Home Blog Page 39

เอไอเอส นำดิจิทัลแพลตฟอร์ม สนับสนุนเด็กไทยเรียนออนไลน์เต็มขั้น

นายปรัธนา ลีลพนัง หัวหน้าคณะผู้บริหารกลุ่มลูกค้าทั่วไป เอไอเอส เปิดเผยว จากการเลื่อนเปิดเทอมออกไปเป็นวันที่ 1 กรกฎาคม 2563 เพื่อป้องกันการแพร่ระบาดไวรัส ส่งผลให้การเรียนออนไลน์กลายเป็น “ชีวิตวิถีใหม่” ของเยาวชนไทยในช่วงสถานการณ์โควิด-19 เอไอเอส ในฐานะ Digital Life Service Provider จึงได้นำศักยภาพเครือข่ายอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงและดิจิทัล 3 แพลตฟอร์มที่ล้ำสมัย เข้ามาร่วมสนับสนุน และสร้างโอกาสให้ การเรียนออนไลน์ สามารถเข้าถึงเยาวชนในทุกพื้นที่ทั่วประเทศได้อย่างมีประสิทธิภาพและหลากหลาย ควบคู่ไปกับการส่งเสริมให้เกิดการใช้สื่อดิจิทัลอย่างปลอดภัยและสร้างสรรค์

1) AIS PLAY เรียนออนไลน์ได้แบบสนุก ภาพคมระดับ HD ชัดสุด ครบทุกช่อง
เปิดให้รับชมช่องเพื่อการศึกษา DLTV บน AIS PLAY ดูสดพร้อมกันทั่วประเทศ โดยมีเนื้อหาจากมูลนิธิการศึกษาทางไกลผ่านดาวเทียม ครอบคลุมทุกระดับชั้น ตั้งแต่อนุบาล 1 ถึงมัธยมศึกษาปีที่ 6 พร้อมช่องดิจิทัลทีวีของอาชีวศึกษา หรือ VEC TV และ สถานีโทรทัศน์เพื่อการศึกษา กระทรวงศึกษาธิการ หรือ ETV และ การศึกษานอกโรงเรียน ครบทั้ง 17 ช่อง เพียงเลือกเมนู LIVE TV แล้วเลือกช่องตามระดับชั้นเรียน ช่อง 700 – 716
นอกจากนี้ ยังเสริมวิตามินความรู้ กับหมวด “การศึกษา | สารคดี” เปิดสมอง เสริมความรู้ กับ ติวเตอร์ชื่อดัง ในรูปแบบของวิดีโอออนดีมานด์ คลิปวิดีโอการเรียนการสอนแบบสนุก เข้าใจง่าย จะดูเมื่อไรก็ได้ตามต้องการ อาทิ

2) “แอปพลิเคชัน StartDee” มิติใหม่การเรียนเพื่อเด็กไทย พร้อมสิทธิพิเศษให้ผู้ใช้ AIS One-2-Call! ZEED SIM เรียนออนไลน์ ไม่เสียค่าเน็ต จับมือพันธมิตรสตาร์ทอัพด้านการศึกษา “StartDee” แอปพลิเคชันด้านการเรียนรู้รูปแบบใหม่ที่ปรับเปลี่ยนได้ตามความสามารถของผู้เรียน (Personalized Learning) ตอบโจทย์ความต้องการที่แตกต่างกันของนักเรียน ครอบคลุมเนื้อหาทุกระดับชั้น ทุกแผนการเรียน ทุกวิชา ในระดับชั้นประถมศึกษาและมัธยมศึกษา เข้าเรียนได้ง่ายๆ ทุกที่ ทุกเวลา บนสมาร์ทโฟน โดยเอไอเอสได้สนับสนุนอินเทอร์เน็ตเพื่อการศึกษา มอบสิทธิพิเศษให้เด็กเรียนออนไลน์ผ่านแอป StartDee ไม่เสียค่าเน็ต เป็นเวลา 3 เดือน สำหรับผู้ใช้ AIS One-2-Call! ZEED SIM ทั้งลูกค้าปัจจุบันและลูกค้าใหม่ พร้อมเปิดให้เด็กไทยทุกคน สามารถลงทะเบียนขอรับ ZEED SIM ฟรี ตั้งแต่วันที่ 15 พ.ค.63 – 30 มิ.ย. 2563 ที่แอปพลิเคชัน StartDee อีกด้วย โดยผู้ใช้บริการมือถือทุกเครือข่าย สามารถดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน AIS PLAY ไว้ที่เครื่อง และเข้าใช้งาน ดูคอนเทนต์ได้ฟรี! (ไม่คิดค่าคอนเทนต์) โดยเชื่อมต่อเน็ตบนเครือข่ายมือถือ, WiFi หรือ เน็ตบ้านก็ได้ (คิดเฉพาะค่าเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตตามแพ็กเกจที่ใช้งานของแต่ละค่าย)

  • เรียนภาษาจีนแบบอีซี่ๆ ในรายการ Chinese is all around กับเหล่าซือรุ่นใหม่วัยรุ่นฝุดๆ ทั้งซีซั่น 1 และ 2 รวม 68 ตอน
  • “ติวฟรี” โครงการดีๆ จากติวเตอร์ชื่อดังทั่วประเทศ สร้างโอกาสเข้าถึงการศึกษาของเด็กไทยอย่างเท่าเทียม สอนสนุกสไตล์พี่สอนน้อง เหมือนเข้าไปนั่งเรียนอยู่ในโรงเรียนกวดวิชา สะดวก ประหยัด จัดเต็มเนื้อหา O-NET ป.6, ม.3 และ ม.6 คมชัด เข้มข้น ทุกเทคนิค เตรียมความพร้อมลุยสนามสอบจริง
  • เปิดโลกกับสารคดี สุดตื่นตาตื่นใจกับธรรมชาติแสนอัศจรรย์จากทุกมุมโลก กว่า 100 ตอน เพื่อทุกคนในครอบครัวกักตัวอย่างมีความสุข ผ่อนคลาย ได้สาระประโยชน์

3) ชุดการเรียนรู้เพื่อการพัฒนาทักษะทางดิจิทัล DQ (Digital Quotient) สร้างภูมิคุ้มกันในการใช้งานอินเทอร์เน็ตอย่างสร้างสรรค์และปลอดภัยให้กับเยาวชนไทย ร่วมรณรงค์ให้ทุกครอบครัวได้ใช้เวลาร่วมกัน เพื่อชี้แนะ ดูแล และส่งเสริมให้บุตรหลาน มีความตระหนักรู้ถึงภัยไซเบอร์ที่อาจเกิดขึ้นกับตนเอง หากใช้ดิจิทัลอย่างไม่ระมัดระวัง รวมถึงสร้างจิตสำนึกในการใช้สื่อดิจิทัลอย่างปลอดภัยและสร้างสรรค์ กับ 8 ทักษะ การเอาตัวรอดและรับมือภัยบนโลกออนไลน์ สนับสนุนมาตรการ “อยู่บ้าน หยุดเชื้อ เพื่อชาติ ฉลาดใช้ดิจิทัล” โดยเอไอเอสได้ร่วมกับสถาบัน DQ ผู้เชี่ยวชาญที่ศึกษาและวิจัยพัฒนาชุดการเรียนรู้ DQ สำหรับเด็กทั่วโลก เปิดให้คนไทยทุกครอบครัว ทุกเครือข่าย (ไม่เฉพาะระบบเอไอเอส) สามารถเข้าไปเรียนรู้ทักษะความฉลาดทางดิจิทัล DQ ในรูปแบบของอินเตอร์แอคทีฟมัลติมีเดีย และแอนิเมชันสนุกๆ ได้ที่เว็บไซต์ www.ais.co.th/dq ฟรี! ไม่มีค่าใช้จ่ายใดๆ

