Home Blog Page 33

โค้งสุดท้าย กับการลงทุนในกองทุนรวม “SSF หลักทรัพย์จดทะเบียน”

บทความโดย สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.)

เข้าสู่โค้งสุดท้ายของ กองทุน “SSF หลักทรัพย์จดทะเบียน” กันแล้ว เหลือเวลาอีกไม่ถึง 30 วัน กับโอกาสที่จะลงทุนในกองทุนที่มีเงื่อนไขพิเศษตามมาตรการของรัฐ โดยเฉพาะผู้ที่มีสิทธิลดหย่อนภาษี ผู้ที่ต้องการออมระยะยาวในสินทรัพย์ที่มีศักยภาพเติบโตอย่างหลักทรัพย์จดทะเบียน ซึ่งได้รับประโยชน์ จากกองทุนนี้โดยตรง จะมีเวลาตัดสินใจจนถึงวันที่ 30 มิถุนายน 2563 นี้เท่านั้น

สำหรับผู้ที่กำลังตัดสินใจจะลงทุน ลองมาสำรวจตัวเองก่อนว่า SSF หลักทรัพย์จดทะเบียน เป็นกองทุนที่ใช่สำหรับคุณหรือไม่

ขั้นตอนที่ 1 สำรวจเป้าหมายการลงทุน หากคุณกำลังมองหา
– การลงทุนที่ช่วยลดหย่อนภาษีเพิ่มเติม จากวงเงินที่ได้รับจากกองทุน SSF ปกติ การลงทุนใน SSF หลักทรัพย์จดทะเบียน เป็นอีกทางเลือกที่จะเพิ่มวงเงินลงทุนที่นำไปลดหย่อนภาษีเพิ่มเติมได้สูงสุด ถึง 200,000 บาท ซึ่งเป็นคนละวงเงินกับ SSF ปกติ กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ กองทุนรวมเพื่อการเกษียณ และประกันบำนาญ
– การลงทุนที่มีโอกาสให้ผลตอบแทนมากกว่าการฝากเงิน ผ่านกองทุนรวมที่ลงทุนใน SET หรือ mai ไม่ว่าจะเป็นหุ้นของบริษัทจดทะเบียน ทรัสต์เพื่อการลงทุนในอสังหาริมทรัพย์ (รีทส์) กองทุนอีทีเอฟ (ETF) หรือกองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐาน โดยสัดส่วนการลงทุนโดยเฉลี่ยในรอบปีบัญชีไม่น้อยกว่า 65% ของ NAV ซึ่งบริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน (บลจ.) แต่ละแห่งจะออกแบบกองทุนรวมที่มีกลยุทธ์ลงทุนต่างกันไป เช่น เน้นหุ้นขนาดใหญ่พื้นฐานแกร่ง เน้นหุ้นกลาง-เล็ก ลงทุนตามดัชนี โดยคุณสามารถเลือกกองทุนที่มีนโยบายตรงกับเป้าหมายของคุณได้
– การลงทุนที่เตรียมไว้ใช้ยามเกษียณ ยิ่งเริ่มต้นเร็วจะยิ่งได้เปรียบ จากข้อมูลในอดีตพบว่าการลงทุนระยะยาวมักให้ผลตอบแทนที่ดี ซึ่งการลงทุนใน SSF หลักทรัพย์จดทะเบียน มีระยะเวลา 10 ปี ก็เป็นเวลาที่นานพอจะเห็นแนวโน้มของการเติบโตในระยะยาวได้ ทั้งนี้ ต้องพิจารณาความเสี่ยงร่วมด้วย

ขั้นตอนที่ 2 เลือกกองทุนที่จะลงทุน
ถ้าเป้าหมายการลงทุนของคุณมีครบตามขั้นตอนที่ 1 ข้างต้น กองทุน “SSF หลักทรัพย์จดทะเบียน” ก็เป็นอีกทางเลือกในการลงทุนที่น่าสนใจ และ ณ วันที่ 1 มิถุนายน 2563 มีกองทุน SSF หลักทรัพย์จดทะเบียนให้เลือกลงทุนถึง 18 กองทุน จาก บลจ. 14 แห่ง ซึ่งการเลือกกองทุนให้เหมาะกับตัวเอง สามารถทำได้โดยศึกษาหนังสือชี้ชวน (fund factsheet) อย่างน้อยในเรื่องต่อไปนี้
1. ดูนโยบายลงทุนของกองทุน ว่าลงทุนในหลักทรัพย์ประเภทใดบ้าง (ซึ่งอย่างน้อย 65% จะลงทุนในหลักทรัพย์จดทะเบียน ส่วนที่เหลือ บลจ. สามารถนำไปลงตราสารอื่น เพื่อกระจายความเสี่ยง หรือเพื่อหาผลตอบแทนที่สูงขึ้น)
2. ราคาหลักทรัพย์ที่จะลงทุนมีความผันผวนเพียงใด โดยดูจากความผันผวนของผลการดำเนินงานในอดีต กลุ่มหุ้นที่เน้นลงทุน เช่น ลงทุนในหุ้นบริษัททั่วไป บริษัทขนาดเล็ก-กลาง บริษัทขนาดใหญ่ หรือลงทุนในกลุ่มอุตสาหกรรม และมีการกระจุกตัวในผู้ออกตราสารหรือไม่
3. ระดับความเสี่ยงของกองทุนรวม คือ จะอยู่ในระดับ 5 ขึ้นไป ซึ่งถือว่ามีความเสี่ยงปานกลางค่อนข้างสูง
4. ค่าธรรมเนียมที่ต้องจ่าย ซึ่งจะมีผลกระทบต่อผลตอบแทนที่คุณจะได้รับ โดยค่าธรรมเนียมหลักที่ควรพิจารณา คือ ค่าธรรมเนียมการจัดการกองทุนรวม ซึ่งหากเป็นการลงทุนที่ล้อไปกับดัชนี (ลงทุนแบบ passive) ค่าธรรมเนียมก็ควรต่ำกว่าการลงทุนแบบ active ที่ผู้จัดการกองทุนจะต้องใช้ฝีมือในการบริหาร
5. อื่น ๆ เช่น กองทุนมีนโยบายการจ่ายเงินปันผลหรือไม่ เงื่อนไขการสับเปลี่ยนกองทุนมีหรือไม่ เงินลงทุนขั้นต่ำจำนวนเท่าใด

ขั้นตอนที่ 3 ตัดสินใจลงทุน
เนื่องจากเป็นกองทุนที่ให้สิทธิประโยชน์ทางภาษี ผู้ลงทุนจะต้องปฏิบัติตามเงื่อนไข คือ ถือให้ครบ 10 ปี ถ้าซื้อเกินสิทธิที่จะได้รับลดหย่อน (คือ เกิน 200,000 บาท) ส่วนที่เกินก็ไม่สามารถนำมาหักลดหย่อนได้ หากเตรียมตัวให้พร้อมทั้ง 3 ขั้นตอนแล้ว ก็พร้อมที่จะลงทุนได้ ผู้ที่สนใจสามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ บลจ. ที่เสนอขายกองทุนดังกล่าว หรือสอบถามมายังสำนักงาน ก.ล.ต. โทรศัพท์ 1207 กด 7

