส่วนตัวคิดว่าเป็นประโยชน์กว่าการเอาเงินไปให้รัฐบาล หรือโรงพยาบาลซึ่งก็มีคนบริจาคกันไปมากแล้ว แต่การเตรียมการหลังโควิด-19 หยุดแพร่ระบาด ยังไม่ได้มีคนคิด คิดว่าส่ิงนี้น่าจะเป็นประโยชน์ต่อประชาชน ที่สำคัญ ยังสามารถขุดลอกแม่น้ำยมให้มีความลึกได้มากกว่านี้ หรือลึกลงไปราว 20 เมตรเพื่อเอาน้ำใต้ดินขึ้นมาใช้ หรือ อย่างบึงบอระเพ็ด ซ่ึ่งเคยเป็นทะเลสาบใหญ่ของจังหวัดนครสวรรค์ ก็สามารถจะขุดให้ลึกลงไปได้อีกเพ่ือนำน้ำใต้ดินมาใช้ และเก็บกักน้ำไว้ในยามน้ำแล้งได้ โดยเฉพาะเม่ือถึงฤดูฝนก็ไม่ต้องปล่อยให้น้ำฝนไหลผ่านลงทะเลไปโดยเปล่าประโยชน์


สำหรับบ่อเล็กๆที่จะขุดเอาน้ำใต้ดินมาใช้นี้ หากสามารถเชื่อมต่อกันได้ในอนาคตเพ่ือให้เป็นแหล่งน้ำขนาดใหญ่ ก็ยิ่งจะก่อให้เกิดประโยชน์ต่อเกษตรกรในพื้นที่

“ถ้าปีนี้ไม่ทัน อย่างน้อยปีหน้าก็จะมีน้ำไว้ให้เกษตรกรและประชาชนใช้เพื่อการอุปโภคบริโภคได้ ผมคิดว่า ข้อเสนอของผมน่าจะช่วยรัฐบาลและเป็นประโยชน์ต่อประชาชนได้มาก”

เปิดจดหมายนายกฯถึง 20 เศรษฐีไทย

ไม่ขอรับเงินบริจาค แต่ขอให้ลงมือทำโครงการช่วยเหลือประชาชน

จดหมายของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ส่งถึง 20 มหาเศรษฐีไทย ลงวันที่ 20 เม.ย. 2563 มีเนื้อความว่า ประเทศไทยกำลังเผชิญสถานการณ์โรคระบาดโควิด-19 เป็นวิกฤตการณ์ร้ายแรงของประเทศและของโลก ทำร้ายและทำลายชีวิต ความสัมพันธ์ทางสังคมและเศรษฐกิจไปพร้อมกัน อย่างที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน เป็นช่วงเวลาที่คนไทยและประเทศไทยต้องการความร่วมมืออย่างมากที่สุดจากทุกภาคส่วน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง กลุ่มคนหรือองค์กรที่มีความรู้ ความสามารถมีความเข้มแข็ง จึงสื่อสารมายังท่านในฐานะเป็นผู้อาวุโสของสังคม

ผมซาบซึ้งใจที่หลายท่านได้ลงมือช่วยเหลือประชาชนไปแล้วหลายเรื่อง แต่ผมต้องการขอให้ทุกท่านทำเพิ่มเติม โดยใช้ศักยภาพของท่านมาทำให้เกิดการช่วยเหลือเยียวยาพี่น้องประชาชนคนไทยที่กำลังเดือดร้อนอย่างแสนสาหัส อย่างรวดเร็วและมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น

ผมขอให้ท่านทำเอกสาร นำเสนอสิ่งที่ท่านพร้อมจะทำเพิ่มเติม เพื่อช่วยเหลือพี่น้องคนไทย โดยผมไม่ขอรับเป็นเงินบริจาค แต่ผมขอให้ท่านลงมือทำโครงการที่จะออกไปช่วยเหลือประชาชนคนไทยทุกกลุ่มทุกภาคส่วน ไม่ว่าจะเป็นการบรรเทาความทุกข์ร้อนของประชาชนทางด้านใดก็ตาม หรือด้วยวิธีการใดก็ตามขอให้เป็นการช่วยเหลือประชาชนอย่างเป็นรูปธรรม

รวมทั้งสิ่งใดที่ท่านเห็นว่ารัฐบาลจะช่วยอำนวยความสะดวก ให้กับโครงการนั้นได้ขอให้ท่านโปรดส่งมาให้ผมรับทราบภายในสัปดาห์หน้า ก็จะเป็นความกรุณาอย่างยิ่ง

จึงเรียนมาเพื่อพิจารณาและขอขอบพระคุณล่วงหน้ามา ณ ที่นี้ด้วย

ลงชื่อ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี