Home Blog Page 31

ครม.อนุมัติ 3 แพ็กเกจกระตุ้นท่องเที่ยว กำลังใจ-เราไปเที่ยวกัน-เที่ยวปันสุข

นาง นฤมล ภิญโญสินวัฒน์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี  เปิดเผยว่า คณะรัฐมนตรีเห็นชอบหลักการมาตรการกระตุ้นการท่องเที่ยว โดยรายละเอียดและเงื่อนไขแยกเป็น 3 แพ็กเกจ ประกอบด้วย

นฤมล ภิญโญสินวัฒน์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี

แพ็กเกจกำลังใจ สำหรับบุคลากรทางการแพทย์เป็นการมอบงบประมาณศึกษาดูงานแบบอบรม สัมมนา ผ่านผู้ประกอบการท่องเที่ยว หรือรัฐบาลจ่ายให้ 2,000 บาทต่อคน

แพ็กเกจเราไปเที่ยวกัน สำหรับประชาชนทั่วไปเป็นส่วนลดค่าจองห้องพักโดยช่วยจ่ายค่าห้องพัก 40% ต่อคืน ไม่เกิน 3,000บาทต่อคืน ได้รับเงินเที่ยว 600 บาทต่อคืน

และแพ็กเกจเที่ยวปันสุข สำหรับประชาชนทั่วไปเป็นส่วนลดค่าเดินทางทั้งตั๋วเครื่องบิน ค่ารถเช่าโดยรัฐช่วยจ่าย 40% สูงสุดไม่เกิน 1,000 บาท

เงาหุ้น : มุมมองเอเซียพลัส!!

ดัชนีหุ้นไทยวันที่ 15 มิ.ย.63 ปิดที่ 1,341.99 จุด ลดลง 40.57 จุด มีมูลค่าซื้อขาย 83,379.76 ล้านบาท ต่างชาติขายสุทธิ 4013.75 ล้านบาท

ฝ่ายวิจัย บล.เอเซีย พลัส ออกบทวิเคราะห์ประเมินการประชุม กนง.สัปดาห์หน้า วันที่ 24 มิ.ย. คาดว่าจะคงอัตราดอกเบี้ยไว้ที่ 0.5% (ต่ำสุดเป็นประวัติการณ์) โดยมีปัจจัยสนับสนุนความเชื่อดังนี้ Bond yield ไทย อายุ 1 ปี ล่าสุด แกว่งทรงตัวอยู่ที่ 0.5% ใกล้เคียงอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ 0.5% บ่งชี้ได้ว่านักลงทุนในตลาดมีมุมมองอัตราดอกเบี้ยยังทรงตัวในระดับเดิมในครั้งนี้

ขณะที่ประเทศไทย ยังไม่พบจำนวนผู้ติดเชื้อรายใหม่ในประเทศ ติดต่อกันรวม 20 วัน นับตั้งแต่วันที่ 25 พ.ค. ส่งผลให้รัฐมั่นใจผ่อนคลาย และออกมาตรการดึงดูดการลงทุนและการท่องเที่ยว เช่น วันที่ 17 มิ.ย. เตรียมออกเสนอ ศบค.พิจารณา Travel Bubble คือเปิดรับนักท่องเที่ยวประเทศที่คุม Covid ได้ดี ไม่ต้องกักตัว 14 วัน ฯลฯ

ขณะที่ล่าสุดรัฐบาล ผ่อนคลายธุรกิจเฟสที่ 4 และยกเลิก Curfew เมื่อวันจันทร์ที่ผ่านมา ทำให้เศรษฐกิจไทยค่อยๆฟื้นตัว รวมถึงเชื่อว่า กนง.จะเริ่มให้น้ำหนักนโยบายการคลังมากขึ้น คือ มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจชุดใหม่ เพื่อพยุงเศรษฐกิจ หลังจากปีนี้กระตุ้นผ่านนโยบายการเงิน คือ ลดอัตราดอกเบี้ยฯไปแล้ว 3 ครั้ง ครั้งละ 0.25%

อย่างไรก็ตาม ช่วงที่เหลือของปีนี้มีโอกาสที่ กนง.จะปรับลดอัตราดอกเบี้ยได้อีก 1 ครั้ง หรือ 25 bps อยู่ที่ 0.25% จากการประชุมที่เหลืออีก 4 ครั้ง (5 ส.ค., 23 ก.ย., 18 พ.ย., 23 ธ.ค.) หาก

1. เศรษฐกิจไทยหดตัวมากกว่าคาดโดยเอเซีย พลัส ประเมิน GDP ปี 63 หดตัว 5.7% yoy มีความเสี่ยงเพิ่มเติมนอกเหนือจากที่คาดว่าจะมาจากการระบาดรอบ 2, การ Lockdown ประเทศอีกครั้ง, สงครามการค้ารอบใหม่, ค่าเงินบาทหากแข็งค่าแรงกว่าคาด โดยล่าสุด แกว่งตัว 31 บาท

2.อัตราดอกเบี้ยที่แท้จริงยังเป็นบวก 3. Key massage การประชุมรอบล่าสุด ยังเน้นย้ำถึงหากสถานการณ์เศรษฐกิจแย่กว่าที่คาด ยังมีโอกาสใช้นโยบายการเงินผ่อนคลายเพิ่มโดยรวม

ทั้งนี้ ดอกเบี้ยฯลดลงทุกๆ 0.25% จะส่งผลให้ตลาดหุ้นไทยซื้อขายบน PE ที่สูงขึ้น 0.79 เท่า ถือเป็นการเปิด Upside ของดัชนีตลาดหุ้นไทย!!

