Home Blog Page 42

คาเฟ่ อเมซอน ชวนสมทบทุนกองทุนชัยพัฒนาสู้ภัยโควิด 19 ผ่านโครงการ 1 แก้ว 1 กำลังใจ ร่วมสร้างพลังที่ยิ่งใหญ่

คาเฟ่ อเมซอน (Café Amazon) ขอเชิญชวนคนไทยทุกคนร่วมส่งมอบกำลังใจร่วมสู้สถานการณ์โควิด 19 กับโครงการ “1 แก้ว 1 กำลังใจ ร่วมสร้างพลังที่ยิ่งใหญ่” ร่วมส่งต่อพลังใจให้บุคลากรทางการแพทย์

ทุก ๆ การซื้อเครื่องดื่ม คาเฟ่ อเมซอน 1 แก้ว ทั้งการซื้อที่หน้าร้าน และสั่งซื้อผ่านเดลิเวอรี่แอปทุกช่องทาง ระหว่างวันที่ 1 – 7 พฤษภาคม 2563 ทางคาเฟ่ อเมซอนจะหักรายได้ 1 บาท/แก้ว มอบให้กองทุนชัยพัฒนาสู้ภัยโควิด 19 (และโรคระบาดต่าง ๆ)

กองทุนดังกล่าว อยู่ภายใต้การดำเนินงานของมูลนิธิชัยพัฒนา ซึ่งจัดตั้งขึ้นเพื่อมอบความช่วยเหลือแก่โรงพยาบาล บุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุขทั่วประเทศ ที่ปฏิบัติหน้าที่แนวหน้าในการรับมือกับการแพร่ระบาดของโควิด 19

ท้้งนี้ สามารถร่วมเป็นส่วนหนึ่งของโครงการ “1 แก้ว 1 กำลังใจ ร่วมสร้างพลังที่ยิ่งใหญ่” ได้ที่ร้านคาเฟ่ อเมซอน กว่า 2,900 สาขาทั่วประเทศ และเดลิเวอรี่แอปทุกช่องทาง ให้คาเฟ่ อเมซอน ทุกแก้วของคุณส่งต่อพลังให้กับสังคม

สรรพากร พร้อมคืนภาษีเงินได้นิติบุคคล ผ่านพร้อมเพย์ 1 พ.ค.นี้

กรมสรรพากร ธนาคารแห่งประเทศไทย สมาคมธนาคารไทย และสมาคมธนาคารนานาชาติ ร่วมสนับสนุนการทำธุรกรรม digital ให้เดินหน้าอย่างต่อเนื่อง ด้วยการให้บริการคืนเงินภาษีเงินได้นิติบุคคล ผ่านระบบพร้อมเพย์ เริ่ม 1 พฤษภาคม 2563

นางสมหมาย ศิริอุดมเศรษฐ ที่ปรึกษาด้านยุทธศาสตร์การจัดเก็บภาษี (กลุ่มธุรกิจพลังงาน) ในฐานะโฆษกกรมสรรพากร เปิดเผยว่า ตั้งแต่วันที่ 1 พฤษภาคม 2563 เป็นต้นไป กรมสรรพากรพร้อมให้บริการคืนเงินภาษีเงินได้นิติบุคคลผ่านระบบพร้อมเพย์ โดยการคืนภาษีเงินได้นิติบุคคลสำหรับนิติบุคคลที่มีคุณสมบัติ ต่อไปนี้

  • 1. เป็นนิติบุคคลที่มีพร้อมเพย์
  • 2. มีเงินคืนภาษีไม่ถึง 100 ล้านบาท
  • 3. ไม่เปลี่ยนแปลงสถานะนิติบุคคล

สำหรับนิติบุคคลที่มีคุณสมบัติครบถ้วนและได้สมัครลงทะเบียนพร้อมเพย์แล้ว กรมสรรพากร จะพิจารณาคืนเงินเข้าบัญชีเงินฝากธนาคารที่ผูกไว้กับเลขทะเบียนนิติบุคคล 13 หลัก ส่วนนิติบุคคลอื่นๆ ที่ไม่เข้าเงื่อนไข กรมสรรพากรจะคืนเป็นเช็ค หรือโอนผ่านบัญชีธนาคาร

เป้าหมายในอนาคตจะมีการปรับเปลี่ยนรูปแบบการคืนเงินภาษีเงินได้นิติบุคคลผ่านระบบพร้อมเพย์แทนการคืนเงินเป็นเช็คหรือโอนผ่านบัญชีธนาคารทุกราย เพื่อสนับสนุนนโยบายการชำระเงินแบบอิเล็กทรอนิกส์แห่งชาติ (National e-Payment) ลดต้นทุนการทำธุรกรรมทั้งภาครัฐและเอกชน เพิ่มความสะดวก และความปลอดภัยในการให้บริการ โดยช่องทางการลงทะเบียนสมัครพร้อมเพย์ เพียงเตรียมเอกสารและติดต่อธนาคารที่บริษัทมีบัญชีอยู่