ลงทุนในหุ้นขอฟื้นฟูกิจการ ต้องระวังถูกลดทุน

ท่ามกลางวิกฤติ COVID-19 และการใช้มาตรการล็อกดาวน์ ส่งผลให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจหลายภาคส่วนต้องหยุดชะงักลงอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ โดยเฉพาะภาคบริการในอุตสาหกรรมท่องเที่ยวที่ได้รับผลกระทบอย่างรุนแรง

แม้ภาคธุรกิจจะพยายามปรับตัวเพื่อความอยู่รอด แต่เชื่อว่าจะมีหลายกิจการจำเป็นต้องปิดตัวลง หรือต้องเข้าสู่กระบวนการฟื้นฟูกิจการภายใต้ศาลล้มละลาย จากปัญหาการขาดสภาพคล่องและเผชิญกับภาวะขาดทุน ดังนั้น กิจการที่มีฐานะการเงินไม่แข็งแกร่ง จะทำให้มีหนี้สินมากกว่าทรัพย์สิน หรือกล่าวอีกนัยหนึ่ง คือ ส่วนของผู้ถือหุ้นติดลบนั่นเอง

การเข้าสู่กระบวนการฟื้นฟูกิจการภายใต้ศาลล้มละลาย ถึงแม้จะเป็นทางรอดของธุรกิจ แต่เป็นเรื่องเจ็บปวดของผู้ถือหุ้น เพราะโดยหลักการทั่วไปแล้วจะต้องดำเนินการลดทุนจดทะเบียน จนแทบไม่เหลืออะไรเลยก่อนเป็นอันดับแรก เพื่อให้ผู้ถือหุ้นเดิมรับผิดชอบความเสียหายที่เกิดขึ้น หลังจากนั้นจึงจะมีการเจรจากับเจ้าหนี้ ทั้งเรื่องแนวทางการฟื้นฟูกิจการและการปรับโครงสร้างหนี้

การลดทุนจดทะเบียนลงจนใกล้ศูนย์ มีนัยสำคัญต่อราคาหุ้นอย่างมาก เพราะในทางทฤษฎี หมายถึงหุ้นแทบไม่เหลือมูลค่าอะไรเลย ดังนั้น จึงไม่น่าประหลาดใจที่ในอดีต ราคาหุ้นของบริษัทที่มีแนวโน้มเข้าสู่กระบวนการฟื้นฟูกิจการ ส่วนใหญ่จะปรับตัวลงอย่างต่อเนื่องจนแทบจะเป็นศูนย์ เพราะเป็นการสะท้อนความเสี่ยงในการถูกลดทุน รวมถึงความไม่แน่นอนของแผนฟื้นฟูกิจการ ซึ่งจะสำเร็จหรือไม่ ต้องใช้เวลานานในการพิสูจน์

แนวทางการฟื้นฟูกิจการ และการปรับโครงสร้างหนี้ อาจมีทั้งการยืดระยะเวลาชำระหนี้ออกไป, การยกหนี้ดอกเบี้ยให้-จ่ายเฉพาะเงินต้น, การลดเงินต้นให้บางส่วน (Hair-cut), การแปลงหนี้เป็นทุน, การเพิ่มทุนให้แก่ผู้ถือหุ้นเดิมหรือผู้ถือหุ้นรายใหม่ ซึ่งจะขึ้นอยู่กับรายละเอียดของแผนฟื้นฟูกิจการของแต่ละบริษัทที่จะต้องได้รับความเห็นชอบจากทุกฝ่าย โดยเฉพาะจากฝั่งของเจ้าหนี้

จากการรวบรวมข้อมูลของบริษัทหลักทรัพย์ทิสโก้ นับตั้งแต่วิกฤติต้มยำกุ้งปี 1997 มีบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ ยื่นขอฟื้นฟูกิจการภายใต้ศาลล้มละลายกว่า 52 บริษัท แบ่งเป็น

  1. บริษัทที่ฟื้นฟูกิจการไม่สำเร็จ ถูกเพิกถอนออกจากตลาดไปแล้ว 20 บริษัท หรือคิดเป็นสัดส่วนประมาณ 38%
  2. บริษัทที่ยังอยู่ระหว่างการฟื้นฟู 9 บริษัท ซึ่งปัจจุบันถูกตลาดหลักทรัพย์ฯ ระงับการซื้อขาย และ
  3. บริษัทที่ฟื้นฟูกิจการสำเร็จ สามารถกลับมาซื้อขายได้ตามปกติ 23 บริษัท คิดเป็นสัดส่วนที่ 44% หรือไม่ถึงครึ่งหนึ่ง และโดยเฉลี่ยจะใช้เวลาฟื้นฟูกิจการราว 7 ปี (ถูกขึ้นเครื่องหมาย SP สูงสุด 18 ปี, น้อยสุด 1 ปี)

จะเห็นได้ว่า การลงทุนในหุ้นที่ขอฟื้นฟูกิจการแฝงด้วยความเสี่ยงที่สูงมาก ทั้งในแง่ของการสูญเสียเงินลงทุนไปทั้งหมดจากการถูกลดทุน หรือกิจการฟื้นฟูไม่สำเร็จ และมีระยะเวลาการลงทุนที่ไม่แน่นอน ดังนั้น จึงเหมาะสำหรับนักลงทุนที่รับความเสี่ยงสูงมากได้เท่านั้น และนักลงทุนควรศึกษาข้อมูลก่อนการตัดสินใจลงทุนอย่างรอบคอบ

บทความจาก บล. TISCO

หลังโควิด-19 ธุรกิจสายการบิน/อสังหาฯ เจอปัญหารุมเร้า ส่วนขนส่งสินค้าและสุขภาพฟื้นตัวเร็ว

ดร.ชาติชาย พยุหนาวีชัย ผู้อำนวยการธนาคารออมสิน เปิดเผยว่า สถานการณ์โควิด-19 ทำให้กองทุนการเงินระหว่างประเทศ หรือ IMF และองค์การการค้าโลก หรือ WTO คาดว่าเศรษฐกิจและการค้าโลกในปี 2563 มีแนวโน้มหดตัวร้อยละ -3.0 และ -12.9 (%yoy) ตามลำดับ โดยเฉพาะในประเทศที่มีการระบาดรุนแรงในระดับสูงมาก เช่น สหรัฐฯ และ ทวีปยุโรป