ที่มา คอลัมน์ เงาหุ้น โดย อินเด็กซ์ 51 หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ

รวมเชฟแถวหน้า ปรุงเมนูอาหารอร่อย มอบให้คนทำงานพื้นที่สาธารณะ

โครงการ Chef Cares เฟส 2 เดินหน้า ส่งมอบเมนูชั้นเลิศเพื่อคนทำงานในพื้นที่สาธารณะ

นางมาริษา เจียรวนนท์ ผู้ก่อตั้งโครงการ Chef Cares พร้อมด้วยเชฟระดับแถวหน้า เชฟสุพัฒก์ ชินแสงทิพย์ และ เชฟวรัษยา วงษ์สวรรค์ ร่วมกันมอบอาหารแสนอร่อย จากโครงการ Chef Cares ให้แก่ นายภคพงศ์ ศิริกันทรมาศ ผู้ว่าการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย และ นาย อัลวิน จี รองกรรมการผู้จัดการ บมจ.ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ เพื่อส่งมอบอาหารรสเลิศ 1,500 ชุด ตลอด 1 สัปดาห์ ให้เจ้าหน้าที่ประจำสถานี เจ้าหน้าที่ทำความสะอาด ตลอดจน รปภ. และบุคลากรของ รถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย(รฟม.) และ บมจ.ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ (BEM) สำหรับเป็นกำลังใจให้คนทำงานด้านสาธารณะที่ทำงานอย่างหนักในช่วงโควิด-19 ช่วยให้สังคมเดินหน้าต่ออย่างปลอดภัย

ครั้งนี้ เป็นอาหารที่ปรุงจากใจของ เชฟสุพัฒก์ ชินแสงทิพย์ จาก โรงแรม วี กรุงเทพฯ เอ็มแกลเลอรี โฮเทล คอลเลคชั่น ที่รังสรรค์เมนู “ไก่เบญจาอบตะไคร้ – ซอสแจ่วมะขาม – สลัดสมุนไพร” และ เชฟวรัษยา วงษ์สวรรค์ จากร้าน บ้านเบญจรงค์ ปาย กับเมนู “ปลากะพงทอดราดพริก” นอกจากรสชาติความอร่อยแล้ว ยังเต็มไปด้วยคุณค่าทางโภชนาการที่ดี

ทั้งนี้ การเดินหน้าโครงการ Chef Cares ในเฟส 2 ปรุงอาหารจากใจเพื่อเป็นกำลังใจแก่คนทำงานสาธารณะที่เสียสละนั้น เป็นความต่อเนื่องหลังจากเริ่มต้นดำเนินโครงการมาตั้งแต่เดือนมีนาคม 2563 เพื่อส่งมอบความห่วงใยแทนคำขอบคุณให้กับบุคลากรทางการแพทย์ ผ่านเมนูอาหารกลางวัน ที่รังสรรค์โดยเชฟ ยอดฝีมือระดับแถวหน้าของเมืองไทย ซึ่งจะผลัดเปลี่ยนหมุนเวียนกันเสิร์ฟเมนูแสนอร่อยและเต็มไปด้วยคุณค่าทางโภชนาการ โดยใช้วัตถุดิบคุณภาพจาก ซีพีเอฟ เจียไต๋ฟาร์ม ข้าวตราฉัตร ไร่ชาอรักษ์ และใช้ครัว มาตรฐานสากลของโรงเรียนศิลปะการอาหารและผู้ประกอบการคูลิเนอร์ เป็นสถานที่ปรุงอาหาร

ล่าสุด โครงการนี้ส่งมอบอาหารของทีมเชฟ 50 ท่านใน 50 ร้านดัง รวม 150 เมนู ส่งตรงถึงมือทีมแพทย์ใน 15 โรงพยาบาล อาทิ รพ.รามาธิบดี รพ.ศิริราช รพ.ตำรวจ รพ.จุฬาลงกรณ์ ฯลฯ แล้ว เป็นจำนวนกว่า 21,000 ชุด

ด้านผู้ว่าการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย กล่าวว่า ขอขอบคุณโครงการ Chef Cares ที่มองเห็นคุณค่าในงานของคนทำงานในพื้นที่สาธารณะ โดยเฉพาะพนักงานตัวเล็กๆ ทุกระดับที่ทำงานในสถานีต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น พนักงานทำความสะอาด พนักงานรักษาความปลอดภัย หรืออื่นๆ อาหารแสนอร่อยที่มอบให้นอกจากจะช่วยเติมเต็มความอิ่มแล้ว ยังเป็นกำลังใจให้คนทำงานทุกคนด้วย