โฆษกกรมสรรพากรกล่าวเพิ่มเติมว่า “การคืนภาษีเงินได้นิติบุคคลผ่านระบบพร้อมเพย์จะช่วยอำนวยความสะดวก และเพื่อความปลอดภัยในช่วงสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรน่า 2019 (COVID-19) ในขณะนี้ เพื่อลดการติดต่อกันในระหว่างการทำธุรกรรม เว้นระยะห่างทางสังคม (Social Distancing) และหวังว่าจะเป็นส่วนหนึ่งที่จะช่วยสนับสนุนให้ทุกคนอยู่ที่บ้าน สนับสนุนแนวคิด “อยู่บ้าน หยุดเชื้อ เพื่อชาติ” ของรัฐบาลต่อไป”

ทั้งนี้ สามารถศึกษาข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ www.rd.go.th หรือสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ ศูนย์สารนิเทศสรรพากร (RD Intelligence Center) โทร. 1161 หรือที่สำนักงานสรรพากรทุกแห่งทั่วประเทศ

ถอดบทเรียน วิธีที่เจ้าของกิจการและผู้บริหารนำพาธุรกิจรอดพ้นวิกฤต

การได้เรียนรู้แนวคิดของเจ้าของกิจการและผู้บริหาร ที่เคยเจอวิกฤตในหลายๆ ครั้งที่ผ่านมา ไม่ว่าจะเป็นวิกฤตต้มยำกุ้งปี 2540 วิกฤตซับไพรม์หรือวิกฤตแฮมเบอร์เกอร์ปี 2550-2551 อุทกภัยน้ำท่วมใหญ่ปี 2554  รวมถึงวิกฤตเศรษฐกิจต่างๆ พบว่า ผู้นำเหล่านี้ ล้วนมีวิธีคิดและวิธีบริหารจัดการธุรกิจที่มีความคล้ายคลึงกันในหลายๆ ด้าน การถอดบทเรียนประสบการณ์การนำทัพของแต่ละท่านที่พาธุรกิจก้าวพ้นช่วงเวลาที่ยากลำบากไปได้นั้น จะเป็นแนวทางที่ดีสำหรับผู้ประกอบการในการนำมาเรียนรู้และปรับใช้กับธุรกิจที่ขณะนี้กำลังเผชิญกับความท้าทายจากสถานการณ์โควิด-19 ให้สามารถนำพาธุรกิจรอดพ้นวิกฤต พลิกฟื้นกลับมาเข้มแข็งได้เช่นกัน

“จากที่ธุรกิจเคยมีทรัพย์สิน..ชั่วคืนเดียวกลายเป็นมีหนี้สิน ขาดทุนมหาศาล”

“ขายของไม่ได้ ลูกค้ารัดเข็มขัด”

ปัญหาต่างๆ เหล่านี้ เป็นสิ่งที่เจ้าของกิจการหรือผู้บริหารไม่อยากเจอ แต่การเป็นเจ้าของธุรกิจ คือการเป็นผู้นำที่ต้องแก้ปัญหาตลอดเวลาไม่ว่าจะเป็นปัญหาเล็กน้อยประจำวัน หรือปัญหาใหญ่โตที่มีผลกระทบต่อธุรกิจ ดังนั้น การมีหลักการและวิธีแก้ปัญหาที่ดี (Input) การเลือกใช้วิธีการแก้ปัญหาที่มีประสิทธิภาพ (Process) ย่อมทำให้ผลลัพธ์ส่วนใหญ่ (Output) ออกมาดีเช่นกัน ดังนั้น เราลองมาดูกันว่าวิธีแก้ปัญหายามเจอวิกฤตที่ได้ถอดบทเรียนจากเจ้าของธุรกิจและผู้บริหารนั้นมีอะไรบ้าง

1. X-ray ธุรกิจอย่างจริงจัง ทบทวนว่าธุรกิจอะไรที่เราทำเก่ง ถนัดที่สุด ซึ่งเป็นจุดแข็งและจุดขายที่ทำให้บริษัทยังยืนระยะต่อไปได้ เลือกให้เป็น Core business ที่เหลืออาจจะตัดทิ้ง เพราะหากรั้งไว้ก็อาจจะสร้างหนี้สินให้ธุรกิจมากขึ้นไปอีก

2. ปรับโครงสร้างธุรกิจ ลดขนาดของธุรกิจลง แต่ไม่ใช่ลดพนักงาน ผู้บริหารเลือกที่จะไม่ไล่พนักงานออก แต่จะสื่อสารขอให้ทุกคนปรับตัวร่วมกัน ประหยัดค่าใช้จ่าย ลดการใช้งบประมาณที่ไม่จำเป็น ผู้บริหารและพนักงานบางบริษัทเสียสละโดยการลดเงินเดือนของตัวเองลง รวมถึงเน้นการพัฒนาศักยภาพของพนักงานมากขึ้น ช่วยกันหาวิธีเพิ่มความรู้และทักษะใหม่ๆ เพื่อให้พนักงานสามารถไปช่วยทำงานใน Core business สนับสนุนการหารายได้เข้าบริษัท