ครม.อนุมัติออกกม.เก็บภาษีดิจิตัลแพลตฟอร์มต่างประเทศ คาดรายได้เพิ่ม 3 พันล้านบาท

คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบนำเสนอสภาผู้แทนราษฎรพิจารณาร่างพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลรัษฎากรฯ เพื่อจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มผู้ให้บริการอิเล็กทรอนิกส์จากต่างประเทศ หรือแพลตฟอร์มจากต่างประเทศ ตามที่กระทรวงการคลังโดยกรมสรรพากรเสนอ ช่วยสร้างความเป็นธรรมและยกระดับระบบภาษีไทยให้ทัดเทียมนานาชาติ

ดร.เอกนิติ นิติทัณฑ์ประภาศ อธิบดีกรมสรรพากร เปิดเผยว่า คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบ ส่งร่างพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลรัษฎากร การจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มกรณีการให้บริการทางอิเล็กทรอนิกส์จากต่างประเทศ (e-Service)) ให้คณะกรรมการประสานงานสภาผู้แทนราษฎรพิจารณา ก่อนเสนอสภาผู้แทนราษฎรต่อไป ตามที่กระทรวงการคลังโดยกรมสรรพากรเสนอ ในการจัดทำร่างกฎหมายดังกล่าวกรมสรรพากรได้นำผลการศึกษาขององค์การเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา (OECD) ในการเพิ่มประสิทธิภาพการจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มจากผู้ให้บริการ e-Service จากต่างประเทศ ที่มีข้อเสนอแนะให้ผู้ประกอบการต่างประเทศหรือดิจิทัลแพลตฟอร์มเป็นผู้ประกอบการจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มและมีหน้าที่นำส่งภาษีมูลค่าเพิ่มให้แก่หน่วยงานจัดเก็บภาษี เป็นแนวทางที่มีประสิทธิภาพและดำเนินการได้มากที่สุด ปัจจุบันมีกว่า 60 ประเทศที่นำแนวทางของ OECD มาแก้ไขปัญหาการจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มกรณีการให้บริการระหว่างประเทศ เช่น ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ ญี่ปุ่น ไต้หวัน เกาหลีใต้ เป็นต้น

ร่างพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลรัษฎากรฯ กำหนดให้ผู้ให้บริการ e-Service จากต่างประเทศ หรือแพลตฟอร์มจากต่างประเทศ เช่น การให้บริการดาวน์โหลดภาพยนตร์และสื่อบันเทิงต่าง ๆ ผ่านเครือข่ายอินเทอร์เน็ต ที่มีรายได้เกิน 1.8 ล้านบาทต่อปี จากการให้บริการผ่านเครือข่ายอิเล็กทรอนิกส์แก่ลูกค้าในประเทศไทยที่ไม่ใช่ผู้ประกอบการจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม มีหน้าที่จดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม ยื่นแบบแสดงรายการภาษีและนำส่งภาษีมูลค่าเพิ่มให้แก่กรมสรรพากร เช่นเดียวกับแนวคิดของ OECD ทั้งนี้ เพื่อให้เกิดความง่ายและอำนวยความสะดวกในการชำระภาษีสำหรับผู้ใช้บริการที่ไม่ได้จดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม โดยผู้ให้บริการจากต่างประเทศทำหน้าที่นำส่งภาษีแทนผ่านระบบบริการจดทะเบียนและชำระภาษีมูลค่าเพิ่มอย่างง่าย (Simplified VAT)

การปรับปรุงกฎหมายในครั้งนี้จะช่วยส่งเสริมให้เกิดการแข่งขันที่เป็นธรรมระหว่างผู้ประกอบการในประเทศไทยกับผู้ประกอบการในต่างประเทศที่ให้บริการในประเทศไทย ทำให้การจัดเก็บภาษีมีความเหมาะสม สอดคล้องกับกิจกรรมทางเศรษฐกิจ และยังเป็นการปรับปรุงกฎหมายภาษีไทยให้มีความทันสมัยสอดคล้องกับแนวทางการจัดเก็บภาษีของนานาประเทศ และกรมสรรพากรคาดว่าการปรับปรุงกฎหมายในครั้งนี้จะช่วยทำให้จัดเก็บภาษีได้เพิ่มขึ้นอีกประมาณ 3,000 ล้านบาท

10 ทรัพย์สินที่กรมบังคับคดี “ไม่ยึด – ไม่อายัด”

เมื่อศาลมีคำพิพากษา ให้ลูกหนี้ชำระหนี้ เจ้าหนี้ต้องไปยื่นให้ศาลออกหมายบังคับคดี ตั้งเจ้าพนักงานบังคับคดี เพื่อจัดการ “ยึด-อายัดทรัพย์สิน” ของลูกหนี้ตามคำพิพากษา และขายทอดตลาด นำเงินมาชำระหนี้ให้เจ้าหนี้ ตามเงื่อนไขกฎหมายบังคับคดี

แต่หาก “ลูกหนี้” ตามคำพิพากษาของศาล ไม่มีเงินใช้หนี้ เจ้าหนี้ จะสามารถยึดทรัพย์สินทุกอย่างของลูกหนี้ มาใช้แทนหนี้ได้หรือไม่

ทางสำนักกิจการยุติธรรม เปิดเผยว่า ตามพระราชบัญญัติ แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง (ฉบับที่ 30) พ.ศ. 2560 กำหนดทรัพย์สินของลูกหนี้ที่ไม่อยู่ในความรับผิดแห่งการบังคับคดี แปลว่า เจ้าพนักงานบังคับคดี ไม่ยึด – ไม่อายัด ทรัพย์สินของลูกหนี้ ตามรายการต่อไปนี้

1.เครื่องใช้สอยส่วนตัว ที่นอนหมอนมุ้ง, เครื่องใช้ในครัวเรือน ราคารวมไม่เกินประเภทละ 20,000 บาท

2.สัตว์ สิ่งของ อุปกรณ์ทำหากินประกอบอาชีพ เท่าที่จำเป็น ราคารวมไม่เกิน 100,000 บาท

3.สัตว์ สิ่งของ หรือ อุปกรณ์ทดแทนอวัยวะ

4.ทรัพย์สินที่มีลักษณะเป็นของส่วนตัวโดยแท้ เช่น หนังสือวงศ์ตระกูล จดหมาย สมุดบัญชี

5.ทรัพย์ที่โอนไม่ได้ตามกฎหมาย หรือไม่ได้อยู่ในการบังคับคดี เช่น สมบัติแผ่นดิน โฉนดที่อยู่ในเวลาห้ามโอน

6.เบี้ยเลี้ยงชีพที่กฎหมายกำหนด เงินรายได้เป็นคราวๆ ที่คนอื่นให้เพื่อเลี้ยงชีพ ไม่เกินเดือนละ 20,000 บาท

7.เงินเดือน ค่าจ้าง บำเหน็จ บำนาญ เบี้ยหวัด ของข้าราชการ เจ้าหน้าที่ หรือ ลูกจ้างในหน่วยงานราชการ หรือตามจำนวนที่เจ้าพนักงานเห็นสมควร

8.เงินเดือน ค่าจ้าง บำนาญ ค่าชดใช้เงินสงเคราะห์ ของพนักงาน ลูกจ้าง ไม่เกินเดือนละ 20,000 บาท

9.ค่าชดเชยหรือรายได้อื่น(บุคคลทั่วไป)ไม่เกิน300,000 บาท

10.เงินฌาปนกิจสงเคราะห์ที่ลูกหนี้ได้รับ จากการตายของบุคคลอื่น ตามจำนวนที่จำเป็นในการจัดพิธีฌาปนกิจศพ ตามฐานะของผู้ตาย