ก.ล.ต. ออกแนวทางลักษณะคำแนะนำที่ไม่เข้าข่ายประกอบธุรกิจที่ปรึกษาการลงทุนที่ต้องขอใบอนุญาต

สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ออกแนวทางการพิจารณาลักษณะของการให้คำแนะนำที่ไม่ถือเป็นการประกอบธุรกิจที่ปรึกษาการลงทุนด้านหลักทรัพย์หรือสัญญาซื้อขายล่วงหน้า เพื่อสร้างความชัดเจนถึงแนวทางการกำกับดูแลของ ก.ล.ต. โดยจะมีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 16 มิถุนายน 2563

ปัจจุบันการให้คำแนะนำการลงทุนในหลักทรัพย์หรือสัญญาซื้อขายล่วงหน้าแก่ประชาชนในลักษณะที่เป็นการแสดงความคิดเห็นหรือประสบการณ์ในการลงทุนผ่านเว็บไซต์หรือสื่ออิเล็กทรอนิกส์ ได้มีการให้บริการที่แพร่หลายและหลากหลายรูปแบบมากขึ้น จึงอาจทำให้เกิดความไม่ชัดเจนในการพิจารณาว่าการดำเนินการในลักษณะใดที่เข้าข่ายหรือไม่เข้าข่ายเป็นการประกอบธุรกิจที่ปรึกษาการลงทุนหรือสัญญาซื้อขายล่วงหน้า

ก.ล.ต. จึงออกแนวทางการพิจารณาลักษณะการดำเนินการที่ไม่เข้าข่ายเป็นการประกอบธุรกิจที่ปรึกษาการลงทุนที่ต้องขอรับใบอนุญาตให้มีความชัดเจนมากยิ่งขึ้น ซึ่งเป็นไปตามมติที่ประชุมคณะกรรมการ ก.ล.ต. ครั้งที่ 3/2563 วันที่ 5 มีนาคม 2563 โดยมีแนวทางในการแยกการพิจารณาระหว่างบุคคลที่ให้คำแนะนำ และเจ้าของเว็บไซต์หรือสื่ออิเล็กทรอนิกส์ออกจากกัน ดังนี้  

  1. บุคคลที่ให้คำแนะนำที่มีการแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับการลงทุนผ่านเว็บไซต์หรือสื่ออิเล็กทรอนิกส์อื่น ซึ่งเปิดให้บุคคลทั่วไปเข้ามาอ่านได้ เช่น ในรูปแบบบทความส่วนตัวหรือในลักษณะของกระดานสนทนาที่ไม่ได้รับค่าตอบแทนจากการแสดงความคิดเห็น
  2. เจ้าของเว็บไซต์หรือสื่ออิเล็กทรอนิกส์ที่เปิดให้บุคคลทั่วไปสามารถแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับการลงทุนโดยไม่มีส่วนร่วมในการรวบรวมหรือประมวลผลข้อมูลเพื่อเผยแพร่คำแนะนำลงบนเว็บไซต์หรือสื่ออิเล็กทรอนิกส์นั้น รวมทั้งไม่ได้รับค่าตอบแทนที่เกี่ยวข้องกับการให้คำแนะนำการลงทุน 

การบินไทย ทำหนังสือแจงลูกค้าเรื่องกระบวนการฟื้นฟู มั่นใจผ่านวิกฤติและกลับมาเปิดบินได้

รายงานข่าวจากบริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) ว่า บริษัทได้ทำหนังถึงลูกค้า ชี้แจงเพื่อความเข้าใจที่ถูกต้องสำหรับหนังสือ เอกสารหรือข้อความจากศาลล้มละลายกลางเกี่ยวกับการฟื้นฟูกิจการของบริษัทฯ ผ่านทางระบบอีเมล หรือ SMS อันเป็นผลมาจากการเข้าสู่กระบวนการฟื้นฟูกิจการ ในฐานะลูกค้าที่มีความสำคัญต่อบริษัท และควรที่จะรับทราบการดำเนินการต่าง ๆ ของบริษัท บริษัท มีนโยบายและความมุ่งมั่นที่จะตั้งใจในการดูแลลูกค้าทุกท่านอย่างดีที่สุดในฐานะลูกค้าที่สำคัญภายใต้กระบวนการฟื้นฟูกิจการ ทั้งในส่วนของการคืนค่าบัตรโดยสาร การดูแลสมาชิกรอยัล ออร์คิด พลัส และบัตรโดยสารที่ท่านถืออยู่ จึงขอให้ลูกค้าไว้วางใจและเชื่อมั่นว่าบริษัทฯ จะสามารถก้าวผ่านวิกฤตและอุปสรรคในครั้งนี้ และกลับมาบริการทุกท่านตามปกติ

บริษัท ขอขอบพระคุณลูกค้าทุกท่านที่เข้าใจสถานการณ์ของบริษัทฯ และให้การสนับสนุนกิจการของบริษัทฯ มาโดยตลอด และหวังเป็นอย่างยิ่งว่าจะสามารถกลับมาให้บริการแก่ลูกค้าทุกท่านได้ภายหลังมาตรการเฝ้าระวัง ป้องกัน และควบคุมการแพร่ระบาดของการติดเชื้อไวรัสโคโรน่า 2019 ที่เกี่ยวกับการเดินทางเข้า-ออก ประเทศไทยได้รับการผ่อนปรน