3. หาช่องทางขายใหม่ๆ (ที่ไม่เคยลองมาก่อน) ผู้บริหารต้องไม่ยึดติดกับวิธีการเดิมๆ ต้องกล้าคิดนอกกรอบการมองหาโอกาสใหม่ๆ ในภาวะวิกฤตไม่ใช่เรื่องยากจนเกินไป แต่ต้องทดลองและปลุกพลังให้ทีมงานกล้าทำสิ่งใหม่ๆ ไปด้วยกัน

4. บริหารเงินทุนอย่างเป็นระบบ โดยเน้นซื้อขายด้วยเงินสดและไม่กู้เงินเพิ่ม ในกรณีที่บริษัทมีหนี้อยู่ และยังไม่สามารถชำระหนี้ได้ ให้ใช้วิธีสื่อสารกับเจ้าหนี้อย่างจริงใจ ตรงไปตรงมา แสดงเจตนาว่าบริษัทมีความรับผิดชอบ เพียงขอแค่ขยายเวลาชำระหนี้ออกไป (เพื่อบริหาร Cash flow) รวมถึงเสนอแผนการต่าง ๆ เพื่อสร้างความมั่นใจให้กับเจ้าหนี้ หรือ Supplier รวมไปถึงคู่ค้า โดยการให้ราคาสินค้าและเครดิตเทอมที่เป็นธรรมเหมาะสมกับสถานการณ์

5. ให้ความสำคัญกับนวัตกรรมมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นการพัฒนาสินค้าบริการ พัฒนากระบวนการใหม่ๆ ที่ต้องเร็วขึ้น สะดวกขึ้น ตอบโจทย์ความต้องการของลูกค้าได้ทันที โดยเฉพาะระบบบริหารจัดการหลังบ้าน อันจะเป็นการช่วยเรื่องลดต้นทุน ลดเวลา (สามารถนำเอาเวลาไปสร้าง Value ในด้านอื่นๆ แทน) รวมถึงการใช้    กลยุทธ์การตลาดที่เหมาะสม

6. นำนโยบายเรื่องการบริหารความเสี่ยงมาใช้ และทำธุรกิจอย่างรอบคอบ เช่น การกำหนดนโยบาย หรือมาตรการรับมือที่ผู้บริหารและพนักงานต้องปฎิบัติตาม รวมถึงการจัดทำแผนพัฒนาระบบบริหารความต่อเนื่องของธุรกิจ หรือแผนสำรองการทำงานในภาวะฉุกเฉิน (Business Continuity Planning: BCP) เพื่อให้ธุรกิจสามารถดำเนินไปได้อย่างต่อเนื่องเมื่อเกิดเหตุการณ์ที่ไม่คาดคิดต่างๆ เป็นต้น

จากทั้ง 6 ข้อข้างต้นนั้น เป็นเพียงหลักการวิธีแก้ปัญหาเพื่อให้ธุรกิจผ่านพ้นช่วงเวลาแห่งความยากลำบาก แต่การจะทำให้ธุรกิจเติบโตอย่างยั่งยืนในทุกสภาวการณ์นั้น สิ่งสำคัญที่สุดอีกสิ่งหนึ่งคือ “การมีธรรมาภิบาลและความรับผิดชอบต่อสังคม” หรือหลักการดำเนินธุรกิจที่ดีที่เรียกว่า Good Governance & Corporate Social Responsibility เพราะหากธุรกิจขาดคุณธรรมต่อพนักงาน ต่อคู่ค้า ต่อผู้ลงทุนและต่อ Supplier ธุรกิจจะไม่มีวันประสบความสำเร็จ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเวลาวิกฤต การขาดพันธมิตรและผู้สนับสนุนนั้น ธุรกิจที่ว่ายิ่งใหญ่แค่ไหนก็รอดยาก


บทความโดย : นุชนาถ คุณความดี
ฝ่ายพัฒนาความรู้ผู้ประกอบการ
ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย

เงาหุ้น : จับตา Sell in May

ดัชนีหุ้นไทยวันที่ 27 เม.ย.63 ปิดที่ 1,267.41 จุด บวก 8.63 จุด มีมูลค่าการซื้อขาย 49,584.05 ล้านบาท ต่างชาติขายสุทธิ 669.07 ล้านบาท

หุ้นมูลค่าการซื้อขายสูงสุด CPALL ปิด 69.25 บาท บวก 3 บาท, BAM ปิด 23.70 บาท บวก 0.30 บาท, GPSC ปิด 70.50 บาท บวก 1.25 บาท, PTT ปิด 34 บาท ไม่เปลี่ยนแปลง, GULF ปิด 39 บาท บวก 1 บาท

ตลาดปิดบวกตามตลาดหุ้นต่างประเทศด้วยมูลค่าการซื้อขายที่ชะลอตัวลง ขณะที่ ศบค.มีมติเสนอ ครม.ต่อเวลาประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินและเคอร์ฟิวทั่วประเทศอีก 1 เดือน และให้งดหรือชะลอการเดินทางข้ามจังหวัด, งดกิจกรรมที่จะทำให้เกิดการ
รวมตัวกันของคนหมู่มาก รวมทั้งควบคุมการเข้าออกประเทศต่ออีก 1 เดือน สิ้นสุด 31 พ.ค.63 จากเดิมสิ้นสุด 30 เม.ย.นี้ ทั้งนี้รอเสนอ ครม.พิจารณาอนุมัติวันที่ 28 เม.ย.63