ที่มา สำนักงานกิจการยุติธรรม

มูลนิธิ LPN จับมือ ซีพีเอฟ ส่งเสริมคุณภาพชีวิตแรงงาน ปีที่ 3

มูลนิธิเครือข่ายส่งเสริมคุณภาพชีวิตแรงงาน หรือ LPN (Labour Protection Network) ร่วมกับ บริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) หรือ ซีพีเอฟ ส่งเสริมสิทธิมนุษยชนตามหลักสากลให้กับแรงงาน สานต่อโครงการ “ช่องทางรับฟังเสียงพนักงาน และอบรมความรู้ด้านสิทธิมนุษยชน” ให้กับพนักงานของซีพีเอฟ ต่อเนื่องเป็นปีที่ 3

นายสมพงค์ สระแก้ว ผู้อำนวยการมูลนิธิ LPN กล่าวว่า การดำเนินงานของศูนย์รับฟังเสียงพนักงาน จากความร่วมมือในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา ช่วยให้ทั้งแรงงานไทยและแรงงานต่างด้าวได้รับรู้สิทธิของตน ตามกฎหมายคุ้มครองแรงงานและมาตรฐานสากล รวมทั้งได้รับการปฏิบัติอย่างเท่าเทียมกัน ในเรื่องค่าจ้างค่าตอบแทน สุขภาพอนามัย และความปลอดภัยในการทำงาน การเข้าถึงสิทธิแรงงานต่างๆ เพื่อนำไปสู่คุณภาพชีวิตที่ดี และจัดการอบรมพนักงาน (Worker Training) ของซีพีเอฟ จำนวนมากกว่า 1,800 คน ในจำนวนนี้ ร้อยละ 75 เป็นพนักงานต่างด้าว ซึ่งจะทำให้สามารถทำงานร่วมกันด้วยความเข้าใจซึ่งกันและกัน เป็นต้น

ในปี 2562 ซีพีเอฟได้รับรายงานจากศูนย์รับฟังเสียงพนักงาน จำนวน 4 สาย จากพนักงานคนไทยและต่างด้าว เป็นเรื่องการสอบถามข้อมูลและการร้องเรียน โดยสอบถามข้อมูลในเรื่องเกี่ยวกับเงื่อนไขตามกระบวนการจ้างแรงงานต่างด้าวผ่านบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (Memorandum of Understanding : MoU) และในส่วนของการร้องเรียนจากการตรวจสอบพบว่ามีสาเหตุมาจากความกังวลและความเข้าใจผิดของแรงงานเรื่องกฎระเบียบ และขั้นตอนการปฏิบัติงาน

“ปัจจัยที่ทำให้มีข้อร้องเรียนจากแรงงานซีพีเอฟ ผ่านช่องทาง Labour Voices Hotline by LPN ค่อนข้างน้อย เป็นผลจากบริษัทฯ มีล่ามประจำสถานประกอบการฯของบริษัทฯ คอยเป็นผู้ให้คำแนะนำและปรึกษาพนักงานต่างชาติเบื้องต้น รวมถึง การจัดการแก้ไขปัญหาโดยฝ่ายบุคคลและหัวหน้างานอย่างเป็นระบบและทันท่วงที ประกอบกับการจัดอบรมช่วยให้พนักงานมีความเข้าใจเรื่องสิทธิแรงงาน และกฎหมายที่เกี่ยวข้องมากขึ้น” นายสมพงค์ กล่าว

นายปริโสทัต ปุณณภุม รองกรรมการผู้จัดการบริหาร ด้านทรัพยากรบุคคล ซีพีเอฟ กล่าวว่า บริษัทให้ความสำคัญกับการปฏิบัติต่อพนักงานทุกคนในองค์กรอย่างเสมอภาคและเท่าเทียมกัน แรงงานต่างชาติทุกคนเป็นพนักงานของบริษัท ได้รับค่าจ้างและสิทธิประโยชน์เท่าเทียมกับพนักงานคนไทย การดำเนินงานร่วมกับ LPN ช่วยสนับสนุนบริษัทให้เข้าใจความต้องการ ของแรงงานทุกคนและสามารถแก้ปัญหาได้ตรงจุดอย่างรวดเร็ว สร้างความพึงพอใจและความเข้าใจอันดีระหว่างลูกจ้างและนายจ้าง

“ซีพีเอฟ มีการทำแบบสำรวจการรับรู้ช่องทางการร้องเรียนผ่านศูนย์รับฟังเสียงพนักงาน ในพื้นที่ 6 โรงงาน ครอบคลุมทั้งพนักงานไทยและต่างด้าว ผลสำรวจพบว่า 75% ของแรงงานมีการรับรู้และทราบช่องทางการร้องเรียนผ่านศูนยนี้ ช่วยลดความเสี่ยงในเรื่องการละเมิดสิทธิแรงงานและลดผลกระทบที่อาจมีต่อธุรกิจ” นายปริโสทัต กล่าว

นอกจากนี้ ในปี 2562 บริษัทได้ทบทวนและดำเนินกระบวนการตรวจประเมินสถานะด้านสิทธิมนุษยชนอย่างรอบด้าน ทุกสายธุรกิจในกิจการประเทศไทย ครอบคลุมทุกกลุ่ม ร่วมถึงกลุ่มเปราะบาง (Vulnerable Group) เช่น ชนกลุ่มน้อยทางเชื้อชาติและศาสนา ผู้บกพร่องทางร่างกาย เป็นต้น โดยให้ความสำคัญ อาทิ เรื่อง สภาพการจ้างงาน สุขภาพและความปลอดภัยในสถานประกอบการ ข้อมูลส่วนบุคคล มาตรฐานการครองชีพและความปลอดภัยของคู่ค้าในห่วงโซ่อุปทาน ฯลฯ

ซีพีเอฟ ยังยกระดับความปลอดภัยอย่างเข้มข้นสำหรับแรงงานทุกคนในช่วงที่มีการแพร่ระบาดของโรคโควิด 19 พร้อมทั้งจัดการอบรมให้ความรู้และความเข้าใจเกี่ยวกับโรคระบาด และการป้องกันแก่พนักงานต่างด้าว รวมทั้ง ทำแผ่นป้ายแนะนำในภาษาต่างๆ การจัดเพิ่มจำนวนรถตามแนวทาง social distancing เพื่อให้พนักงานทุกคนเข้าใจและทำงานด้วยความมั่นใจในมาตรการความปลอดภัย จนถึงปัจจุบันไม่มีพนักงานในสายการผลิตติดเชื้อโควิด-19

ปรุงยา 3 ตำรับ ระงับความฟุ่มเฟือย

การวางแผนการเงิน หลายครั้ง ต้องเริ่มจากการปรับเปลี่ยนพฤติกรรม การใช้จ่ายเงิน ให้ได้ก่อน ปัญหาการเงินของคนส่วนใหญ่ เกิดจาก รายจ่าย มีมากกว่า รายรับ

รายจ่ายดังกล่าว มีทั้งค่่าใช้จ่ายที่จำเป็น และไม่จำเป็น และส่วนใหญ่แล้ว สัดส่วนขอค่าใช้จ่ายที่ไม่จำเป็น มักจะมีมากกว่า ค่าใช้จ่ายที่จำเป็น