ทั้งนี้ สามารถทราบรายละเอียดเกี่ยวกับกระบวนการตามกฎหมายตลอดจนสิทธิ หน้าที่และผลกระทบต่อท่านลูกค้า ได้ที่ https://bit.ly/2UEuSJp

โดยหนังสือชี้แจงดังกล่าว มีเนื้อหาว่า

บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) ได้เข้าสู่กระบวนการฟื้นฟูกิจการภายใต้การพิจารณาของศาลล้มละลายกลางเมื่อวันที่ 27 พฤษภาคม 2563 โดยศาลล้มละลายกลางได้มีการรับคำร้องขอฟื้นฟูกิจการของบริษัทฯ ได้กำหนดวันนัดไต่สวนคำร้องขอฟื้นฟูกิจการของบริษัทฯ ในวันที่ 17 สิงหาคม 2563
   บริษัทฯ มีความมุ่งมั่นและตั้งใจในการดูแลลูกค้าทุกท่านอย่างดีที่สุดในฐานะลูกค้าที่สำคัญภายใต้กระบวนการฟื้นฟูกิจการ ทั้งในส่วนของการคืนค่าบัตรโดยสาร การดูแลสมาชิกรอยัล ออร์คิด พลัส และบัตรโดยสารที่ท่านถืออยู่

กระบวนการทางกฎหมายที่จะเกิดขึ้นในอนาคต

   ขณะนี้ ศาลล้มละลายกลางได้กำหนดวันนัดไต่สวนคำร้องขอฟื้นฟูกิจการของบริษัทฯ ในวันที่ 17 สิงหาคม 2563 โดยบริษัทฯ ขอเรียนว่า หากไม่มีการคัดค้านคำร้องขอฟื้นฟูกิจการหรือผู้ทำแผน ในขั้นตอนต่อไป ศาลล้มละลายกลางจะมีคำสั่งให้บริษัทฯ ฟื้นฟูกิจการพร้อมทั้งตั้งผู้ทำแผนขึ้น จากนั้นจะมีการประกาศหรือโฆษณาคำสั่งตั้งผู้ทำแผนในราชกิจจานุเบกษา และภายหลังจากนั้น เจ้าหนี้ของบริษัทฯ ที่มีสิทธิเรียกร้องเป็นหนี้เงินต่อบริษัทฯ จะต้องยื่นคำขอรับชำระหนี้ต่อเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ กรมบังคับคดี โดยเจ้าหนี้จะต้องยื่นคำขอรับชำระหนี้ภายใน 1 เดือนนับตั้งแต่วันที่มีการประกาศคำสั่งตั้งผู้ทำแผนของศาลล้มละลายกลางลงในราชกิจจานุเบกษา ซึ่งบริษัทฯ คาดการณ์ว่า กระบวนการยื่นขอรับชำระหนี้น่าจะเกิดขึ้นประมาณช่วงเดือนกันยายนถึงตุลาคม 2563 หรือภายหลังจากนั้น

นโยบายการดูแลลูกค้าที่ขอคืนค่าบัตรโดยสารภายใต้กระบวนการฟื้นฟูกิจการ

   บริษัทฯ ต้องขออภัยต่อลูกค้าผู้มีอุปการคุณทุกท่านมา ณ ที่นี้อีกครั้ง จากการที่กระบวนการฟื้นฟูกิจการของบริษัทฯ ทำให้บริษัทฯ ไม่สามารถคืนค่าบัตรโดยสารให้แก่ทุกท่านเป็นการชั่วคราว แต่ท่านลูกค้ายังคงสามารถใช้บัตรโดยสารที่ถืออยู่ได้ตามปกติ โดยสามารถทำการเลื่อนการเดินทางออกไปเมื่อบริษัทฯ ได้กลับมาเปิดทำการบินอีกครั้งภายหลังมาตรการเฝ้าระวัง ป้องกัน และควบคุมการแพร่ระบาดของการติดเชื้อไวรัสโคโรน่า 2019 ที่เกี่ยวกับการเดินทางเข้า-ออก ประเทศไทยได้รับการผ่อนปรน บริษัทฯ ขอยืนยันต่อลูกค้าทุกท่านว่า ทางบริษัทฯ มีนโยบายที่จะดูแลและอำนวยความสะดวกแก่ลูกค้าที่ขอคืนค่าบัตรโดยสารทุกท่านอย่างดีที่สุด โดยบริษัทฯ ได้หารือกับคณะผู้ทำแผนที่บริษัทฯ เสนอเพื่อกำหนดแนวทางที่สามารถทำได้ตามกฎหมายเพื่อลดภาระหน้าที่ของลูกค้าที่ขอคืนค่าบัตรโดยสารซึ่งมีจำนวนประมาณสามแสนราย ซึ่งแนวทางเบื้องต้นที่สามารถลดภาระของลูกค้าที่ขอคืนค่าบัตรโดยสารทุกท่านได้อย่างดีที่สุด คือ การที่คณะผู้ทำแผนอาจกำหนดเงื่อนไขหรือรายละเอียดไว้ในแผนฟื้นฟูกิจการให้ครอบคลุมและรองรับสิทธิของลูกค้าที่ขอคืนค่าบัตรโดยสารทุกท่านโดยที่ลูกค้าแต่ละท่านไม่จำเป็นต้องเสียเวลาและค่าใช้จ่ายใด ๆ เพื่อดำเนินการยื่นคำขอรับชำระหนี้ต่อเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ ซึ่งกฎหมายกำหนดให้การดำเนินการข้างต้นเป็นอำนาจหน้าที่ของคณะผู้ทำแผนของบริษัทฯ ที่จะกำหนดไว้ในแผนฟื้นฟูกิจการได้