ฝ่ายวิจัย บล.เอเซียพลัส เผยบทวิเคราะห์ ระบุ ปัญหาโควิดที่ยังอยู่อาจเป็นการตอกย้ำให้เกิดเหตุการณ์ Sell in May ซ้ำรอยอดีตที่เดือน พ.ค.ตลาดหุ้นไทยมักจะปรับตัวลงแรงเสมอ เฉลี่ยลดลงราว 2% และเป็นการปรับตัวลงถึง 8 ปีใน 10 ปี

มี 3 ปัจจัยที่มักเกิดขึ้นซ้ำๆ ส่งผลให้เกิดปรากฏการณ์ Sell in May อยู่เสมอ ดังนี้

1. เดือน พ.ค. เป็นช่วงประกาศงบบริษัทจดทะเบียนในไตรมาสแรก หากออกมาต่ำกว่าคาดมีโอกาสที่จะถูก “Sell on fact” ได้ ยิ่งไปกว่านั้นในปีนี้นักลงทุนส่วนใหญ่ยังคาดว่ากำไรบริษัทจดทะเบียนปีนี้น่าจะทำจุดต่ำสุดในไตรมาส 2 ทำให้ตลาดหุ้นในช่วงเดือน พ.ค.63 อาจไม่คึกคักมาก

2. เดือน พ.ค.เป็นเดือนที่เม็ดเงินลงทุนต่างชาติมักไหลออกจากตลาดหุ้นมากสุด เฉลี่ยสูงถึง 1.65 หมื่นล้านบาท

3. เนื่องจากเดือน พ.ค.เป็นช่วงที่มีการขึ้นเครื่องหมาย XD และจ่ายปันผลงบปี 62 เกือบหมดแล้วกว่า 408 ใน 488 บริษัท (คิดเป็น 83% ของบริษัทที่ประกาศจ่ายปันผล) ทำให้นักลงทุนมีการโยกเงินกลับประเทศบางส่วน รวมถึงก่อนขึ้นเครื่องหมาย XD

ยังได้มีการเก็งกำไรหุ้นแล้ว จึงไม่มีแรงซื้อที่เข้ามาหนุนตลาดเหมือนกับเดือนที่ผ่านๆมา

ดังนั้นกลยุทธ์การลงทุนยังคงเตรียมรับมือกับความผันผวนของตลาด โดยเลือกลงทุนหุ้น Defensive ราคา Laggard อย่าง BTSGIF และ EA ซึ่งราคาหุ้นทั้งสอง ยัง Laggard กว่ากลุ่ม และมี Valuation ที่น่าสนใจ!!

ที่มา คอลัมน์เงาหุ้น หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ

ปากกาแลนเซอร์ ปิดกิจการ เซ่นพิษโควิด-19

รายงานข่าว เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 27 เม.ย. 63 พล.ต.ต.วาทิน คำทรงศรี กรรมการบริษัท ดี.ที.ซี.อินดัสตรี่ส์ จำกัด (มหาชน) หรือ DTCI ผู้ผลิตอุปกรณ์เครื่องเขียน ตรา  แลนเซอร์ Lancer  ได้ทำหนังสือแจ้งมายังตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย โดยระบุว่า

“ด้วยสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ได้ส่งผลกระทบอย่างมากต่อการดำเนินกิจการของบริษัท คือ ไม่มีรายการสั่งซื้อจากลูกค้าที่เคยสั่งซื้อ และทางบริษัทไม่สามารถจัดส่งสินค้าไปยังลูกค้าได้ เนื่องจากลูกค้าซึ่งเป็นร้านค้าต่างๆ ล้วนต้องปิดร้านตามคำสั่งรัฐ และยังไม่อาจทราบได้ว่าจะกลับมาเปิดดำเนินการได้เมื่อไร

ทั้งนี้ เพื่อเป็นการลดผลกระทบจากเหตุการณ์ดังกล่าว บริษัท ดี.ที.ซี.อินดัสตรี่ส์ จำกัด (มหาชน) จึงได้ประกาศปิดกิจการชั่วคราว ตั้งแต่วันที่ 24 เม.ย. 63 เป็นต้นไป และจะเปิดดำเนินการต่อไปเมื่อสถานการณ์ดีขึ้น”

ทั้งนี้ บริษัท DTCI เป็นผู้ผลิตเครื่องเขียน แบรนด์ LANCER มีทั้งปากกาลูกลื่น ปากกาเคมี ปากกาเขียนไวท์บอร์ด ปากกาไฮไลต์ และอุปกรณ์เครื่องเขียนอื่นๆ

