เมื่อศาลมีคำพิพากษา ให้ลูกหนี้ชำระหนี้ เจ้าหนี้ต้องไปยื่นให้ศาลออกหมายบังคับคดี ตั้งเจ้าพนักงานบังคับคดี เพื่อจัดการ “ยึด-อายัดทรัพย์สิน” ของลูกหนี้ตามคำพิพากษา และขายทอดตลาด นำเงินมาชำระหนี้ให้เจ้าหนี้ ตามเงื่อนไขกฎหมายบังคับคดี
แต่หาก “ลูกหนี้” ตามคำพิพากษาของศาล ไม่มีเงินใช้หนี้ เจ้าหนี้ จะสามารถยึดทรัพย์สินทุกอย่างของลูกหนี้ มาใช้แทนหนี้ได้หรือไม่
ทางสำนักกิจการยุติธรรม เปิดเผยว่า ตามพระราชบัญญัติ แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง (ฉบับที่ 30) พ.ศ. 2560 กำหนดทรัพย์สินของลูกหนี้ที่ไม่อยู่ในความรับผิดแห่งการบังคับคดี แปลว่า เจ้าพนักงานบังคับคดี ไม่ยึด – ไม่อายัด ทรัพย์สินของลูกหนี้ ตามรายการต่อไปนี้
1.เครื่องใช้สอยส่วนตัว ที่นอนหมอนมุ้ง, เครื่องใช้ในครัวเรือน ราคารวมไม่เกินประเภทละ 20,000 บาท
2.สัตว์ สิ่งของ อุปกรณ์ทำหากินประกอบอาชีพ เท่าที่จำเป็น ราคารวมไม่เกิน 100,000 บาท
3.สัตว์ สิ่งของ หรือ อุปกรณ์ทดแทนอวัยวะ
4.ทรัพย์สินที่มีลักษณะเป็นของส่วนตัวโดยแท้ เช่น หนังสือวงศ์ตระกูล จดหมาย สมุดบัญชี
5.ทรัพย์ที่โอนไม่ได้ตามกฎหมาย หรือไม่ได้อยู่ในการบังคับคดี เช่น สมบัติแผ่นดิน โฉนดที่อยู่ในเวลาห้ามโอน
6.เบี้ยเลี้ยงชีพที่กฎหมายกำหนด เงินรายได้เป็นคราวๆ ที่คนอื่นให้เพื่อเลี้ยงชีพ ไม่เกินเดือนละ 20,000 บาท
7.เงินเดือน ค่าจ้าง บำเหน็จ บำนาญ เบี้ยหวัด ของข้าราชการ เจ้าหน้าที่ หรือ ลูกจ้างในหน่วยงานราชการ หรือตามจำนวนที่เจ้าพนักงานเห็นสมควร
8.เงินเดือน ค่าจ้าง บำนาญ ค่าชดใช้เงินสงเคราะห์ ของพนักงาน ลูกจ้าง ไม่เกินเดือนละ 20,000 บาท
9.ค่าชดเชยหรือรายได้อื่น(บุคคลทั่วไป)ไม่เกิน300,000 บาท
10.เงินฌาปนกิจสงเคราะห์ที่ลูกหนี้ได้รับ จากการตายของบุคคลอื่น ตามจำนวนที่จำเป็นในการจัดพิธีฌาปนกิจศพ ตามฐานะของผู้ตาย
ที่มา สำนักงานกิจการยุติธรรม