อย่างเช่น ค่าช้อปปิ้ง แม้บางคนจะพยายามจำกัดวงเงินช้อปปิ้งในแต่ละเดือนไว้ แต่ชีวิตจริง เรามักจะแพ้ทางให้กับ ของเซล ลดราคา 30 40 50 60 70% ทำเอาหน้ามืดตามัว ควักเงินจ่าย ทั้งที่บางทีสินค้าเหล่านั้น เราไม่จำเป็นต้องมีต้องใช้เลยก็ได้ และถึงแม้จะเป็นของจำเป็น แต่ถ้าซื้อมามากเกินไป ของจำเป็นก็จะกลายเป็น ไม่จำเป็น ได้ทันที

ทั้งหมดที่กล่าวมาข้างต้น เรียกได้ว่า เป็นความฟุ่มเฟือย คือ ใช้เงินออกไปทั้งที่ไม่จำเป็น แลกกับข้าวของที่ได้รับกลับมา ซึ่งส่วนใหญ่ก็ไม่จำเป็นเช่นกัน

ศูนย์คุ้มครองผู้บริโภคทางการเงิน (ศคง.) ธนาคารแห่งประเทศไทย ให้ข้อคิดเปรียบเสมือนสูตรยา 3 ขนาน เพื่อให้คนป่วยอย่างเราๆท่านๆ ทานเพื่อระงับเจ้าความฟุ่มเฟือยนี้

  1. ใช้ให้น้อยกว่าที่หาได้ ในแต่ละเดือน เราจำเป็นตัองทำงบประมาณค่าใช้จ่าย เริ่มจากการจดบันทึกรายรับรายจ่าย เพื่อให้ทราบว่า มีเงินเข้า และเงินออก เท่าไร จะได้วางแผนการใช้จ่ายได้อย่างเหมาะสม ด้วยการตั้งงบรายจ่าย และตั้งใจให้แน่วแน่ว่า ไม่จำเป็นก็ไมซื้อ อย่างไรก็ตาม เราอาจตั้งงบใช้จ่าย โดยกันเงินไว้สัก 10% จากรายรับ เช่น งบช้อปปิ้ง กินเที่ยว เพื่อเป็นรางวัลให้ชีวิตกระชุ่มกระชวยในแต่ละเดือน

2. เริ่มต้นการออมเงิน เราสามารถเริ่มต้นออมเงินง่ายๆ ด้วยกันกันเงิน 10% จากรายได้เป็นเงินออม และเมื่อทำจนเป็นนิสัยแล้ว สามารถขยับเพิ่มเติมเงินออม กันเงินในสัดส่วนที่มากขึ้น และไม่กระทบกับการใช้ชีวิตมากนัก ควรที่จะแยกบัญชีเงินออมออกมาต่างหาก และสามารถแตกบัญชีเงินออม เป็นบัญชีเพื่อการออม, การลงทุน, เพื่อกรณีฉุกเฉิน และเพื่อเป้าหมายที่วางไว้ เช่น ซื้อรถยนต์ บ้าน หรือค่าเทอมลูก ซึ่งนำไปสู่ยาตำรับที่ 3 ที่กล่าวถึงต่อไป

3. การออมอย่างมีเป้าหมาย ด้วยการกำหนดเป้าหมาย ระยะสั้น กลาง และยาว จากนั้นนำไปสู่การดูว่า จะกำหนดจำนวนเงินเท่าไร วิธีการออมเงินที่จะนำไปสู่เป้าหมายได้ เช่น การนำเงินออมไปลงทุน ใช้เครื่องมือการออมเงินอื่นๆ ที่ให้ผลตอบแทนมากกว่าเงินฝากธนาคาร ระยะเวลาการออม ต้องใช้เท่าไร ซึ่งจะมีผลต่อจำนวนเงินออมด้วย เช่น เงินออมส่วนนี้เพื่อนำมาใช้จ่ายเป็นค่าเรียนบุตร เรามีอาจมีเวลาเก็บประมาณ 3-4 เดือน เมื่อรู้ล่วงหน้า ก็จะทำให้การวางแผนการออมได้อย่างเหมาะสม

หากทำได้ตามยา 3 ขนานนี้แล้ว เชื่อได้ว่า สุขภาพการเงินของเรา จะต้องแข็งแรงอย่างแน่นอน

ขอบคุณ ศูนย์คู้มครองผู้บริโภคทางการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย

เงาหุ้น : หุ้นBAMร้อนแรง!!

ดัชนีหุ้นไทยวันที่ 8 มิ.ย. 63  ปิดที่ 1,438.66 จุด  เพิ่มขึ้น  2.96 จุด  มีมูลค่าการซื้อขายทะลัก 105,398.73 ล้านบาท    ต่างชาติพลิกกลับมาขายสุทธิ 787.70 ล้านบาท

                 หุ้นมูลค่าซื้อขายสูงสุด BAM ปิด  26  บาท  บวก 1.20 บาท ,MINT ปิด 23.10 บาท บวก 1  บาท,PTT ปิด 40.75 บาท บวก 1.25 บาท, PTTEP ปิด  101.50 บาท บวก 2.75 บาทและ TOP ปิด 49  บาท ลบ 1.50 บาท

                หุ้นไทยขึ้นแรงในช่วงเช้าตามตลาดต่างประเทศ แต่โดนแรงเทขายทำกำไรสลับออกมาตลอดทั้งวัน ทำให้ปิดตลาดดัชนีปรับขึ้นได้ไม่มาก  ด้วยมูลค่าซื้อขายหนาแน่น โดยหุ้นกลุ่มแบงก์ถูกเทขายทำกำไรหนักสุด

                ขณะที่หุ้น BAM ขึ้นร้อนแรง โดย บล.กรุงศรี ระบุว่า BAM ได้รับคัดเลือกในดัชนี MSCI รอบใหม่จึงเป็นเป้าหมายหลักของนักลงทุนต่างชาติ  โดยแนวโน้มเศรษฐกิจไม่ดี ทำให้ NPLs มีแนวโน้มเร่งตัวขึ้น เป็นโอกาสของผู้ประกอบการติดตามหนี้และบริหารสินทรัพย์ จากการเข้าซื้อ NPLs ในราคาที่ถูกลง (แย่งกันขาย) หนุนพอร์ตลูกหนี้ในมือเพิ่มขึ้นรอออกดอกผลเมื่อเศรษฐกิจฟื้นตัว  โดย เป้าหมายราคาสูงสุด IAA Consensus อยู่ที่  29.5 บาท 

                ด้าน บล.โนมูระ พัฒนสิน แนะนำ “ซื้อ”หุ้น  BAM  เช่นกัน โดยให้ราคาเป้าหมายที่  29.50 บาท ระบุว่าถึงเวลาของ BAM ในการซื้อของถูก ในภาวะปัจจุบัน ที่ผู้ประกอบการอื่นต้องกลับมาเน้นการบริหารฐานะการเงินที่ระมัดระวังขึ้น เห็นการแข่งขันเบาบางลง และ BAM มีความพร้อมด้านฐานทุนมากกว่าคู่แข่งชัดเจน ขณะที่ Supply ด้าน NPL จะออกมามากขึ้น ถือเป็นโอกาสทองของ BAM ในการเลือกซื้อสินทรัพย์ NPL คุณภาพดี ให้ผลตอบแทนสูงในระยะยาว   