CPF ส่งมอบอาหารปลอดภัย บรรเทาความเดือดร้อนของชาวเพชรบุรี

นายกอบชัย บุญอรณะ ผู้ว่าราชการจังหวัดเพชรบุรี รับมอบผลิตภัณฑ์อาหารปลอดภัย จาก บริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) หรือ ซีพีเอฟ ในโครงการ CPF ส่งอาหารจากใจ ร่วมต้านภัยโควิด-19 โดยมี นายวิโรจน์ รชตธนภัทรพร้อมด้วย นายอลงกรณ์ วารีรักษ์ และ นายสัมฤทธิ์ แสงลอย ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ ผู้แทนบริษัทฯ ส่งมอบ เพื่อนำไปสมทบให้กับโรงครัวใช้ในการประกอบอาหารแจกจ่ายให้กับประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากวิกฤติโควิด-19 ในพื้นต่อไป ณ ศาลากลางจังหวัดเพชรบุรี

นายกอบชัย บูญอรณะ ผู้ว่าราชการจังหวัดเพชรบุรี กล่าวว่า ขอขอบคุณซีพีเอฟ ที่ได้สนับสนุนอาหารแทนความห่วงใยที่จะใช้สู้โควิด-19 นอกเหนือจากการทำงานของหน่วยงานภาครัฐที่มุ่งมั่นทำงานอย่างเต็มที่ทุกมาตรการแล้ว ความสำเร็จที่มาจากภาคเอกชนก็เป็นส่วนสำคัญ ที่เสริมสร้าง ขวัญ กำลังใจ ให้กับเจ้าหน้าที่และพี่น้องประชาชนให้ผ่านพ้นวิกฤติโควิด-19 ไปด้วยกัน

นายวิโรจน์ รชตธนภัทร ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ ซีพีเอฟ กล่าวว่า ซีพีเอฟ มุ่งมั่นช่วยเหลือประชาชน เราคนไทยจะไม่ทอดทิ้งกัน โดยบริษัทได้ส่งมอบอาหารปลอดภัยให้กับเจ้าหน้าที่ผู้ที่ทุ่มเทในการปฏิบัติงาน อีกทั้งยังส่งต่อไปให้พี่น้องประชาชนเพื่อบรรเทาความเดือดร้อน ให้ทุกคนพร้อมสู้กับวิกฤติโควิด-19 ไปด้วยกัน สำหรับผลิตภัณฑ์อาหารปลอดภัยที่นำมามอบให้ในครั้งนี้ มีอาหารสำเร็จรูปแช่แข็ง น้ำดื่ม 50 โหล และไข่ไก่ 1,500 ฟอง โดยจะนำไปสมทบให้โรงครัวเพื่อใช้ประกอบอาหารแจกจ่ายให้กับประชาชนต่อไป

AIS Business เปิดศูนย์ปฏิบัติการฯ สู้ภัยไซเบอร์ สร้างความปลอดภัยให้ลูกค้าองค์กร

พบอาชญากรรมทางไซเบอร์ทั่วโลกเดือนมี.ค. 2563 เพิ่มสูงขึ้น 37% เมื่อเทียบกับเดือนก.พ.

มีองค์กรและธุรกิจที่ Work From Home ถูกโจมตีทางไซเบอร์เพิ่มสูงขึ้นกว่า 127%

คาดว่าอาชญากรรมทางไซเบอร์ทั่วโลกจะสร้างความเสียหายมากกว่า 6 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ ภายในปี 2021

เตรียมพร้อมธุรกิจไทย รับ New Normal หลังวิกฤตโควิด-19

นายยงสิทธิ์ โรจน์ศรีกุล หัวหน้าคณะผู้บริหารกลุ่มลูกค้าองค์กร เอไอเอส เปิดเผยว่า ทุกวันนี้ การโจมตีหรือภัยคุกคามทางไซเบอร์เกิดขึ้นได้ตลอดเวลา โดยมีกลุ่มองค์กรและภาคธุรกิจเป็นเป้าหมายหลัก ยิ่งในสถานการณ์ปัจจุบันที่ทุกองค์กรให้พนักงานทำงานจากที่บ้าน (Work From Home) ซึ่งบางครั้งต้องเข้าสู่ระบบของบริษัท ทำให้เป็นช่องโหว่ให้เกิดภัยไซเบอร์ตามมา

ยงสิทธิ์ โรจน์ศรีกุล หัวหน้าคณะผู้บริหารกลุ่มลูกค้าองค์กร เอไอเอส

ขณะเดียวกัน ภาครัฐได้ประกาศใช้ พ.ร.บ.การรักษาความปลอดภัยมั่นคงไซเบอร์ พ.ศ.2562 และ พ.ร.บ.คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล พ.ศ.2562 เพื่อให้องค์กรที่เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะองค์กรที่อยู่ในกลุ่มโครงสร้างพื้นฐานสำคัญทางสารสนเทศ ประกอบด้วย กลุ่มความมั่นคงและบริการภาครัฐ, กลุ่มการเงิน, กลุ่มเทคโนโลยีสารสนเทศและโทรคมนาคม, กลุ่มการขนส่งและโลจิสติกส์, กลุ่มพลังงานและสาธารณูปโภค และกลุ่มสาธารณสุข ให้ความสำคัญต่อการจัดระบบรักษาความปลอดภัยทางไซเบอร์และการดูแลความปลอดภัยข้อมูล ซึ่งเป็นพื้นฐานสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจดิจิทัลของประเทศ

