สรุปภาพรวมภาวะตลาดหลักทรัพย์ เดือนพ.ย. 2566

529

ภาพรวมภาวะตลาดหลักทรัพย์ เดือนพฤศจิกายน 2566 ผลการประชุม FED มีมติคงดอกเบี้ยนโยบายติดต่อกันเป็นครั้งที่ 2 อยู่ที่ระดับ 5.00%-5.25% ตามที่ตลาดคาดการณ์ แต่ยังส่งสัญญาณว่ามีความเป็นไปได้ที่อาจจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยอีกในอนาคต เนื่องจากกิจกรรมทางเศรษฐกิจของสหรัฐฯ มีการขยายตัวอย่างแข็งแกร่งในไตรมาส 3 แต่เริ่มเห็นผลกระทบต่อภาคธุรกิจและภาคครัวเรือนจากนโยบายการเงินที่ตึงตัวที่ผ่านมา อย่างไรก็ดี ผู้ลงทุนคาดว่า FED จะไม่ขึ้นดอกเบี้ยในการประชุมในเดือนธันวาคม และคาดว่า FED จะปรับลดดอกเบี้ยลงในการประชุมเดือนมีนาคมปีหน้า ส่งผลให้ Bond Yield 10 ปีของสหรัฐฯ อ่อนตัวลงและเห็นเงินทุนไหลเข้าในสินทรัพย์เสี่ยง

นายศรพล ตุลยะเสถียร รองผู้จัดการ หัวหน้าสายงานวางแผนกลยุทธ์องค์กร ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย เปิดเผยว่า คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) มีมติคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ 2.50% เนื่องจากเป็นระดับที่เหมาะสมกับการขยายตัวของเศรษฐกิจ โดยมีแรงขับเคลื่อนจากการฟื้นตัวของการใช้จ่ายภายในประเทศ การท่องเที่ยว และการส่งออก อีกทั้งประเมินเศรษฐกิจขยายตัว 2.4% และ 3.8% ในปี 2566 และ 2567 ตามลำดับ อย่างไรก็ดี อัตราดอกเบี้ยที่แท้จริง (Real Interest Rate) ของไทยถือว่าค่อนข้างสูงเมื่อเทียบกับประเทศอื่นๆ แสดงถึงนโยบายการเงินของไทยในปัจจุบันที่ค่อนข้างตึงตัว อีกทั้งประมาณการกำไรของบริษัทจดทะเบียนในอีก 12 เดือนข้างหน้าถูกนักวิเคราะห์ปรับลดลงต่อเนื่องจากต้นปีนี้ ทำให้การลงทุนในตลาดหุ้นไทยยังไม่ดึงดูดใจผู้ลงทุน

ภาวะตลาดหลักทรัพย์ไทย
• ณ สิ้นเดือนพฤศจิกายน 2566 SET Index ปิดที่ 1,380.18 จุด ปรับลดลง 0.1% จากเดือนก่อนหน้า โดยปรับลดลง 17.3% เมื่อเทียบกับสิ้นปีก่อนหน้า
• ในเดือนพฤศจิกายนปี 2566 กลุ่มอุตสาหกรรมที่ปรับตัวดีกว่า SET Index เมื่อเทียบกับสิ้นปี 2565 ได้แก่ กลุ่มเทคโนโลยี กลุ่มการเงิน และกลุ่มเกษตรและอาหาร และกลุ่มสินค้าอุปโภคบริโภค
• ในเดือนพฤศจิกายน 2566 มูลค่าการซื้อขายเฉลี่ยต่อวันใน SET และ mai อยู่ที่ 45,804 ล้านบาท ลดลงจากช่วงเดียวกันปีก่อนหน้า 28.9% โดยมูลค่าการซื้อขายเฉลี่ยต่อวันใน 11 เดือนแรกปี 2566 อยู่ที่ 54,399 ล้านบาท ผู้ลงทุนต่างชาติขายสุทธิเป็นเดือนที่สิบ โดยในเดือนพฤศจิกายน 2566 ผู้ลงทุนต่างชาติขายสุทธิ 21,132 ล้านบาท อย่างไรก็ดี ผู้ลงทุนต่างประเทศมีสัดส่วนมูลค่าการซื้อขายสูงสุดต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 19
• ในเดือนพฤศจิกายน 2566 มีบริษัทจดทะเบียนเข้าใหม่ซื้อขายใน SET 2 หลักทรัพย์ ได้แก่ บมจ. ยูโรเอเชีย โทเทิล โลจิสติกส์ (ETL) และ บมจ. วินโดว์ เอเชีย (WINDOW) และใน mai 1 หลักทรัพย์ ได้แก่ บมจ. เอส.ซี.แอล.มอเตอร์ พาร์ท (SCL)
• Forward P/E ของตลาดหลักทรัพย์ไทย ณ สิ้นเดือนพฤศจิกายน 2566 อยู่ที่ระดับ 16.2 เท่า สูงกว่าค่าเฉลี่ยของตลาดหลักทรัพย์ในเอเชียซึ่งอยู่ที่ระดับ 13.0 เท่า และ Historical P/E อยู่ที่ระดับ 18.8 เท่า สูงกว่าค่าเฉลี่ยของตลาดหลักทรัพย์ในเอเชียซึ่งอยู่ที่ระดับ 14.6 เท่า

• อัตราเงินปันผลตอบแทน ณ สิ้นเดือนพฤศจิกายน 2566 อยู่ที่ระดับ 3.25% ต่ำกว่าค่าเฉลี่ยของตลาดหลักทรัพย์ในเอเชียซึ่งอยู่ที่ 3.43%

ภาวะตลาดสัญญาซื้อขายล่วงหน้า
• ในเดือนพฤศจิกายน 2566 ตลาดสัญญาซื้อขายล่วงหน้า (TFEX) มีปริมาณการซื้อขายเฉลี่ยต่อวัน 455,273 สัญญา ลดลง 11.1% จากเดือนก่อน ที่สำคัญจากการลดลงของ SET50 Index Futures และ Single Stock Futures และในช่วง 11 เดือนแรกของปี 2566 มีปริมาณการซื้อขายเฉลี่ยต่อวัน 536,386 สัญญา ลดลง 3.2% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน ที่สำคัญจากการลดลงของ Single Stock Futures