                กลับมาทิศทางตลาดภาพรวม บล.เอเซียพลัส ชี้ว่าสัปดาห์ที่ผ่านมาหุ้นไทยเพิ่มขึ้นได้เร็วและแรงสุดเป็นอันดับ 2 ในปีนี้ กว่า 6.91% ขณะที่ค่าเฉลี่ยในการฟื้นตัวจากจุดต่ำสุด ณ กลางเดือน มี.ค. เป็นต้นมาปรับตัวเพิ่มขึ้นเฉลี่ยเพียง 1.92% เท่านั้น บวกกับมูลค่าซื้อขายสูงเกินกว่า 1 แสนล้านบาทต่อวัน แสดงให้เห็นว่าตลาดอยู่ในภาวะ Risk on พร้อมกับนักลงทุนกระโดดเข้ามาเก็งกำไรในตลาดหุ้นมากขึ้น

                 ฉะนั้นช่วงนี้เป็นช่วงที่ตลาดอยู่ในภาวะการเก็งกำไรอย่างชัดเจน ยิ่ง SET Index ปรับตัวขึ้นเร็วมากเท่าไหร่ ยิ่งต้องกลับมาโฟกัสความเสี่ยงเพิ่มขึ้นมากเท่านั้น  แนะกลยุทธ์ Let Profit Run พร้อมกับขยับจุดล็อกกำไรตามขึ้นมาเรื่อยๆ โดยชื่นชอบหุ้นพื้นฐานแข็งแกร่ง Laggard กว่าตลาด  คือ CPALL, STEC แล  TVO !!

ที่มา คอลัมน์ เงาหุ้น โดย อินเด็กซ์51 ข่าวเศรษฐกิจ หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ

เปิดกรอบเวลาฟื้นฟูกิจการการบินไทย ยาว 7 ปี

ศาสตราจารย์พิเศษ กิติพงศ์ อุรพีพัฒนพงศ์ ประธานกรรมการบริษัทเบเคอร์ แอนด์ แม็คเค็นซี่ จำกัด ที่ปรึกษากฏหมายของการบินไทย บอกว่า การบินไทยอยู่สภาวะ “บังคับชั่วคราว” นับต้งแต่การยื่นคำร้องจนถึงวันที่ศาลนัดไต่สวนคำร้อง คือไม่สามารถก่อหนี้ได้ ห้ามชำระหนี้ เว้นแต่หนี้ที่เป็นไปเพื่อการดำเนินการทางการค้าปกติ ครอบคลุมถึงการคืนตั๋ว แลกของรางวัลต่างๆ ซึ่งจะมีผลไปจนถึงคดีฟื้นฟูกิจการเสร็จสิ้น

ทั้งนี้ หลังศาลจะมีคำสั่งให้การบินไทยฟื้นฟูกิจการ และกรณีมีคำสั่งแต่งตั้งผู้ทำแผนตามที่การบินไทยเสนอประมาณเดือนส.ค.-ก.ย. ปีนี้ จากนั้นขั้นตอน และระยะเวลาจัดทำแผนฟื้นฟูกิจการ จะต้องแล้วเสร็จใน 3 เดือน และต้องส่งให้เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ ประมาณ ม.ค. ปีหน้า

ศาสตราจารย์พิเศษ กิติพงศ์ อุรพีพัฒนพงศ์ ประธานกรรมการบริษัทเบเคอร์ แอนด์ แม็คเค็นซี่ จำกัด ที่ปรึกษากฏหมาย

ทั้งนี้ การจัดประเภทเจ้าหนี้ จะอยูในช่วงของการทำแผน โดยแบ่งกลุ่มเจ้าหนี้ เป็น เจ้าหนี้เครื่องบิน เจ้าหนี้หุ้นกู้ เจ้าหนี้คืนบัตรโดยสาร ทำให้แล้วเสร็จในวลา 3 เดือนต้้งแต่แต่งตั้งผู้ทำแผน การจัดกลุ่มเจ้าหนี้ ถุือว่ามีความสำคัญต่อความสำเร็จของแผน เพราะคนที่จะอนุมัติแผนฟื้นฟูกิจการ คือ เจ้าหนี้

จากนั้น ประมาณเดือนก.พ.-มี.ค. ปีหน้า เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ ก็จะจัดประชุมเจ้าหนี้ เพื่อพิจารณแผน

และปลายเม.ย. ศาลจะมีคำสั่งเห็นชอบแผนฟื้นฟูกิจการ และตั้งผู้บริหารแผน ดำเนินการตามแผนต่อไป

ดังนั้น กรอบระยะเวลาการดำเนินการฟื้นฟูกิจการการบินไทยต้องแล้วเสร็จ 5 ปี ต่อเวลาได้ 2 ครั้งๆ ละ 1 ปี เท่ากับว่า การฟื้นฟูกิจการการบินไทยจะแล้วเสร็จในกรอบเวลา 7 ปี

ที่ผ่านมา การบินไทยได้เจรจาหารือกับเจ้าหนี้เครื่องบิน และผู้ให้เช่าเครื่องบินหลายราย ก็ได้รับการผ่อนผันว่า จะไม่มีการยึดเครื่องคืน และให้การบินไทยใช้งานไปก่อน นอกจากนี้ การบินไทยยังได้ยื่นเรื่องให้ศาลตปท.ที่การบินไทยเปิดบิน ให้การรับรองเรื่องการฟื้นฟูกิจการ ขอยืนยันว่า ปัจจุบัน ยังไมมีการยึดเครื่องบินคืน และไม่เจ้าหนี้รายใดยกเลิกสัญญา

อัสสเดช คงสิริ กรรมการผู้จัดการ บริษัท หลัพทรัพย์ฟินันซ่า ที่ปรึกษาการเงิน บอกวา การบินไทยจะกลับมาบินได้เมื่อไร ขึ้นกับองค์ประกอบต่างๆ เช่น บินไปต่างประเทศได้หรือยัง ผุ้โดยสารมีเพียงพอหรือไม่ และต้องคำนึงถึงผลประโยชน์ของผู้โดยสาร และผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในบริษัทด้วย ปัจจุบัน การบินไทยได้บริหารสภาพคล่องอย่างรัดกุม ลดค่าใช้จ่ายต่างๆมากที่สุดเท่าที่จะทำได้ เพื่อรักษาสภาพคล่องให้ได้ยาวที่สุด

อัสสเดช คงสิริ กรรมการผู้จัดการ บริษัท หลัพทรัพย์ฟินันซ่า ที่ปรึกษาการเงิน

ระหว่างการฟื้นฟูกิจการ การบินไทยจะได้รับเงินจากก.คลัง หรือไม่ ปัจจุบัน ถือว่าการบินไทยพ้นจากรัฐวิสาหกิจแล้ว กระทรวงการคลังไม่สามารถให้การสนับสนุนโดยตรงได้ เชน ปล่อยเงินกู้ หรือค้ำประกันเงินกู้ แต่การบินไทยยังสามารถกู้เงินจากสถาบันการเงินได้ ซึ่งต้องขึ้นอยู่การพิจารณาของศาลล้มละายกลาง สำหรับแหล่งทุนในอนาคต ก็ต้องขึ้นกับผู้จัดทำแผนที่จะพิจาณาว่า มีความต้องการขนาดทุนเท่าไร รวมทั้งแหล่งที่มาของทุน เช่น แปลงหนี้เป็นทุน ทุนจากผู้ถือหุ้นเดิม หรือทุนจากพันธมิตรใหม่ โดยปกติ ต้องดูว่า นอกจากเงินทุนแล้ว จะมีประโยชนอื่นต่อกิจการการบินไทยด้วยหรือไม่