AIS Business จึงได้พัฒนาโซลูชั่นและบริการ AIS Cyber Secure เพื่อดูแลความปลอดภัยทางไซเบอร์ให้กับลูกค้าองค์กรโดยเฉพาะ ด้วยการเปิดศูนย์ปฏิบัติการด้านความปลอดภัยไซเบอร์ หรือ CSOC ขึ้น โดยร่วมมือกับ Trustwave บริษัทผู้เชี่ยวชาญด้านความปลอดภัยไซเบอร์ อันดับต้นของโลก พร้อมนำความเชี่ยวชาญด้าน Cyber Security ของเอไอเอสในการดูแลความปลอดภัยไซเบอร์ให้กับลูกค้าเอไอเอสทั้งฐาน ตลอดจนเครื่องมือและเทคโนโลยีที่ทันสมัยในการตรวจจับ แจ้งเตือน และป้องกันการโจมตีทางไซเบอร์ ตลอด 24 ชั่วโมง เพื่อให้ทุกองค์กรสามารถเดินหน้าทำงาน ทำธุรกิจ ได้อย่างมั่นใจ ไร้กังวลเรื่องภัยไซเบอร์

นอกจากนี้ กลุ่มบริการ AIS Cyber Secure ยังมีหลายหลายโซลูชันส์ที่พร้อมประยุกต์ เพื่อตอบโจทย์ความต้องการของแต่ละองค์กร ดังนี้

• Enterprise Mobility Management เครื่องมือช่วยบริหารจัดการการใช้งานบนมือถือให้เป็นไปตามนโยบายของบริษัท

• Network Firewall เครื่องมือ Firewall ที่เชื่อถือได้เพิ่มประสิทธิภาพให้กับธุรกิจ

• IT Log Management ศูนย์รวมการจัดเก็บข้อมูลการใช้อินเทอร์เน็ตตามกฎหมาย

• Vulnerability Assessment & Penetration Testing ค้นหาช่องโหว่และจุดอ่อนใน Network ขององค์กร พร้อมทำหน้าที่เสมือนเป็นแฮกเกอร์เพื่อวินิจฉัยช่องโหว่ที่อาจมีอยู่ เพื่อรักษาความปลอดภัยข้อมูลและป้องกันจากแฮกเกอร์

สำหรับลูกค้าองค์กร ภาคธุรกิจ และเอสเอ็มอี ที่สนใจใช้บริการ AIS Cyber Secure รวมถึงบริการอื่นๆ ของ AIS Business สามารถติดต่อได้ที่ทีมงานของ AIS ที่ดูแลลูกค้าองค์กร หรือที่เว็บไซต์ https://business.ais.co.th/solution/security.html

มอบเงินช่วยเหลือคุณตาบุญส่ง อสม.ที่เสียชีวิตในหน้าที่

บีทีเอสกรุ๊ป เดินหน้าให้กำลังใจ ครอบครัวคุณตา อสม. ที่สุพรรณบุรี ถือเป็น อสม. รายแรกที่เสียชีวิตระหว่างปฏิบัติหน้าที่

นายคีรี กาญจนพาสน์ ประธานกรรมการ กลุ่มบริษัทบีทีเอส และ นายแพทย์ ชัยวัฒน์ เตชะไพฑูรย์ ผู้อำนวยการศูนย์สนับสนุนนักรบเสื้อขาวสู้ภัย COVID-19 แพทย์สมาคมแห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์

นายคีรี กาญจนพาสน์ ประธานกรรมการ กลุ่มบริษัทบีทีเอส เดินทางไปร่วมแสดงความเสียใจ และให้กำลังใจแก่ครอบครัว เจ้าหน้าที่ อสม. นายบุญส่ง มะนาวหวาน อสม. อายุ 72 ปี ซึ่งเสียชีวิตจากอุบัติเหตุ ระหว่างปฏิบัติหน้าที่อย่างกล้าหาญ และเสียสละ ขณะจะนำหน้ากากอนามัย และเจลล้างมือไปแจกแก่ชาวบ้าน

โดยมี นายแพทย์ธเรศ กรัษนัยรวิวงค์ อธิบดีกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ (สบส.) กระทรวงสาธารณสุข เป็นผู้แทนมอบเงิน จำนวน 500,000 บาท ให้แก่ นางประเสริฐ มะนาวหวาน ภรรยาผู้เสียชีวิต พร้อมด้วย นายรังสิน กฤตลักษณ์ ผู้อำนวยการใหญ่สายปฏิบัติการ บริษัท บีทีเอส กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ จำกัด (มหาชน) ร่วมเป็นสักขีพยาน ณ อำเภอเดิมบางนางบวช จังหวัดสุพรรณบุรี