   ทั้งนี้ บริษัทฯ มีความมุ่งมั่นที่จะดำเนินการตามนโยบายนี้เพื่ออำนวยความสะดวกและรักษาสิทธิในการได้รับเงินค่าบัตรโดยสารคืนโดยที่ลูกค้าทุกท่านไม่ต้องเสียเวลาและค่าใช้จ่ายเพื่อดำเนินการใด ๆ ภายใต้กระบวนการฟื้นฟูกิจการ โดยบริษัทฯ จะเรียนแจ้งยืนยันแนวทางข้างต้นอย่างเป็นทางการให้ลูกค้าทุกท่านได้ทราบเมื่อศาลได้มีคำสั่งตั้งคณะผู้ทำแผนที่บริษัทฯ เสนอให้เป็นผู้ทำแผนฟื้นฟูกิจการต่อไป

นโยบายการดูแลสมาชิกโปรแกรมสะสมไมล์รอยัล ออร์คิด พลัส (Royal Orchid Plus)

   สำหรับสมาชิกโปรแกรมสะสมไมล์รอยัล ออร์คิด พลัส นั้น แม้ท่านจะไม่ใช่เจ้าหนี้ของบริษัทฯ ที่อาจยื่นขอรับชำระหนี้ในกระบวนการฟื้นฟูกิจการได้ เพราะไมล์สะสมของท่านเป็นการสะสมคะแนนเพื่อวัตถุประสงค์ในการแลกรางวัลต่างๆ เช่น บัตรโดยสารตามข้อกำหนดของบริษัทฯ แต่บริษัทฯ ก็ได้ตระหนักถึงความสำคัญยิ่งของท่านสมาชิกโปรแกรมสะสมไมล์รอยัล ออร์คิด พลัส และมุ่งมั่นที่จะมอบสิทธิประโยชน์ให้กับท่านสมาชิกอย่างต่อเนื่อง บริษัทฯ ยืนยันว่าไมล์รอยัล ออร์คิด พลัส ของท่านมีค่าเสมอ โดยสมาชิกโปรแกรมสะสมไมล์รอยัล ออร์คิด พลัส จะยังคงได้รับสิทธิประโยชน์จากสถานภาพสมาชิกและสถานภาพความเป็นสมาชิกของโปรแกรมสะสมไมล์รอยัล ออร์คิด พลัส ของท่านจะยังคงอยู่และท่านจะยังคงจะได้รับสิทธิประโยชน์ ภายใต้กระบวนการฟื้นฟูกิจการนี้ โดยสมาชิกโปรแกรมสะสมไมล์รอยัล ออร์คิด พลัส สามารถใช้สิทธิในการใช้ไมล์สะสมรอยัล ออร์คิด พลัส ได้ตามปกติเมื่อบริษัทฯ สามารถกลับมาให้บริการได้อย่างเต็มรูปแบบ ทั้งนี้ ท่านสมาชิกที่มีจำนวนไมล์ที่จะหมดอายุหรือสมาชิกที่สถานภาพบัตรปัจจุบันของท่านกำลังจะหมดอายุลง ทางบริษัทฯ กำลังดำเนินการขยายอายุไมล์สะสมหมดอายุและสถานภาพบัตรของท่านอย่างต่อเนื่องต่อไปอีก โดยจะแจ้งให้ท่านทราบถึงรายละเอียดต่อไปผ่านทางเว็บไซต์ thaiairways.com/rop บริษัทฯ ขอเรียนย้ำว่าสิทธิของท่านในฐานะสมาชิกโปรแกรมสะสมไมล์รอยัล ออร์คิด พลัสจะยังคงมีอยู่ตามเดิมโดยที่ท่านไม่ต้องยื่นขอรับชำระหนี้หรือดำเนินการทางกฎหมายใด ๆ ภายใต้กระบวนฟื้นฟูกิจการแต่อย่างใดเลย