ส่วนการปรับโครงสร้างในการบินไทยนั้น ต้องรอให้ผู้จัดทำแผนพิจารณาถึงความจำเป็นในการดำเนินการตามแผนฟื้นฟู ซึ่งต้องมีประโยชน์ต่อธุรกิจของการบินไทยมากที่สุด สภาพแข่งขัน การบริหารฝูงบิน

อรอนงค์ ชุณหะมาน ผู้อำนวยการฝ่ายนักลงทุนสัมพันธ์ และบริหารกลาง บริษัทการบินไทย จำกัด (มหาชน) กล่าวถึงการขอเงินคืนค่าบัตรโดยสาร ว่า การรีฟันด์ หรือเลื่อนตัว เป็นสิทธิของลูกค้า บริษัทไม่มีนโยบายในการระงับสิทธินี้ ยังเปิดรับเรื่องอยู่ แต่การจ่ายคืน ยังทำไม่ได้ตอนนี้ เพราะติดขัดข้อกฏหมาย ต้องขออภัยเรื่องนี้ แต่ตั้งใจจะดูแลลูกค้าอย่างดีที่สุด ภายใต้กระบวนการฟื้นฟู โดยจะแจ้งสิทธิให้ทราบค่อไป ยังไม่สามารถประกาศนโยบายได้ชัดเจนในตอนนี้ ต้องรอแผนฟื้นฟูจากผู้จัดทำแผน

อรอนงค์ ชุณหะมาน ผู้อำนวยการฝ่ายนักลงทุนสัมพันธ์ และบริหารกลาง บริษัทการบินไทย จำกัด (มหาชน)

การบินไทย แจงติดขัดกม. ระงับสิทธิไมล์สะสมแลกรางวัลไปก่อน

อรอนงค์ ชุณหะมาน ผู้อำนวยการฝ่ายนักลงทุนสัมพันธ์ และบริหารกลาง บริษัทการบินไทย จำกัด (มหาชน) ตอบคำถามถึงประเด็นการแลกของรางวัลของสมาชิก รอยัล ออร์คิด พลัส ว่า เนื่องจาก ตอนนี้ การบินไทยติดข้อจำกัดทางกฏหมาย ดังนั้น ต้ั้งแต่ 2 มิ.ย. จึงต้องระงับการใช้สิทธิบางประการไว้ชั่วคราว เช่น การแลกรางวัลบัตรโดยสาร หรืออัพเกรดชั้นโดยสารของสายการบินพันธมิตร สตาร์อัลไลแอนซ์ , บัตรกำนัลห้องพักโรงแรม

อรอนงค์ ชุณหะมาน ผู้อำนวยการฝ่ายนักลงทุนสัมพันธ์ และบริหารกลาง บริษัทการบินไทย จำกัด (มหาชน)

แต่บริษัทการบินไทยยังคงเปิดให้สมาชิกแลกไมล์สะสมเป็นบัตร หรืออัพเกรดชั้นโดยสารในส่วนของการบินไทย และไทยสมายล์ได้ เมื่อทั้งสองสายการบินกลับมาเปิดให้บริการ

ส่วนสมาชิกรอยัลออคิดพลัส ที่ใช้ไมล์แลกรางวัลบ้ตรกำนัลห้องพักโรงแรม รางวัลไลฟ์สไตล์บางประเภท บัตรโดยสารหรือเลื่อนชั้นโดยสารของสายการบินพันธมิตร แล้วยังไม่ได้ใช้ สามารถคืนรางวัล แลกกลับเป็นไมล์สะสมได้โดยไม่ต้องเสียค่าธรรมเนียม

ส่วนไมล์สะสมที่หมดอายุ การบินไทยจะต่ออายุให้จนถึงถึง 31 ธ.ค.63

สำหรับการขอคืนค่าภาษีและค่าธรรมเนียมของรางวัลต่างๆ การบินไทยยังคืนไม่ได้ตอนนี้เพราะติดข้อบังคับทางกม. ขณะนี้อยู่ระหว่างแก้ไขบรรเทาปัญหาอย่างเร่งด่วน

5 ข้อวายป่วง ทำกองทุนสำรอง ไม่พอ เลี้ยงชีพ

วันก่อน คอลัมน์ “รู้เก็บรู้ออม รู้ใช้รู้ลงทุน สู่ความมั่งคั่ง” พูดถึงเรื่อง กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ ว่าเป็นเครื่องมือการออมเงินที่เป็นตัวช่วยที่ดีของมนุษย์เงินเดือน เปรียบเสมือนเป็นการ ” หักดิบ” ออมเงินตั้งแต่ต้นทาง

ครั้งนี้ เราจะว่ากันถึงเหตุที่จะทำให้ กองทุนสำรอง “ไม่พอ” เลี้ยงชีพ โดยบทความนี้ ทางตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย เผยแพร่ไว้ในเว็บไซต์ ผู้เขียนขออนุญาตนำมาถ่ายทอดต่อให้อ่านกันแบบเข้าใจง่ายๆ

ทำไม กองทุนสำรอง ถึงจะ ไม่พอ เลี้ยงชีพ ที่เป็นสาเหตุประการแรกเลย คือ

1. ออมเงินไปวันๆ แบบไม่รู้ว่าตัวเองมีความต้องการใช้เงินเท่าไรหลังเกษียณ หรือไม่ได้ทำงานแล้ว ยกตัวอย่างเช่น คำนวณว่า เกษียณแล้ว ต้องการใช้เงินเดือนละ 10,000 บาท แต่ปัจจุบัน ทั้งเก็บทั้งออม คำนวณดูแล้ว เงินออมทั้งหมด ไม่ตอบโจทย์ คือ ไม่พอสำหรับการใช้จ่ายเดือนละหมื่นบาท อันนี้อนาคตลำบากหน่อย

ทางตลาดหลักทรัพย์ฯ ให้สูตรคำนวณมาง่ายๆ หยิบเครื่องคิดเลขมากดๆ ตามนี้

  • กำหนดตัวเลขเงินค่าใช้จ่ายปัจจุบัน ต่อเดือน
  • เอาตัวเลขข้างบน x 12 จะเท่ากับค่าใช้จ่ายต่อปี
  • เอาค่าใช้จ่ายต่อปี x 70% เพื่อปรับเป็นค่าใช้จ่ายจริงตอนไม่ได้ทำงานแล้ว
  • เอาตัวเลขค่าใช้จ่ายจริงข้างบน x จำนวนปีก่อนตาย เช่น กะว่าจะตายตอนอายุ 85 ก็เท่ากับว่า มีเวลาเหลือใช้ชีวิตหลังเกษียณ (อายุ 60 ) เท่ากับ 25 ปี
  • เอาผลลัพท์ข้างบน X 2 เพื่อปรับด้วยอัตราเงินเฟ้อ 3%ต่อปี

สมมติ อยากอยู่ต่อบนโลกถึงอายุ 85 และต้องการใช้เงินเดือนละหนึ่งหมื่น กดเครื่องคิดเลขตามสูตรข้างบนแล้ว เท่ากับว่า ตัวเราต้องมีเงินเก็บสำหรับโลกหลังเกษียณ และก่อนความตาย เท่ากับ 4.2 ล้านบาท