“วิกฤตการณ์ โควิด-19 ครั้งนี้ รัฐบาลก็ทำดีมากแล้ว ท่านนายกฯ ก็เต็มที่กับเรื่องนี้ ทางกระทรวงสาธารณสุข รวมทั้งนักรบชุดขาวก็เสียสละมาโดยตลอด พวกเราทุกๆ ฝ่าย ได้คำนึงถึงท่านมาโดยตลอด กระผมในนามเอกชนก็ได้เข้ามามีส่วนร่วม ขอให้ท่านปฏิบัติหน้าที่อย่างเต็มที่ ขวัญกำลังใจเป็นเรื่องสำคัญที่จำเป็นมาก ช่วยให้เขามีพลังไปต่อสู้”

โดยเมื่อเร็วๆ นี้ บริษัท บีทีเอส กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ จำกัด (มหาชน) โดย นายคีรี กาญจนพาสน์ ประธานกรรมการ ได้มอบ 1.กรมธรรม์ประกันชีวิตสำหรับแพทย์และพยาบาล จำนวน 50,000,000 บาท 2.กรมธรรม์ประกันชีวิตสำหรับผู้ช่วยพยาบาล เทคนิคการแพทย์และรังสีเทคนิค จำนวน 10,000,000 บาท และ 3.กองทุนสนับสนุนและเยียวยาให้แก่อสม. จำนวนเงิน 10,000,000 บาท ที่บีทีเอสกรุ๊บให้การช่วยเหลือ ครอบคลุมไปทั่วประเทศ ลุงบุญส่งถือว่าเป็น อสม. รายแรกที่เสียชีวิตระหว่างปฏิบัติหน้าที่

ก่อนหน้านี้ เฟสบุ๊ค และทวิตเตอร์ของพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ได้โพสแสดงความเสียใจเมื่อทราบข่าวว่า ลุงบุญส่ง อสม.เสียชีวิตจากอุบัติเหตุขณะขี่จักรยานยนต์เพื่อไปนำเจลล้างมือ และอาหารไปแจกจ่ายให้แก่ชาวบ้านที่เดือดร้อน

แอร์เอเชีย กลับมาเปิดบิน 1 พ.ค. พร้อมเปิดตัวชุดแอร์โฮสเตสเวอร์ชั่นสู้โควิด-19

สตาร์เกต พีเพิล เอเชีย” นิตยสารชื่อดังของฟิลิปปินส์ รายงานว่า สายการบินแอร์เอเชีย ได้เปิดตัวชุดที่สวมใส่เพื่อป้องกันการติดเชื้อไวรัสวิด-19 สำหรับลูกเรือหรือแอร์โอสเตสของสายการบินแอร์เอเชีย ออกแบบโดย “Puey Quinones” นักออกแบบแฟชั่นชื่อดังจากลอสแอนเจลิส

การปรับโฉมชุดลูกเรือนี้เป็นส่วนหนึ่งของแผนของสายการบินแอร์เอเชียที่กำลังเตรียมการกลับมาเปิดบินอีกครั้ง โดยแอร์เอเชียได้กำหนดให้ลูกเรือของสายการบินทั้งเที่ยวบินภายในประเทศ และเที่ยวบินระหว่างประเทศ สวมใส่ชุดป้องกันนี้ เพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 รวมถึงการปฏิบัติตามคำแนะนำของหน่วยงานด้านสาธารณสุขและหน่วยงานด้านการบินอย่างเคร่งครัดเพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด -19

ขอบคุณ ภาพจากเฟสบุ็ค Tommies Away G Pongsiri

นายสันติสุข คล่องใช้ยา ประธานเจ้าหน้าที่บริหารสายการบินไทยแอร์เอเชีย กล่าวว่า สายการบินตัดสินใจเริ่มกลับมาให้บริการเส้นทางในประเทศอีกครั้ง ตั้งเเต่วันที่ 1 พฤษภาคม 2563 เป็นต้นไป เพื่อรองรับผู้โดยสารที่มีความจำเป็นในการเดินทาง ทั้งการกลับบ้านหรือภาคธุรกิจ โดยสายการบินได้ประชุมร่วมกับสำนักงานกรมการบินพลเรือนเเห่งประเทศไทย เเละสายการบินต่างๆ เพื่อเริ่มบินบางเส้นทางภายในประเทศ อาทิ เส้นทางดอนเมืองสู่ เชียงใหม่ เชียงราย ขอนเเก่น อุดรธานี อุบลราชธานี นครพนม ร้อยเอ็ด นครศรีธรรมราช ตรัง หาดใหญ่ สุราษฎร์ธานี และเส้นทางข้ามภาค เชียงใหม่-หาดใหญ่ เป็นต้น ทั้งนี้สายการบินจะอัพเดตให้ทราบเส้นทางต่างๆ เพิ่มเติม ผ่านเฟซบุ๊กแอร์เอเชียต่อไป

ทั้งนี้ สายการบินแอร์เอเชีย ได้กำหนดมาตรการเข้มงวดเพื่อป้องกันเเละลดโอกาสการเเพร่ระบาดของ COVID-19 ดังต่อไปนี้