ดร.ชาติชาย พยุหนาวีชัย ผู้อำนวยการธนาคารออมสิน

สำหรับไทย แม้ว่าสถานการณ์จะไม่รุนแรงมากนักเมื่อเทียบกับหลายประเทศ แต่ผลกระทบที่เกิดขึ้นต่อระบบเศรษฐกิจของไทยยังคงมีความรุนแรงและคาดว่าเศรษฐกิจไทยจะได้รับผลกระทบสูงที่สุดในภูมิภาคอาเซียน ซึ่งธนาคารแห่งประเทศไทยและ IMF คาดว่าเศรษฐกิจไทยในปี 2563 อาจมีแนวโน้มหดตัวสูงถึงร้อยละ -5.3 และ -6.7 ตามลำดับ เนื่องจากประเทศไทยมีการพึ่งพาภาคการท่องเที่ยวและการส่งออกสินค้าในระดับที่สูงมาก ระบบเศรษฐกิจจึงได้รับผลกระทบต่อเนื่องจากปัจจัยภายนอกรุนแรง ทั้งจากจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติที่หายไป รวมถึงการส่งออกของไทยมีแนวโน้มหดตัวจากการชะลอตัว/หดตัวของเศรษฐกิจของประเทศคู่ค้าสำคัญไม่ว่าจะเป็นอาเซียน สหรัฐฯ จีน ญี่ปุ่น และอียู

นอกจากนี้ ยังได้รับผลกระทบเพิ่มจากมาตรการต่างๆ เพื่อควบคุมการระบาดของไวรัสของภาครัฐ โดยเฉพาะการ Lockdown พื้นที่และหลายกิจกรรมทางเศรษฐกิจ โดยเฉพาะผลกระทบที่ต่อเนื่องถึงการจ้างงาน การอยู่รอดของกิจการ และการลดลงของกำลังซื้อของคนในประเทศ ซึ่งผลกระทบดังกล่าวได้เกิดขึ้นเป็นวงกว้างต่อระบบเศรษฐกิจและกลุ่มธุรกิจใน Sector ต่างๆ เกือบทั้งหมด

ทั้งนี้ หากวิกฤตการระบาดผ่านพ้นและสถานการณ์ทุกอย่างกลับเข้าสู่สภาวะปกติได้ภายในครึ่งปีหลัง ก็คาดว่าเศรษฐกิจไทยจะฟื้นตัวแบบค่อยเป็นค่อยไปในลักษณะ U-Shape และธุรกิจที่ได้รับผลกระทบคาดว่าจะทยอยฟื้นตัว แต่จะใช้เวลาในการฟื้นตัวมากหรือน้อยนั้น ขึ้นอยู่กับลักษณะจำเพาะหรือโครงสร้างของแต่ละกลุ่มธุรกิจ รวมถึงความรุนแรงของผลกระทบที่ได้รับที่แตกต่างกัน

ศูนย์วิจัยธนาคารออมสิน ได้คาดการณ์แนวโน้มการฟื้นตัวของกลุ่มธุรกิจหลัง COVID-19 โดยมองว่า การฟื้นตัวของแต่ละธุรกิจจึงมีระยะเวลาที่แตกต่างกัน แบ่งธุรกิจ ได้เป็น 3 กลุ่ม ดังนี้

  • กลุ่มธุรกิจที่คาดว่ามีแนวโน้มการฟื้นตัวเข้าสู่ภาวะปกติได้เร็ว (ภายใต้สมมติฐานเปิดประเทศภายในครึ่งปีหลัง และการเร่งเบิกจ่ายงบประมาณ รวมถึงการกระตุ้นเศรษฐกิจของประเทศสามารถทำได้อย่างรวดเร็ว) ธุรกิจการขนส่งสินค้าและโดยสารทั่วไป (ทางบกและทางน้ำ), ธุรกิจสื่อสาร, ธุรกิจคลังสินค้า, ธุรกิจไปรษณีย์/การรับส่งของ, ธุรกิจผลิตผลิตภัณฑ์อาหาร, ธุรกิจสุขภาพ (การแพทย์และอนามัย), ธุรกิจขายปลีกสมัยใหม่ เช่น ห้างสรรพสินค้า ไฮเปอร์มาร์เก็ต ร้านสะดวกซื้อ เป็นต้น, ธุรกิจผลิตอุปกรณ์วิทยาศาสตร์/การแพทย์, ธุรกิจผลิตอะไหล่รถยนต์/รถจักรยานยนต์, ธุรกิจประกันสุขภาพ และธุรกิจการศึกษาออนไลน์
  • กลุ่มธุรกิจที่คาดว่ามีแนวโน้มการฟื้นตัวเข้าสู่ภาวะปกติได้ปานกลาง (ภายใต้สมมติฐานเปิดประเทศภายในครึ่งปีหลัง และการเร่งเบิกจ่ายงบประมาณ รวมถึงการกระตุ้นเศรษฐกิจของประเทศสามารถทำได้อย่างรวดเร็ว) ธุรกิจการขนส่งโดยสารเพื่อการท่องเที่ยว (ทางบกและทางน้ำ), ธุรกิจโรงแรม, ตัวแทนธุรกิจเดินทาง/นำเที่ยว, ธุรกิจร้านอาหารและเครื่องดื่ม, ธุรกิจบันเทิง, ธุรกิจขายส่งขายปลีกที่เป็นรายย่อย, ธุรกิจผลิตเครื่องดื่ม, ธุรกิจผลิตกระเบื้อง/เครื่องปั้นดินเผา/ผลิตภัณฑ์แก้ว, ธุรกิจผลิตเครื่องจักร, ธุรกิจผลิตชิ้นส่วนเครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์, ธุรกิจกระดาษ, ธุรกิจเคมีภัณฑ์, ธุรกิจเหล็ก, ธุรกิจผลิตซีเมนต์/คอนกรีต, ธุรกิจประมงฯ, ธุรกิจก่อสร้าง, สถาบันการเงิน, ธุรกิจประกันภัย/ประกันอุบัติเหตุ และธุรกิจการศึกษา
  • กลุ่มธุรกิจที่คาดว่ามีแนวโน้มการฟื้นตัวเข้าสู่ภาวะปกติได้ช้า ธุรกิจขนส่งทางอากาศ (สายการบิน), ธุรกิจผลิตเชื้อเพลิง, ธุรกิจรถยนต์ และธุรกิจอสังหาริมทรัพย์