เพียงเท่านี้ก็จะทราบวงเงินที่จำเป็นต้องใช้เมื่อเกษียณอายุอย่างคร่าว ๆ และเป็นเป้าหมายในการลงทุนว่าเราจะต้องเก็บเงินอย่างน้อยปีละเท่าใด ต้องให้ได้ผลตอบแทนจากการลงทุนปีละเท่าใด ด้วยข้อจำกัดของจำนวนปีของการทำงานที่ยังเหลืออยู่


2. จ่ายเงินสะสมแค่ขั้นต่ำสุด เพราะคิดแต่ว่า ถ้าว่างงาน เจ็บป่วย และเกษียณอายุ สามารถใช้สวัสดิการของรัฐบาลได้ น้ำบ่อหน้าแบบนี้เอามาใช้กับการวางแผนเพื่อการเกษียณอายุไม่ได้ หากต้องการเกษียณอย่างมีความสุข เงินที่เก็บเพื่อการเกษียณ ต้องเก็บประมาณ 10 – 20% ของรายได้ต่อเดือน เก็บทุกเดือน เริ่มตั้งแต่เดือนแรกที่มีรายได้จากการทำงาน เงินเดือนที่มนุษย์เงินเดือนได้รับ ไม่ควรใช้แบบเดือนชนเดือน อย่าลืมว่า เงินสมทบ และเงินเดือนของนายจ้าง อยู่บนเงื่อนไขอย่างเดียวว่า เรายังทำงานให้เค้าได้ และเราสามารถโดนไล่ออก เลิกจ้าง ได้ตลอดเวลาทำงาน

3. คิดเอาเองว่า ยอดเงินทั้งหมดบนใบแจ้งยอดกองทุนเป็นของเราชัวร์ๆ แบบไม่มีเงื่อนไข เพราะ เงินกองทุนฯ ถูกแยกเป็น เงินสะสม ผลประโยชน์ของเงินสะสม เงินสมทบ และ ผลประโยชน์ของเงินสมทบ ซึ่งเงินในส่วนของนายจ้างไม่ว่าจะเป็นเงินสมทบ หรือ ผลประโยชน์ของเงินสมทบนั้น นายจ้างมีสิทธิ์ที่จะไม่ให้ลูกจ้างในกรณีที่ลูกจ้างถูกไล่ออก ประพฤติชั่วอย่างร้ายแรง นอกจากนี้นายจ้างยังมีสิทธิ์ที่จะแบ่งเงินสมทบ และผลประโยชน์ของเงินสมทบเป็นสัดส่วนตามอายุงาน รวมไปถึงการกระจายเงินสมทบและผลประโยชน์ของเงินสมทบในส่วนที่ลูกจ้างไม่ได้รับเมื่อออกจากงานกลับไปให้สมาชิกกองทุนรายอื่น ๆ ที่ยังเหลืออยู่เพื่อจูงใจให้ลูกจ้างอยู่ทำงานกับนายจ้างนานขึ้น ข้อกำหนดเหล่านี้ถูกระบุไว้ใน “ข้อบังคับกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ” ส่วนใหญ่ คนที่จะได้รับเงินแบบเต็มเม็ดเต็มหน่วยตามตัวเลขในใบแจ้งยอด ก็ต้องเป็นสมาชิกกองทุนฯ ที่เกษียณอายุ ตาย หรือ ทุพพลภาพ

4. เลือกแนวทางลงทุนในหุ้นที่ให้ผลตอบแทนน้อยเกินไป ข้อมูลสถิติบอกไว้ว่า ราคาสินค้าและบริการ ปรับตัวเพิ่มขึ้น 3% ต่อปี และมีเพียงผลตอบแทนจากการลงทุนในหุ้นสามัญที่จะสามารถเอาชนะอัตราเงินเฟ้อได้ ดังนั้น หากตัวเรา เป็นคนประเภท ซื้อหุ้นปุ๊บ อยากเห็นตัวเลขในพอร์ตหุ้นขึ้นตัวเขียว โชว์กำไรเลย ในเวลาอันสั้น หรือทนเห็นตัวเลขขาดทุนไม่ได้เลย ก็ต้องชดเชยด้วยการเก็บเงินต้นต่อเดือนที่เพิ่มขึ้น และ มีระยะเวลาในการเก็บนานขึ้น

แต่หากคิดลงทุนหุ้น ต้องท่องไว้ว่า เป็นการลงทุนระยะยาว ยาวแบบเกิน 5 ปีขึ้นไป และต้องจัดสัดส่วนให้เหมาะสม ไม่ใช่มีเท่าไร พี่ใส่กับหุ้นทั้งหมดเลย ต้องดูตัวเองทั้งในเรื่องของ อายุ สถานภาพ ข้อจำกัด ความสามารถในการรับความเสี่ยง ประเภทซื้อหุ้นวันนี้ พอราคาหุ้นตกวันพรุ่ง นั่งกุมขมับ เครียด อันนี้ไม่แนะนำ เพราะเดี๋ยวจะพาลเจ็บป่วย ไม่มีเวลาใช้เงินบนโลกนานกว่าที่ควรจะเป็น

5. ถอนเงินออกมาใช้ก่อน มากกว่าตัวเลขค่าใช้จ่ายเฉลี่ยต่อปี เช่น ระยะเวลา 25 ปีที่อยู่บนโลกหลังเกษียณ ต้องการใช้เงินเก็บให้หมด ก็เอาสูตรนี้ไปคำนวณเงินที่ควรเบิกมาใช้ต่อปีว่าควรเป็นเท่าไร ตามนี้ เอาตัวเลข 100 หารด้วยระยะเวลาที่คาดว่าจะใช้เงินให้หมด เช่น เวลา 25 ปี กะใช้เงินให้หมด ก็เอา 100 หารด้วย 25 จะเท่ากับ 4 แปลว่า เราต้องไม่ถอนเงินออกมาใช้ มากกว่า 4% ในปีๆนึง ไม่งั้น เวลาที่เหลือเราจะมีเงินไม่พอใช้ได้

ดังนั้นหากเราได้รับเงินกองทุนสำรองเลี้ยงชีพยามเกษียณ ทั้งหมด 1 ล้านบาท ก็ควรจะถอนเงินก้อนนี้ออกมาใช้ปีละไม่เกิน 40,000 บาท เพื่อที่จะสามารถใช้เงินได้ครบ 25 ปี หรือ ในกรณีที่คาดว่าจะใช้เงินกองทุนสำรองเลี้ยงชีพให้หมดภายในระยะเวลา 40 ปี ก็ควรจะนำเงินออกมาใช้ในอัตราที่น้อยกว่า 2.50% ต่อปี

จริงๆแล้ว ยังมีเรื่องอีกเยอะที่ทำให้มนุษย์เงินเดือนหลายคน เกษียณแบบไม่ถึงฝั่งฝัน ไม่ว่าจะเป็นการชิงสุกก่อนห่าม ถอนเงินกองทุนออกมาใช้ก่อนเกษียณ โดยลืมนึกไปว่าเงินที่ได้รับมานั้นจะต้องเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา, การละเลยไม่แจ้งคณะกรรมการกองทุนเมื่อสมาชิกต้องการเปลี่ยนชื่อ-สกุล-ที่อยู่-หมายเลขโทรศัพท์ ของผู้รับผลประโยชน์เงินกองทุนสำรองเลี้ยงชีพในกรณีต่าง ๆ, การเพิกเฉยต่อการเลือกตั้งคณะกรรมการกองทุนสำรองเลี้ยงชีพที่มีความรู้ความสามารถและ “รู้เท่าทัน” ผู้จัดการกองทุน เพื่อเป็นตัวแทนของสมาชิกกองทุนในการตรวจสอบผลการดำเนินงานกับผู้จัดการกองทุนโดยตรง เป็นต้น