นโยบายการดูแลลูกค้าที่ถือบัตรโดยสารการบินไทย

   สำหรับลูกค้าทุกท่านที่ถือบัตรโดยสารของบริษัทฯ ซึ่งยังไม่ได้ใช้บริการด้านการบิน อันมีสาเหตุมาจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรน่า 2019 (COVID-19) ที่ทำให้บริษัทฯ มีความจำเป็นต้องยกเลิกเที่ยวบินทั้งในประเทศและต่างประเทศนั้น ท่านจะไม่ใช่เจ้าหนี้ของบริษัทฯ ที่อาจยื่นขอรับชำระหนี้ในกระบวนการฟื้นฟูกิจการได้ เนื่องจากการถือบัตรโดยสารของท่านในขณะนี้ ถือเป็นสิทธิที่ท่านจะยังคงสามารถใช้บัตรโดยสารของบริษัทฯ ได้ เมื่อบริษัทฯ สามารถกลับมาดำเนินการให้บริการด้านการบินได้ตามปกติ ตามนโยบายและแผนการบินของบริษัทฯ ซึ่งจะถูกกำหนดขึ้นให้มีความเหมาะสมกับสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรน่า 2019 (COVID-19) ต่อไป ดังนั้น บริษัทฯ จึงขอให้ท่านมั่นใจและเชื่อมั่นว่า ท่านจะยังคงมีสิทธิในการใช้บัตรโดยสารของบริษัทฯ ทุกประการภายใต้กระบวนการฟื้นฟูกิจการของบริษัทฯ โดยที่ท่านไม่ต้องยื่นขอรับชำระหนี้หรือดำเนินการทางกฎหมายใด ๆ ภายใต้กระบวนฟื้นฟูกิจการแต่อย่างใดเลย

ซีพีเอฟ เสิร์ฟอาหารอุ่นพร้อมทานจาก Food Truck ถึงมือชาวหนองแขม

นายภาณุวัตร เนียมเปรม  และนายธีรยุทธ พัชรมณีปกรณ์ รองกรรมการผู้จัดการอาวุโส บริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) หรือซีพีเอฟ นำชาวซีพีเอฟจิตอาสา ร่วมมอบอาหารอุ่นร้อนพร้อมทาน จากรถ CPF Food Truck ในโครงการ “ส่งอาหารปลอดภัย จากใจ..สู่ชุมชน” ให้กับชาวชุมชนสวัสดิการหนองแขม ซึ่งเป็นกิจกรรมต่อเนื่อง เป็นครั้งที่ 20 เพื่อช่วยบรรเทาความเดือดร้อนด้านอาหารแก่ประชาชนใน 6 เขต พื้นที่กรุงเทพมหานคร

ซีพีเอฟ ส่งเสริมให้คนไทยเข้าถึงอาหารปลอดภัยได้มาตรฐาน เพื่อคุณภาพชีวิตที่ดี ผ่านโครงการฯ ดังกล่าว โดย ซีพีเอฟ จะจัดทีมจิตอาสา ส่งรถ CPF Food Truck ลงพื้นที่ทุกวันอังคาร วันพฤหัสบดี และวันเสาร์ ส่งมอบอาหารอุ่นร้อนให้กับชุมชนในกรุงเทพฯ อย่างต่อเนื่อง ภายใต้วิสัยทัศน์ “ครัวของโลก” ที่ให้ความสำคัญกับอาหารปลอดภัยสูงสุด และตรวจสอบย้อนกลับได้ตลอดห่วงโซ่การผลิต สอดคล้องกับทิศทางความรับผิดชอบอย่างยั่งยืนของบริษัทภายใต้ 3 เสาหลัก คือ อาหารมั่นคง สังคมพึ่งตน และดิน น้ำ ป่า คงอยู่ สนับสนุนความมั่นคงทางอาหาร และการผลิตอาหารคุณภาพดีอย่างยั่งยืน

สำหรับอาหารสำเร็จรูปที่นำมาแจกมีให้เลือกถึง 6 เมนู ได้แก่ ข้าวอกไก่ซอสจิ้มแจ่ว ข้าวผัดไก่ย่างซอสเกาหลี ข้าวไก่สไปซี่ ข้าวอกไก่ย่างซอสเกาหลี ข้าวตับกระเทียม และข้าวไข่เจียว พร้อมด้วยไข่ต้ม

หุ้นไทยสัปดาห์หน้า คาดเคลื่อนไหวในกรอบ 1350-1420 จุด

บริษัทหลักทรัพย์กสิกรไทย จำกัด คาดหุ้นไทยสัปดาห์หน้า (15-19 มิ.ย.) มีแนวรับที่ 1,370 และ 1,350 จุด ขณะที่แนวต้านอยู่ที่ 1,400 และ 1,420 จุด ตามลำดับ โดยหุ้นไทยในรอบสัปดาห์ที่ผ่านมาร่วงลงหลุดกรอบ 1,400 จุด เนื่องจากตลาดหุ้นไทยเผชิญแรงขายตามตลาดต่างประเทศ หลังปรับตัวรับแรงหนุนจากการทยอยเปิดเศรษฐกิจในหลายๆ ประเทศไปมากแล้วในช่วงก่อนหน้านี้

นอกจากนี้ มุมมองที่สะท้อนความกังวลต่อแนวโน้มเศรษฐกิจสหรัฐของเฟด และความเสี่ยงต่อการระบาดระลอกสองของโควิด-19 ในสหรัฐกระตุ้นแรงขายในตลาดหุ้นทั่วโลก รวมถึงตลาดหุ้นไทยในช่วงปลายสัปดาห์ โดยแรงขายหุ้นหลักๆ ในประเทศมาจากกลุ่มนักลงทุนสถาบัน