คาดว่าจากเหตุการณ์นี้จะมีธุรกิจจำนวนไม่น้อยที่ต้องปิดกิจการไปเนื่องจากอาจเป็นธุรกิจขนาดเล็ก มีสภาพคล่องไม่เพียงพอที่จะหล่อเลี้ยงพนักงานและธุรกิจในช่วงที่มีปัญหาต่อเนื่องกันหลายเดือน หรืออาจเป็นธุรกิจที่เข้าถึงแหล่งเงินทุนและความช่วยเหลือจากภาครัฐได้ค่อนข้างยาก ส่งผลให้ไม่สามารถก้าวผ่านวิกฤตในครั้งนี้ไปได้ นอกจากนี้จากการที่ประเทศพึ่งพารายได้จากการส่งออกและการท่องเที่ยวเป็นหลัก ล้วนส่งผลให้การฟื้นตัวของธุรกิจส่วนใหญ่ของประเทศต้องขึ้นอยู่กับการฟื้นตัวของเศรษฐกิจประเทศคู่ค้าหลักที่ไทยมีการส่งออก หรือเป็นประเทศหลักที่สร้างรายได้จากการท่องเที่ยวให้กับประเทศไทย ซึ่งบทเรียน COVID-19 น่าจะเป็นสิ่งที่ส่งผลให้ธุรกิจควรต้องตระหนักถึงการเตรียมพร้อมเพื่อรับมือกับเหตุการณ์ที่ไม่คาดคิด อาทิ ไม่ควรหวังการพึ่งพารายได้จากภายนอกประเทศโดยเฉพาะประเทศใดประเทศหนึ่งมากจนเกินไป ควรมีการสำรองเงินทุนให้เพียงพออย่างน้อย 6 เดือนเพื่อเป็นสภาพคล่องยามฉุกเฉิน และไม่ควรมีภาระหนี้สินที่มากจนเกินไป รวมถึงสัดส่วนของรายได้ควรจะกระจายกลุ่มลูกค้าเพื่อลดความเสี่ยงให้กับกิจการ

ทั้งนี้ ในระยะยาวธุรกิจควรต้องเตรียมปรับตัวเพื่อรองรับการเปลี่ยนแปลงต่าง ๆ ที่จะเกิดขึ้นในโลกของธุรกิจ รวมถึง New Normal ใหม่ ๆ ของสังคมที่จะทำให้บางธุรกิจถูกพลิกโฉมไปตลอดกาล อาทิ

● การนำเทคโนโลยีมาใช้ในการผลิตเพื่อลดต้นทุนค่าแรงงานในระยะยาว รวมถึงการใช้เทคโนโลยีเพื่อช่วยในด้านการค้า การตลาด การชำระค่าสินค้าและบริการ รวมถึงการนำเทคโนโลยี AR มาใช้เพิ่มขึ้น เช่น ธุรกิจค้าปลีกที่มี Platform Online หรือเป็น E-Commerce สามารถนำเทคโนโลยีดังกล่าวมาใช้ เพื่อให้ลูกค้าสามารถลองสินค้าผ่านภาพเสมือนจริงและตัดสินใจซื้อสินค้าได้ง่ายขึ้น

● การพัฒนาศักยภาพการผลิตให้สามารถแข่งขันได้ และควรเตรียมพัฒนาสินค้าให้ตอบโจทย์ กับความต้องการใหม่ๆ New Normal ใหม ๆ ที่จะเน้นใช้งานสินค้าและบริการที่ใช้เทคโนโลยีขั้นสูงเพิ่มขึ้น

● การเตรียมความพร้อมเพื่อรองรับการเปลี่ยนแปลงของการค้าและการลงทุนของโลก หลัง Covid-19 ที่หลายประเทลศคาดว่าจะลดความยาวของห่วงโซ่การผลิต (Supply Chain) ลง รวมถึงลดการพึ่งพิงการผลิตสินค้าหรือการนำเข้าจากประเทศใดประเทศหนึ่ง และหันไปกระจายการผลิต หรือนำเข้าสินค้าจากหลายๆ ประเทศแทน ตลอดจนอาจมีการลดการลงทุนทางตรง (FDI) จากการที่บริษัทข้ามชาติในหลายประเทศกลับไปผลิตที่ประเทศตนเอง ซึ่งจากเทคโนโลยีสมัยใหม่ เช่น Robotic, 3D printing, IoT ทำให้การผลิตทำได้โดยง่าย และไม่จำเป็นต้องใช้แรงงานมากเหมือนในอดีต เพื่อลดความเสี่ยงจาก Supply Chain หากเกิดสถานการณ์ฉุกเฉินและมีการปิดประเทศ” ดร.ชาติชาย กล่าว

เริ่มต้นออม ด้วยการบันทึกรายรับรายจ่าย

“การออม” เป็นสิ่งที่หลายคนมักมองข้าม และมีข้ออ้างเสมอที่จะไม่ลงมือทำ

ไม่ได้เกิดบนกองเงินกองทอง … ทุกวันนี้ แค่กินยังไม่พอเลย…. จะทำได้จริงเหรอ …. รายจ่ายมากกว่ารายรับ แล้วจะเอาอะไรมาออม… ฯลฯ

อยากบอกว่า เข้าใจทุกคน เข้าใจทุกเหตุผล

เพียงแต่ หากไม่เริ่มลงมือทำแล้วเมื่อไรจะมีเงินเก็บ เงินออม ไว้ใช้ยามฉุกเฉิน หรือสานฝัน ตัวเอง

วันนี้ อยากแนะนำให้ทุกคน เริ่มจดบันทึกรายรับรายจ่าย

หลายคนถาม ทำเพื่อ?

ก็เพื่อให้รู้ฐานะการเงินจริงๆของตัวเอง ว่า หลอกตัวเองอยู่หรือเปล่า

ทำให้ได้ 3 อย่าง

1.จดรายรับแต่ละเดือน
2.แบ่งเงินเก็บก่อนใช้ อย่างน้อย 10% ได้ก็ดี
3.เอาเงินส่วนที่เหลือมาวางแผนใช้จ่าย

ตลาดหลักทรัพย์ฯ เค้ามีแอปฯ Happy Money ไว้ให้ดาวน์โหลดได้ ฟรี สำหรับคนที่อยาก “เริ่มต้น”

และรณรงค์ให้คนไทยหันมาเริ่มต้นบริหารเงินที่ “คนไทย” ควรรู้ 3 ขั้นตอน

1. จดรับ-จ่ายทุกวัน กับเมนูรายได้และค่าใช้จ่าย บันทึกให้สม่ำเสมอ เริ่มต้นสัก 1 เดือน แล้วเราจะรู้ว่า เงินที่หามาได้ เดือนๆนึง หมดไปกับอะไรบ้าง ทั้งที่จำเป็น และไม่จำเป็น เราจะได้วางแผนใช้จ่ายได้ในเดือนหน้า

2. บันทึกฐานะการเงินที่แท้จริง กับเมนูสินทรัพย์และหนี้สิน บันทีกสินทรัพย์ หนี้สิน ทั้งหมดที่มี เราจะได้รู้ว่า เรารวยจริง จนหลอก หรือ จนจริง รวยหลอก

3. อ่านผลสุขภาพการเงิน กับเมนูวิเคราะห์ผล เพื่อให้ทราบ ความมั่งคั่งในปัจจุบัน, สภาพคล่อง, ความสามารถในการชำระหนี้ และโอกาสในการสร้างความมั่งคั่ง

เริ่มลงมือจดบันทึก อย่างมีวินัย ทำต่อเนื่อง แล้วเราจะรู้ตัวว่า เราต้องจัดการกับรายจ่ายยังไง ต้องเพิ่มรายรับ บริหารหนี้สิน แล้วเราก็จะมีเงินออม ไว้ใช้ยามฉุกเฉิน ใช้จ่ายกับเป้าหมาย หรือไปลงทุน ขยายดอกผลได้อีก

มีแผนเมื่อไร มีออมเมื่อนั้น

สนใจแอปฯ Happy Money โหลดได้เลย ตลาดหลักทรัพย์ฯ เค้าแจก ฟรี

ที่มา ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย

เงาหุ้น : ซื้อหุ้นSET100!!