และทั้งหมดที่กล่าวมาข้างต้น เป้าหมายตัวเงินแบบคิดง่าย ทำ(อาจ)ง่าย ยังไม่ได้คิดเผื่อรวมถึงเหตุฉุกเฉิน อยู่นอกแผน หรือกำหนดกะเกณฑ์ไม่ได้ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องเจ็บป่วย อุบัติเหตุ ซึ่งจะทำให้เกิดภาระค่าใช้จ่ายตามมา เพราะปัจจุบัน อะไรก็เกิดขึ้นได้ ดังเช่น ตัวอย่างจากสถานการณ์ไวรัสโควิด-19 ที่เล่นงานมนุษย์ได้ในทุกระดับ ถึงแม้จะไม่ได้ติดเชื้อ แต่ก็ได้รับผลกระทบทั้งด้านเศรษฐกิจ และชีวิต แบบที่ไม่เคยคาดคิดมาก่อนว่าจะได้ประสบพบเจอ

จึงอยากให้ ใช้ชีวิตกันอย่างไม่ประมาท และวางแผนเผื่ออนาคตที่มองไม่เห็นว่า อะไรจะเกิดขึ้นต่อไปอีก

ที่มา ห้องเรียนนักลงทุน ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย

คุณนายพารวย : ออมเงินกับกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ

บทความที่แล้วเล่าให้ฟังถึง คุณพี่มนุษย์เดือนชนเดือน พนักงานออฟฟิศท่านหนึ่ง  ที่ปรับระบบชีวิตการเงินของตัวเองใหม่ จนสามารถปลดแอกจากชีวิตหนี้ที่มืดมน เงินเดือนหมื่นกว่า แต่เป็นหนี้เกือบครึ่งล้าน จากการใช้จ่ายเงินที่ไม่มีระเบียบแบบแผน มีเงินเข้ากระเป๋าเท่าไร ก็ใช้จ่ายจนหมดเกลี้ยง ไม่พอก็หยิบยืม  รูดบัตรเงินสด  กู้เงินนอกระบบ เงินเก็บเงินออมไม่เคยมี  เงินลงทุนไม่ต้องพูดถึง

             เมื่อชีวิตพลิกผัน ได้เข้าสู่โครงการ “Happy Money Happy Retirement” ที่บริษัทส่งพนักงานเข้าร่วมโครงการกับตลาดหลักทรัพย์ฯ จึงได้กลับมาจัดระเบียบการใช้จ่ายของตัวเองใหม่หมด  จดบันทึกรายรับรายจ่าย อุดรูรั่ว ตัดรายจ่ายที่ไม่จำเป็นออก ก็มีเงินเหลือมาจ่ายหนี้  เมื่อรายรับไม่พอจ่าย ก็ต้องหารายได้เพิ่ม

            สุดท้ายหมดหนี้ เริ่มออมเงิน โดยเริ่มจากเงินออมต้นทาง คือเงินออมในกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ ซึ่งถือเป็นเงินออมก้อนที่สำคัญที่สุด เพราะเป็นเงินออมระยะยาวเพื่อเก็บไว้ใช้หลังเกษียณ 

             ผู้ที่รู้ตัวเองดีว่า ถ้าให้เก็บเงินเองจะ “เก็บไม่อยู่” แน่นอน  ให้ใช้วิธี “หักดิบ” ยอมให้หักเงินจากเงินเดือนมาสะสมในกองทุนสำรองเลี้ยงชีพในอัตราสูงสุดไปเลย ซึ่งหลายบริษัทให้สะสมได้สูงสุด 15%ของเงินเดือน

            ข้อดีของเงินกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ นอกจากเงินออมสะสมของเราที่ใส่เข้าไปทุกเดือนแล้ว ยังมีเงินที่นายจ้างจ่ายสมทบให้เราเพิ่มไปอีก ขึ้นกับข้อกำหนดของแต่ละบริษัทว่าจะสมทบให้เท่าไร ตั้งแต่ 2-15%  นั่นหมายถึงเงินที่นายจ้างช่วยออมเพิ่มให้เรานั่นเอง!!

            แถมเงินสะสมเข้ากองทุนสำรองเลี้ยงชีพของเรา ยังสามารถนำไปใช้หักลดหย่อนภาษีเงินได้ที่เราต้องจ่ายทุกปีได้อีกด้วย

             ที่สำคัญยังมีโอกาสได้ผลตอบแทนจากการลงทุน เพราะเงินสะสมและเงินสมทบของนายจ้าง จะถูกนำไปลงทุนในสินทรัพย์ต่างๆ โดยมีผู้จัดการกองทุนที่เป็นมืออาชีพบริหารเงินให้

             ผลตอบแทนจากการลงทุนแต่ละปีจะมากหรือน้อย  ขึ้นกับหลายปัจจัย โดยเฉพาะขึ้นกับระยะเวลาและสินทรัพย์ที่ไปลงทุน ซึ่งมีทั้งเงินฝาก หุ้น หุ้นกู้ พันธบัตรรัฐบาล ทองคำ กองทุนรวมและกองรีทต่างๆ ที่มีทั้งกองทุนอสังหาริมทรัพย์กองทุนโครงสร้างพื้นฐานมากมาย

            ซึ่งปัจจุบัน กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ มีรูปแบบให้ลูกจ้างเลือกแผนลงทุน (Employee’s Choice)ได้ เช่น หากยังอายุไม่มาก  แนะนำให้เลือกลงทุนในสินทรัพย์ที่มีความเสี่ยงสูงได้มากขึ้น เช่น ลงทุนในหุ้น เพราะจากสถิติพบว่าการลงทุนระยะยาวในหุ้นพื้นฐานดี มักให้ผลตอบแทนสูงกว่าการลงทุนในสินทรัพย์อื่นๆ แต่ก็ต้องยอมรับความเสี่ยงที่สูงกว่าได้

            เมื่ออายุมากขึ้นต้องลดสัดส่วนการลงทุนในหุ้นลง เพื่อไปลงทุนมากขึ้นในสินทรัพย์ที่มีความเสี่ยงต่ำกว่า แต่อาจได้ผลตอบแทนที่ลดลง และหากใกล้เกษียณก็สามารถขอเลือกแผนลงทุนที่ไม่มีความเสี่ยงเลย เพื่อปกป้องเงินต้นในโค้งสุดท้ายของการลงทุน

“คุณนายพารวย”อยากแนะนำให้พวกเราเพิ่มพูนความรู้และเทคนิคการออมเงินในกองทุนสำรองเลี้ยงชีพแบบแซ่บๆ ได้ที่เว็บไซต์ตลาดหลักทรัพย์ www.set.or.th และเลือกไปที่ เมนู“ความรู้การลงทุน”

            แล้วจะรู้ว่า การเลือกแผนลงทุนที่สอดคล้องกับอายุ เป้าหมายผลตอบแทนและระดับความเสี่ยงที่ยอมรับได้ จะช่วยสร้างผลตอบแทนให้กับเงินออมในกองทุนสำรองเลี้ยงชีพได้อย่างมหาศาล!!

ที่มา คอลัมน์ รู้เก็บรู้ออม รู้ใช้รู้ลงทุน สู่ความมั่งคั่ง โดย คุณนายพารวย ข่าวเศรษฐกิจ หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