สำหรับปัจจัยสำคัญที่ต้องติดตาม ได้แก่ ความคืบหน้าการพิจารณามาตรการกระตุ้นภาคการท่องเที่ยว รวมถึงสถานการณ์โควิด-19 ทั้งในและต่างประเทศ ส่วนข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐที่สำคัญ ได้แก่ ยอดค้าปลีก ผลผลิตภาคอุตสาหกรรม และตัวเลขการเริ่มสร้างบ้านเดือนพฤษภาคม ขณะที่ปัจจัยต่างประเทศที่สำคัญอื่นๆ ได้แก่ การประชุมนโยบายการเงินของธนาคารกลางญี่ปุ่นและธนาคารกลางอังกฤษ ดัชนีราคาผู้บริโภคเดือนพฤษภาคมของญี่ปุ่น และยูโรโซน รวมถึงยอดค้าปลีก ผลผลิตภาคอุตสาหกรรมและ การลงทุนในสินทรัพย์ถาวรเดือนพฤษภาคมของจีน

เงาหุ้น : หุ้น Dividend&Defensive

ดัชนีหุ้นไทยวันที่ 12 มิ.ย.63 ปิดที่ 1,382.56 จุด ลบ 14.21 จุด มีมูลค่าซื้อขาย 85,786.80 ล้านบาท ต่างชาติขายสุทธิ 2,000.19 ล้านบาท

หุ้นมูลค่าซื้อขายสูงสุด SUPER ปิด 1.05 บาท บวก 0.05 บาท, BAM ปิด 25 บาท ลบ 0.50 บาท, PTT ปิด 37.25 บาท ลบ 1.25 บาท, MINT ปิด 22.80 บาท บวก 0.80 บาท, CPF ปิด 30.50 บาท ลบ 0.25 บาท

ฝ่ายวิจัย บล.เอเซียพลัส แนะให้โฟกัสและบริหารความเสี่ยงพอร์ตการลงทุนมากขึ้น เพื่อรองรับตลาดมีปรับฐานสูง โดยฝ่ายวิจัยได้ส่งสัญญาณเตือนในช่วงก่อนหน้านี้ ทั้ง 5 มิติ คือ 1.ตลาดหุ้นปรับตัวขึ้นมาแรงจนเกินมูลค่าเป้าหมาย ที่ฝ่ายวิจัยประเมินทุกวิธีการ ที่หุ้นไทยปรับตัวขึ้นมาเร็วกว่า 50% (จากกลาง มี.ค.ถึง 9 มิ.ย.63)

และทำจุดสูงสุดที่ 1,448.13 จุด สูงกว่าเป้าหมายที่ฝ่ายวิจัยประเมินทั้งปี 63 และปี 64 ที่ 1,164 จุด และ 1,407 จุด ตามลำดับ รวมถึงยังสูงกว่าดัชนีเป้าหมายที่กำหนดให้หุ้นทุกตัวเต็มมูลค่าพื้นฐานปี 63 และคิดกลับด้วยวิธี Implied Market Cap. ได้ดัชนีเป้าหมายที่ 1,441 จุด

2.ตลาดหุ้นอยู่ในภาวะเก็งกำไรเต็มตัวจากมูลค่าซื้อขายที่กระโดดขึ้นไปสูงเกิน 1 แสนล้านบาท/วัน 4 วันติดต่อกัน ส่งผลให้ตลาดมีความผันผวนมากขึ้น 3.สัดส่วนหุ้นไทยกว่า 30% จากทั้งหมด มี RSI อยู่ในโซน Overbought เป็นหนึ่งในสัญญาณเตือนว่าตลาดมีโอกาสปรับฐาน

4.ตลาดหุ้น S&P500 ปรับตัวขึ้นแรง พร้อมกับดัชนีความกลัวที่เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ (ปกติจะสวนทางกัน) คือ 2-9 มิ.ย. ดัชนี S&P500 ปรับขึ้น 4.2% ขณะเดียวกัน VIX Index ทยอยปรับเพิ่มขึ้นกว่า 2.7% แสดงให้เห็นว่าตลาดหุ้นสหรัฐฯเอง แม้จะปรับตัวขึ้นเรื่อยๆ แต่ก็แฝงไปด้วยความระแวงในการปรับฐานในระยะถัดไป

5.ตลาดหุ้นไทยถูกซื้อขายกันบน P/E ที่สูงถึง 22 เท่า (แพงสุดในภูมิภาค) ด้วยความคาดหวังว่าจะมีสภาพคล่องส่วนเกินมาหนุนเรื่อยๆ แต่สภาพคล่องส่วนเกินในช่วงนี้อาจไม่ได้ผลักดันดัชนีให้ปรับขึ้นร้อนแรงเหมือนในอดีต

ดังนั้น ถ้านักลงทุนติดตามมาอย่างต่อเนื่อง น่าจะป้องกันผลตอบแทนในพอร์ตให้ได้กำไรอย่างสม่ำเสมอ จากกลยุทธ์ตั้งจุดล็อก