ดัชนีหุ้นไทยวันที่  19 พ.ค. 63   ปิดที่ 1,309.95 จุด  เพิ่มขึ้น  23.42 จุด  มีมูลค่าการซื้อขาย 78,863.55 ล้านบาท ต่างชาติขายสุทธิ 891.96 ล้านบาท

หุ้นมูลค่าซื้อขายสูงสุด MINT ปิด 18 บาท บวก 1.20 บาท,PTT ปิด 36.50 บาท บวก 0.50 บาท ,CPALL ปิด  69.75 บาท ไม่เปลี่ยนแปลง,BAM ปิด 23.50 บาท บวก 0.10 บาท และ KBANK ปิด 87 บาท บวก  4.75 บาท 

มีแรงซื้อหุ้นกลุ่มแบงก์และพลังงานดันราคาขยับขึ้น ขณะที่ บล.หยวนต้า(ประเทศไทย)  ระบุว่าดัชนีหุ้นที่ยืนเหนือ 1,300 จุดได้อีกครั้ง และสูงสุดในรอบ 2.5 เดือน รับข่าวพัฒนาการของวัคซีนและการคลาย lockdown คือเงื่อนไขเชิงบวกสำคัญ ขณะที่ Trade War จะเป็นปัจจัยคอยจำกัด Upside ของตลาดหุ้น เป็นระยะ

มองว่าการกระชากขึ้นของดัชนีครั้งนี้ นอกจากจะทำให้ภาพทางเทคนิคดูดีขึ้นแล้ว (ยืนเหนือ SMA 75 วัน) ยังทำให้โอกาสเกิด Sell in  May ลดลงด้วย กลุ่มที่ยังขึ้นช้ากว่าตลาดคือ แบงก์ การแพทย์ อสังหาฯ ท่องเที่ยว และนิคมฯ

ขณะที่ หุ้นใน SET100 ที่ปรับขึ้นเด่นระยะหลัง นอกจากงบ 1Q63 จะออกมาสวยแล้ว ยังเป็นหุ้นที่ยืนเหนือเส้นค่าเฉลี่ย SMA 200 วันได้ด้วย   ดังนั้นในเชิงกลยุทธ์การลงทุน  แบ่งหุ้นที่น่าสนใจเป็น 2 กลุ่ม  คือหุ้นที่ยังขึ้นช้ากว่าตลาด คือ KBANK-SCB-TMB-PSL- AMATA-BCP  และหุ้นกลุ่มนำตลาดที่กำลังลุ้นยืนเหนือเส้น 200 วัน คือ GPSC-BPP-KTC-PTTGC-TASCO

ขณะที่หุ้น THAI ทำซิลลิ่ง หลัง ครม.มีมติให้ยื่นศาลล้มละลายกลางเพื่อเข้าสู่กระบวนการฟื้นฟูกิจการ ด้านทริส ปรับลดเครดิตหุ้นและหุ้นกู้ THAI ลงสู่ระดับ  C  หลังวันก่อนเพิ่งกดเครดิตลงเหลือ BBB แถมส่งสัญญาน ปรับลงไประดับ D หรือ Default  เมื่อเกิดการพักชำระหนี้ตามกระบวนการของศาล หรือมีการผิดนัดชำระหนี้อื่นใดก่อนหน้านั้น อันดับเครดิตของบริษัทจะได้รับการปรับลดลงสู่ระดับ  D  หรือ  Default ทันที

ปิดท้าย “ณัฐชาต เมฆมาสิน” จากบล. ทรีนีตี้”  คาดผลการประชุม กนง.ให้น้ำหนัก 50/50 ระหว่างการปรับลดและการคงอัตราดอกเบี้ยนโยบาย  หลังสัญญาณคุมเข้ม COVID-19 เห็นผลบวกชัดเจนขึ้น ทำให้ กนง.อาจเก็บกระสุนไว้ในยามจำเป็น ขณะที่มาตรการของธปท.ที่ออกมาก่อนหน้านี้ถือว่าได้แก้ปัญหาตรงจุดแล้ว

แต่หากมีมติลดดอกเบี้ยตามที่นักเศรษฐศาสตร์คาดไว้ ประเมินว่าดัชนีหุ้นไทยจะไม่ได้แรงหนุนมากนักเนื่องจากได้ตอบรับไปบ้างแล้ว แต่หากมีมติคงอัตราดอกเบี้ยจะกระตุ้นราคาหุ้นกลุ่มแบงก์ฟื้นตัวขึ้นมาได้บ้าง!!

ที่มา คอลัมน์ เงาหุ้น โดย อินเด็กซ์ 51 หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ

บีทีเอส พร้อมเปิด 4 สถานีใหม่ เดือนมิ.ย.

นายสกลธี ภัททิยกุล รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร พร้อมด้วย นายพานุรักษ์ กลั่นนุรักษ์ ผู้อำนวยการสำนักการจราจรและขนส่ง (สจส.) นายมานิต เตชอภิโชค กรรมการผู้อำนวยการ บริษัท กรุงเทพธนาคม จำกัด (เคที) เข้าตรวจเยี่ยมรถไฟฟ้าสายสีเขียวส่วนต่อขยายช่วงหมอชิต-สะพานใหม่-คูคต เพิ่มอีก 4 สถานีได้แก่ สถานีกรมป่าไม้ (N14) สถานีบางบัว (N15) สถานีกรมทหารราบที่ 11 (N16) และสถานีวัดพระศรีมหาธาตุ (N17) ร่วมทดสอบการเดินรถไฟฟ้า โดยมี นายสุมิตร ศรีสันติธรรม ผู้อำนวยการใหญ่สายปฏิบัติการ บริษัทระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) และ ดร.ชัยศักดิ์ ศรีเศรษฐนิล กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท บีทีเอส อินฟราสตรัคเจอร์ ดีเวลลอปเม้นท์ จำกัด ให้การต้อนรับ

นายสกลธี ภัททิยกุล กล่าวว่า ภาพรวมการลงพื้นที่พบว่าทั้ง 4 สถานีใหม่ มีความเรียบร้อยพร้อมเปิดให้บริการ โดยทางบริษัท กรุงเทพธนาคม จำกัด และรถไฟฟ้าบีทีเอส มีความพร้อมที่จะเปิดให้ประชาชนใช้บริการ ตั้งแต่ต้นเดือนมิถุนายน 2563 เป็นต้นไป ซึ่งกรุงเทพมหานครจะหารือเพื่อกำหนดวันเปิดให้บริการอีกครั้ง โดยภาพรวมการก่อสร้างรถไฟฟ้าสายสีเขียวส่วนต่อขยายช่วงหมอชิต-สะพานใหม่-คูคต ขณะนี้คืบหน้าแล้ว 96 เปอร์เซ็นต์ โดยในวันที่ 20 พฤษภาคม 2563 รถไฟฟ้าบีทีเอส จะดำเนินการทดสอบเดินรถเสมือนจริง (Trial Run) เพื่อทดสอบระบบอาณัติสัญญาณก่อนให้บริการจริงอีกครั้ง

สำหรับอัตราค่าโดยสาร ตามนโยบายของกรุงเทพมหานครตลอดสายสูงสุดไม่เกิน 65 บาท โดยอัตราค่าโดยสารใหม่นั้น ต้องรอให้คณะรัฐมนตรีอนุมัติจึงจะใช้อัตราค่าโดยสารใหม่ได้ โดยระหว่างที่มีสถานีส่วนต่อขยายเปิดใหม่ กทม.จะให้ประชาชนใช้บริการฟรีไปก่อน ส่วนแผนการเดินรถถึงสถานีปลายทางคูคตนั้น จะเปิดให้บริการภายในสิ้นปี 2563 นี้

นายสุมิตร ศรีสันติธรรม กล่าวว่าในส่วนของการเตรียมความพร้อมของรถไฟฟ้าบีทีเอสนั้น ได้นำบุคลากร เจ้าหน้าที่ประจำสถานีเข้าภายในพื้นที่เพื่อเตรียมความพร้อมการให้บริการในส่วนต่าง ๆ แล้ว โดยในวันที่ 20 พฤษภาคม 2563 บีทีเอสจะนำขบวนรถไฟฟ้าวิ่งจริงตั้งแต่สถานีปลายทางเคหะฯ ถึง สถานีวัดพระศรีมหาธาตุ จนถึงปลายเดือนพฤษภาคม 2563 นอกจากนี้ บริษัทฯ ได้มีการจัดรูปแบบการเดินรถให้มีประสิทธิภาพสูงสุด เพื่ออำนวยความสะดวกแก่ผู้โดยสารที่ใช้บริการ ควบคู่กับการเพิ่มความถี่ในการเดินรถอย่างต่อเนื่อง

ครม.เห็นชอบแผนฟื้นฟูกิจการการบินไทย เข้าสู่กระบวนการศาลล้มละลาย

รายงานข่าว เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบตามที่กระทรวงคมนาคมเสนอเรื่องเข้าสู่กระบวนการฟื้นฟูกิจการ บริษัทการบินไทย จำกัด (มหาชน) ตาม พ.ร.บ.ล้มละลาย และเห็นชอบให้ฃดสัดส่วนการถือหุ้นของกระทรวงการคลังลดให้ต่ำกว่า 50%

โดย ก่อนหน้านี้ ข้อเสนอดังกล่าวได้ผ่านความเห็นชอบจากคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (คนร.) ในการประชุมเมื่อวันที่ 18 พ.ค.ที่ผ่านมา

พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีกว่ากระทรวงกลาโหม กล่าวภายหลังการประชุมว่า ที่ประชุมครม.เห็นชอบ ให้การบินไทย เข้าสู่กระบวนการฟื้นฟู เข้าสู่กระบวนการต่อศาลล้มละลายกลาง เพื่อฟื้นฟูการบินไทยต่อไป โดยนายกฯ กล่าวว่า ต้องตัดสินใจให้การบินไทยเข้าสู่แผนฟื้นฟู และขออนุญาตให้การบินไทยเข้าไปอยู่ภายใต้อำนาจศาล แล้วศาลก็จะตั้งผู้บริหารเข้ามาดูแล เพื่อจัดการต่อไป ซึ่งก็จะทำให้การปรับโครงสร้างของการบินไทยก็จะเกิดขึ้นได้ ส่วนรายละเอียดต่างๆ ศาลจะเป็นผู้กำหนดแล้วทางรัฐบาลจะแจ้งให้ทราบในรายละเอียดต่อไป

การช่วยเหลือให้การบินไทยเข้าสู่แผนการฟื้นฟูนี้ ตนหวังเป็นอย่างยิ่งว่า การบินไทยจะกลับมาทำประโยชน์ให้คนไทย และกลับมาอย่างแข็งแกร่งอีกครั้ง

การบินไทยยังประกอบธุรกิจได้ ระหว่างเข้ากระบวนการฟื้นฟูกิจการ พร้อมบินเมื่อโควิด-19 คลี่คลาย

นายจักรกฤศฏิ์ พาราพันธกุล รองประธานกรรมการคนที่ 2 รักษาการแทนกรรมการผู้อํานวยการใหญ่ บริษัท การบินไทย จํากัด (มหาชน) เปิดเผยว่า ในวันนี้ (19 พ.ค.) คณะรัฐมนตรีได้มีมติเห็นชอบให้บริษัท การบินไทย จํากัด (มหาชน) (“บริษัทฯ”) ดําเนินการตามแผนฟื้นฟูธุรกิจภายใต้กระบวนการฟื้นฟูกิจการของศาลล้มละลายกลาง โดยให้บริษัทดําเนินกิจการตามปกติ

จักรกฤศฏิ์ พาราพันธกุล รักษาการแทนกรรมการผู้อํานวยการใหญ่ บริษัท การบินไทย จํากัด (มหาชน)

การเข้าสู่กระบวนการฟื้นฟูกิจการแม้จะเป็นการดําเนินการภายใต้พระราชบัญญัติล้มละลาย แต่ไม่ได้มีจุดมุ่งหมายในการเลิกหรือชําระบัญชีบริษัท หรือไม่ได้มุ่งหมายให้บริษัทต้องตกเป็นบุคคลล้มละลายแต่อย่างใด ในทางตรงกันข้าม การเข้าสู่กระบวนการฟื้นฟูกิจการภายใต้กฎหมายในครั้งนี้ จะส่งผลให้บริษัทการบินไทยสามารถบรรลุวัตถุประสงค์ของแผนฟื้นฟูธุรกิจได้อย่างมีประสิทธิภาพตามขั้นตอนต่างๆ ซึ่งมีกฎหมายรองรับและให้ความคุ้มครองอย่างเป็นธรรมแก่ผู้ที่เกี่ยวข้องทุกฝ่าย ทั้งบริษัทยังสามารถประกอบธุรกิจปกติต่อไปได้ตลอดระยะเวลาที่อยู่ในกระบวนการฟื้นฟูกิจการ ไม่ว่าจะเป็นการให้บริการขนส่งผู้โดยสารไปยังจุดหมายปลายทางของการบินไทยทั่วโลก หรือการขนส่งสินค้าไปรษณียภัณฑ์อย่างต่อเนื่อง ซึ่งจะดําเนินการควบคู่ไปกับการฟื้นฟูองค์กรเพื่อปรับปรุงประสิทธิภาพในการดําเนินงานและพัฒนาคุณภาพของผลิตภัณฑ์และการบริการให้ดียิ่งขึ้นต่อไป