กำไร เพื่อลดความเสี่ยงยามตลาดผันผวน ตามพอร์ตจำลองที่มีการล็อกกำไรไป 5 บริษัท ในเดือน มิ.ย.ที่ผ่านมา คือ LH, AMATA, STEC, CPALL, BCPG และ BDMS

พร้อมกับเน้นลงทุนหุ้นดีดี (Dividend & Defensive) อย่าง BTSGIF–EGCO–DCC–TTW เป็นต้น

ที่มา คอลัมน์ เงาหุ้น โดย อินเด็กซ์51 หนังสือพิมพ์ ไทยรัฐ

แบงก์ชาติ แจงหนี้สิน 6 ล้านล้านบาท ไม่เป็นหนี้สาธารณะ และไม่เป็นภาระประเทศ

นางจันทวรรณ สุจริตกุล ผู้ช่วยผู้ว่าการสายสื่อสารและความสัมพันธ์องค์กร ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยว่า ตามที่มีความเข้าใจผิดเกี่ยวกับเรื่องหนี้สินของ ธปท. มูลค่า 6 ล้านล้านบาท เป็นหนี้สาธารณะที่จะเป็นภาระต่อผู้เสียภาษีในระยะต่อไปนั้น ขอเรียนว่า รายงานดังกล่าวเป็นการแสดงรายการงบการเงิน ของ ธปท. ที่เกิดจากการทำหน้าที่ปกติของธนาคารกลาง เช่น เมื่อระบบการเงินมีสภาพคล่องส่วนเกิน ธปท. จะออกตราสารหนี้ เพื่อดูดซับสภาพคล่องเข้ามาเก็บไว้ที่ ธปท. ในทางตรงกันข้ามหากระบบการเงินต้องการสภาพคล่อง ธปท. ก็จะลดยอดการออกตราสารหนี้เพื่อปล่อยสภาพคล่องเข้าสู่ระบบ เพื่อให้เกิดความสมดุลในตลาดการเงิน โดยสินทรัพย์และหนี้สินดังกล่าวเกิดจากการดำเนินนโยบายการเงินตามบทบาทหน้าที่ของ ธปท. โดยเฉพาะการเข้าซื้อเงินตราต่างประเทศในช่วงที่มีเงินทุนไหลเข้ามาจำนวนมาก ดังนั้น หนี้สินที่ปรากฏจะมีรายการคู่ขนานที่เป็นด้านสินทรัพย์ที่ส่วนใหญ่อยู่ในรูปของเงินตราต่างประเทศอยู่ด้วย

ทั้งนี้ หนี้สินในงบการเงินของ ธปท. เช่นเดียวกับธนาคารกลางในประเทศต่างๆ ไม่ถือว่าเป็นหนี้สาธารณะ ไม่เป็นภาระต่อฐานะการคลังของประเทศ แต่เกิดจากการดำเนินงานตามภารกิจของธนาคารกลาง ที่สะท้อนกิจกรรมในการบริหารสภาพคล่องในระบบการเงิน

3 มาตรการช่วยเหลือลูกหนี้กองทุนหมุนเวียนฯ สู้โควิด-19

รายงานข่าวจากกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ได้ออก 3 มาตรการเพื่อช่วยเหลือผู้กู้ยืมจากกองทุนหมุนเวียนเพื่อการกู้ยืมแก่เกษตรกรและผู้ยากจน  ที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ซึ่งมีผลบังคับใช้แล้วตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป ประกอบด้วย

1. คิดดอกเบี้ยแก่ผู้กู้ยืมในอัตราร้อยละ 0 ต่อปีของเงินต้น เป็นระยะเวลา 6 เดือน นับตั้งแต่วันที่ 1 พ.ค. – 31 ต.ค. 63 ยกเว้นลูกหนี้ที่ถูกดำเนินคดีและศาลได้มีคำพิพากษาหรือคำพิพากษาตามยอมแล้ว

2. งดการขายทอดตลาดแก่ผู้กู้ยืมหรือผู้ค้ำประกันที่สำนักงานปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ได้ดำเนินการยึดทรัพย์ไว้ทุกราย ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างขั้นตอนการขายทอดตลาด เป็นระยะเวลานับตั้งแต่วันที่กรมบังคับคดีได้รับแจ้งจากสำนักงานปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ถึงวันที่ 31 ต.ค. 63

3. ชะลอการบังคับคดีแก่ผู้กู้ยืมหรือผู้ค้ำประกันเป็นระยะเวลานับตั้งแต่วันที่กรมบังคับคดีได้รับแจ้งจากสำนักงานปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ถึงวันที่ 31 ต.ค. 63 เว้นแต่กรณีที่ใกล้สิ้นระยะเวลาบังคับ

สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ สำนักงานเกษตรและสหกรณ์จังหวัด/ สำนักงานเกษตรอำเภอทั่วประเทศ/ สำนักงานบริหารกองทุนเพื่อช่วยเหลือเกษตรกรและรับเรื่องร้องเรียน โทร. 0 2280 3915 ในวันและเวลาราชการ