การบินไทย มุ่งมั่นอย่างเต็มที่ในการดําเนินการทุกวิถีทางเพื่อฝ่าวิกฤตครั้งนี้ ซึ่งถือเป็นก้าวสําคัญในการเปลี่ยนแปลงบริษัทฯ ไปในทางที่ดีขึ้นอย่างยั่งยืน และขอขอบพระคุณผู้เกี่ยวข้องทุกภาคส่วน ซึ่งรวมถึงผู้ถือหุ้น คู่ค้า พันธมิตรทางการค้า โดยเฉพาะอย่างยิ่งลูกค้าและผู้โดยสารทุกท่านที่ยังคงให้การสนับสนุนและมอบความไว้วางใจให้บริษัทฯ ได้มีโอกาสรับใช้ท่านต่อไป บริษัทพร้อมจะกลับมาดําเนินกิจการและทําการบินอย่างเต็มศักยภาพในทันทีเมื่อสถานการณ์โรคระบาดโควิด-19 คลี่คลายลงแล้ว

นอกจากนี้ ผู้โดยสารที่ถือบัตรโดยสารการบินไทยยังคงสามารถใช้เดินทางได้ต่อไป หากท่านต้องการเปลี่ยนแปลงด้านบัตรโดยสารสามารถดําเนินการผ่านเว็บไซต์ thaiairways.com หรือติดต่อได้ที่ THAI Contact Center โทร.02-356-1111

เงาหุ้น : มุมมองเอเซียพลัส

ดัชนีหุ้นไทยวันที่ 18 พ.ค.63 ปิดที่ 1,286.53 จุด เพิ่มขึ้น 5.77 จุด มีมูลค่าการซื้อขาย 55,905.03 ล้านบาท ต่างชาติขายสุทธิ 2,074.79 ล้านบาท

หุ้นมูลค่าซื้อขายสูงสุด PTT ปิดที่ 36 บาท บวก 0.50 บาท, PTTEP ปิด 85.50 บาท บวก 2 บาท, BANPU ปิด 7.40 บาท บวก 0.95 บาท, BAM ปิด 23.40 บาท บวก 0.20 บาท และ CPALL ปิด 69.75 บาท บวก 0.25 บาท

หุ้นไทยปรับขึ้นตามตลาดต่างประเทศ หลังเริ่มมีการคลายล็อกดาวน์ และรับราคาน้ำมันโลกที่ฟื้นตัวดันหุ้นพลังงานดีดตัวขึ้น

ขณะที่ บล.เอเซียพลัส รวบรวมบริษัทจดทะเบียนรายงานงบการเงินงวด 1Q63 ไปแล้วทั้งสิ้น 543 บริษัท (คิดเป็น 94.6% ของมูลค่าตลาดรวม) มีกำไรสุทธิทั้งสิ้น 1.11 แสนล้านบาท (ลดลง 49% QoQ และ 58%YoY) กำไรงวด 1Q63 ที่ลดลงแรงถือเป็น Downside ต่อประมาณการกำไรทั้งปี 63 และกดดัน Upside ของตลาด

แต่ปัจจัยแวดล้อมที่หนุนตลาด และช่วยกำหนดกลยุทธ์ในยามที่ Valuation ตลาดเริ่มตึงๆ มีดังนี้ 1.มีโอกาสสูงที่ กนง.จะปรับลดดอกเบี้ยลง ในวันที่ 20 พ.ค.63

สะท้อนตัวเลขเศรษฐกิจที่ยังมีทิศทางชะลอตัว บวกกับผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาล 1 ปี ที่ปรับตัวลดลงต่อเนื่องล่าสุดอยู่ที่ 0.56% (ต่ำกว่าดอกเบี้ยนโยบาย) ซึ่งตามกลไกปกติ ถือเป็น Sentiment ที่ดีต่อตลาดหุ้น โดยเฉพาะหุ้นที่มีปันผลสูง แนะนำ DIF, DCC

2.การกลับมาดำเนินธุรกิจที่หยุดไปชั่วคราว ได้รับการตอบรับเป็นอย่างดี เช่น ห้างสรรพสินค้า, ร้านค้าปลีก และร้านอาหาร เป็นต้น แนะนำ CPN, COM7 3.ราคาน้ำมันดิบโลกที่ฟื้นตัวต่อเนื่อง เช่น WTI ฟื้นขึ้นมาถึง 12 เหรียญ/บาร์เรล หรือ 63% (mtd) ขณะที่ราคาหุ้นน้ำมันในไทยยัง Laggard อยู่มาก ชอบ PTT, BCP

ทั้งนี้ เอเซียพลัสเชื่อว่าหุ้นที่ได้รับปัจจัยหนุนจาก 3 ประเด็นดังกล่าวน่าจะเป็นเป้าหมายของ Fund Flow ในสัปดาห์นี้ Toppicks เลือก CPN, COM7 และ PTT!!

ที่มา คอลัมน์ เงาหุ้น โดย อินเด็กซ์ 51 หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ

AIS พัฒนาแอปฯ ติดอาวุธให้อสม. พร้อมแจกซิมฮีโร่ กับทำประกันฟรีให้

นายสมชัย เลิศสุทธิวงค์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร เอไอเอส กล่าวว่า สถานการณ์โรคโควิด-19 ของประเทศไทย แม้ว่าจะผ่านจุดวิกฤตมาแล้ว จากจำนวนผู้ป่วยรายใหม่ที่เริ่มลดลงอย่างต่อเนื่อง และรัฐบาลเริ่มคลายล็อกดาวน์ เพื่อให้ประเทศเดินหน้าต่อได้ ในทางกลับกันก็อาจเป็นการเพิ่มโอกาสความเสี่ยงที่จะเพิ่มปริมาณผู้ติดเชื้อในระลอก 2 ได้ ดังนั้นการเฝ้าระวัง ตรวจสอบอย่างใกล้ชิด ในชุมชนทั่วประเทศ    จากการทำงานของกลุ่ม อาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน หรือ อสม. ฉายา “นักรบเสื้อเทา” ที่มีอยู่กว่า 1 ล้าน 5 หมื่นราย จึงมีความสำคัญสูงสุด ในการสกัดกั้นการระบาดในระลอกที่ 2

ตลอดเวลากว่า 4 ปี เอไอเอสได้นำความรู้ ความเชี่ยวชาญ พร้อมด้วยเทคโนโลยีดิจิทัล ร่วมเสริมขีดความสามารถการทำงานของภาคสาธารณสุขไทย  โดยมุ่งเน้นไปที่สาธารณสุขระดับมูลฐาน ทั่วประเทศ ผ่านการทำงานอย่างใกล้ชิดกับ อาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน หรือ อสม. ด้วยนวัตกรรมดิจิทัลแอปพลิเคชัน อสม. ออนไลน์ เครือข่ายสังคมออนไลน์เฉพาะกลุ่มการทำงานด้านสาธารณสุขชุมชนเชิงรุกระหว่างหน่วยบริการสุขภาพและ อสม. ปัจจุบันมี อสม.ดาวน์โหลดและใช้งานแอปนี้แล้วกว่า 4 แสน 1 หมื่นราย

ล่าสุด เอไอเอส ได้นำเทคโนโลยีดิจิทัลโซลูชันมาสนับสนุนการทำงานของ อสม. นักรบเสื้อเทาเพิ่มเติม ได้แก่

            1) พัฒนาฟีเจอร์ใหม่ “คัดกรองและติดตาม COVID-19”​ บนแอปพลิเคชัน อสม. ออนไลน์

           สนับสนุนแนวทางการทำงาน ของกรมสนับสนุนบริการสุขภาพที่จัดกิจกรรม “อสม.เคาะประตูบ้านต้านโควิด-19”  โดยพัฒนาฟีเจอร์คัดกรองและติดตามโควิด-19 บน แอปพลิเคชั่น อสม.ออนไลน์ เพื่อให้ อสม.ใช้เป็นเครื่องมือในการเฝ้าระวังความเสี่ยง คัดกรอง และติดตามผลกลุ่มเสี่ยงผู้ติดเชื้อโควิด-19 ในชุมชน ด้วยรูปแบบรายงานดิจิทัลที่ อสม.สามารถบันทึกได้ง่าย สะดวก รวดเร็วในการติดตามผล  และเรียลไทม์ ทางมือถือ ทำให้เจ้าหน้าที่สาธารณสุข รพ.สต. สาธารณสุขอำเภอ และสาธารณสุขจังหวัด สามารถติดตามข้อมูลรายละเอียดการคัดกรองผู้ที่เดินทางมาจากพื้นที่อื่นๆ, สมาชิกในบ้านที่อาจมีความเสี่ยง  รวมถึงการติดตามกลุ่มเฝ้าระวัง 14 วัน ในแต่ละครัวเรือนที่ได้อย่างเป็นระบบและทันต่อเหตุการณ์ 

            พร้อมเตรียมเปิดตัวฟีเจอร์ รายงานการคัดกรองผู้มีความเสี่ยงปัญหาสุขภาพจิต เพื่อช่วยติดตาม ผู้ที่มีความเสี่ยงปัญหาสุขภาพจิตจากสถานการณ์โควิด-19 ได้อย่างรวดเร็ว พร้อมทั้งแสดงคำแนะนำที่เหมาะสม เพื่อให้ อสม. ได้แนะนำความรู้ การปฏิบัติตัวที่ถูกต้องเบื้องต้น รวมทั้งเป็นเครื่องมือเชิงรุกในการค้นหาผู้ที่มีความเสี่ยงสูงเพื่อนำเข้าสู่ระบบการรักษาได้อย่างทันท่วงที่ โดยจะเปิดให้บริการฟีเจอร์นี้ภายในเร็วๆนี้

          2) มอบ “ซิมฮีโร่” เพื่อสมาชิก อสม. ให้ใช้งานแอปฯ อสม. ออนไลน์ ได้ไม่สะดุด เน็ตไม่รั่ว ค่าโทรราคาพิเศษ

            สนับสนุน “ซิมฮีโร่” ให้แก่ อสม. ทั่วประเทศ มอบอินเทอร์เน็ตสำหรับใช้งานบนแอปพลิเคชัน อสม. ออนไลน์ ได้ฟรีไม่จำกัด ที่ความเร็ว 1 Mbps  เล่นเน็ตไม่รั่ว ที่ความเร็ว 128 kbps โทรทุกเครือข่ายวินาทีละ 2 สตางค์ ทุกเครือข่าย ตลอด 24 ชั่วโมง นานสูงสุด 1 ปี

          3) มอบฟรี ประกันภัย ให้นักรบเสื้อเทา เพิ่มความอุ่นใจในการปฏิบัติงาน

           มอบสิทธิ์ความคุ้มครองประกันภัยให้ อสม. ที่มีอายุระหว่าง 16 – 85 ปี ทั่วประเทศ ฟรี! โดยมีระยะเวลาคุ้มครอง 30 วัน คุ้มครองการเสียชีวิตทุกกรณี 50,000 บาท และรับความคุ้มครองชดเชยรายวัน 400 บาท/วัน สูงสุดไม่เกิน 15 วัน เมื่อเข้ารักษาตัวในโรงพยาบาลในฐานะผู้ป่วยในจากการติดเชื้อไวรัสโควิด-19  โดยสามารถรับลิงก์ลงทะเบียนความคุ้มครองได้โดยกด *268*เลขบัตรประชาชน 13 หลัก# และกดเครื่องหมายโทรออก สมาชิก อสม. ที่ลงทะเบียนถูกต้องจะได้รับข้อความ SMS ยืนยันความคุ้มครอง ระยะเวลาเอาประกันภัย 30 วัน (ตามเงื่อนไขที่กำหนด) จากบริษัทประกันฯ ภายในระยะเวลา 5 วันทำการ

นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า รู้สึกยินดีที่ เอไอเอส ได้นำความรู้ความเชี่ยวชาญที่มีอยู่มาสร้างสรรค์นวัตกรรมเทคโนโลยีที่ทรงประสิทธิภาพผ่านแอปพลิเคชัน อสม.ออนไลน์ และยังได้พัฒนาฟีเจอร์คัดกรองและติดตามโควิด-19 ให้สอดคล้องกับสถานการณ์ เพื่อให้ อสม.ใช้เป็นเครื่องมือในการเฝ้าระวังความเสี่ยง คัดกรอง และติดตามผลกลุ่มเสี่ยงผู้ติดเชื้อโควิด-19 ในชุมชน พร้อมสนับสนุนระบบสื่อสาร ซิมฮีโร่ พร้อมแพ็กเกจ และความคุ้มครองประกันภัยให้สมาชิก อสม.

เชื่อมั่นว่า แอปฯ อสม.ออนไลน์ พร้อมฟีเจอร์ใหม่เฝ้าระวังไวรัสโควิด-19  จะเป็นการติดอาวุธดิจิทัลให้กับเจ้าหน้าที่นักรบเสื้อเทา สามารถทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ พร้อมเป็นกำลังสำคัญในการนำพาประเทศก้าวผ่านวิกฤตครั้งนี้ไปได้ด้วยดี