  1. การเว้นระยะห่างผู้โดยสารบนเครื่อง เเบบที่นั่งเว้นที่นั่ง โดยสายการบินจะจำหน่ายเเละควบคุมปริมาณที่นั่งในการเดินทางที่เหมาะสมในทุกเที่ยวบินตามข้อกำหนด รวมทั้งการกำหนดจุดยืนเว้นระยะห่างในรถบัสรับส่ง เเละเคาน์เตอร์บริการต่างๆ
  2. การกำหนดให้ผู้โดยสารทุกคนที่เดินทาง จำเป็นต้องสวมหน้ากากอนามัยตลอดเวลาเมื่อใช้บริการ
  3. การงดจำหน่าย รวมทั้งไม่อนุญาตให้รับประทานอาหารเเละเครื่องดื่มบนเครื่อง 
  4. การกำหนดมาตรการคัดกรองผู้โดยสารที่รัดกุมร่วมกับท่าอากาศยาน การตรวจวัดอุณหภูมิที่ประตูขึ้นเครื่อง ทั้งนี้ หากพบว่าผู้โดยสารมีอุณหภูมิร่างกายเกิน 37.3 องศาเซลเซียส มีอาการไอ จาม หรือเข้าข่ายผู้ต้องเฝ้าระวัง สายการบินอาจจำเป็นต้องปฏิเสธการเดินทางนั้น
  5. อนุญาตให้นำเฉพาะกระเป๋าถือหรือกระเป๋าคอมพิวเตอร์ น้ำหนักไม่เกิน 5 กิโลกรัมขึ้นเครื่องได้ 1 ใบเท่านั้น โดยมีขนาดไม่เกิน สูง 40 ซม. X กว้าง 30 ซม. X ลึก 10 ซม. ส่วนสัมภาระอื่นที่มีน้ำหนักไม่เกิน 7 กิโลกรัม สามารถโหลดลงใต้ท้องเครื่องได้โดยไม่มีค่าใช้จ่าย
  6. แนะนำให้ผู้โดยสารทุกคนเช็คอินด้วยตนเองผ่านเว็บ โมบาย หรือคิออสเช็คอิน เพื่อลดโอกาสสัมผัส สำหรับผู้โดยสารกับพนักงานผู้ให้บริการ

นอกจากนี้ ลูกเรือที่ปฏิบัติหน้าที่บนเที่ยวบิน รวมถึงพนักงาน จะได้รับการตรวจวัดอุณหภูมิร่างกายในทุกๆ ครั้ง ก่อนเเละหลังการปฏิบัติหน้าที่ รวมถึงจะสวมอุปกรณ์ป้องกัน ได้แก่ หน้ากากอนามัย แว่นตา และถุงมือ ตลอดการให้บริการ

ทั้งนี้ สายการบินแอร์เอเชียยังคงกำหนดมาตรการทำความสะอาดเเละฆ่าเชื้อทั้งภายในเครื่องบิน รถบัสขนส่ง เคาน์เตอร์บริการเเละตู้คีออสเช็คอินตามมาตรฐานเป็นประจำทุกวัน การพ่นและอบสเปรย์ฆ่าเชื้อ รวมทั้งมั่นใจด้วยระบบกรองอากาศที่สามารถกรองอนุภาคขนาดเล็กได้มากกว่า 99.99% ด้วย HEPA FILTER ในเครื่องบินทุกลำ เพื่อให้ผู้โดยสารทุกคนเดินทางได้อย่างมั่นใจสูงสุดกับแอร์เอเชีย

เปิดแผนปลดล็อดสถานประกอบการ จัดลำดับเรียงตามความเสี่ยงของพื้นที่และประเภท

คณะที่ปรึกษาด้านธุรกิจภาคเอกชน ในศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) หรือ ศบค. โดยคณะทำงานกลุ่มมาตรการสำหรับการมาเปิดธุรกิจ ได้จัดทำ “คู่มือเตรียมความพร้อมการเปิดสถานประกอบการภายใต้สถานการณ์ COVID-19”

โดยพิจารณาความเสี่ยง แบ่งตาม สถานประกอบการ และ พื้นที่ รวมทั้งข้อปฏิบัติพื้นฐานที่สถานประกอบการต้องปฏิบัติตาม โดยจะมีการจัดทำคู่มือการปฏิบัติสำหรับสถานประกอบการแต่ละประเภท

เกณฑ์การจัดระดับความเสี่ยง พิจารณาจำแนกตามสถิติการแพร่ระบาดของแต่ละพื้นที่จังหวัด แบ่งกลุ่มเป็นจังหวัดที่มีความเสี่ยงต่ำ ปานกลางและสูง

สำหรับความเสี่ยงของสถานประกอบการ แบ่งเป็น 3 กลุ่มคือ สถานประกอบการที่มีความเสี่ยงต่ำ ปานปลางและสูง ซึ่งสำหรับสถานประกอบการที่มีความเสี่ยงสูงไม่สามารถเปิดดำเนินการได้ ไม่ว่าจะอยู่ในพื้นที่จังหวัดที่มีระดับความเสี่ยงต่ำ หรือปานกลางก็ตาม

เกณฑ์ที่ใช้ในการจัดระดับความเสี่ยงของกิจกรรมต่างๆ มี 4 องค์ประกอบ คือ ความหนาแน่นของผู้คนที่มาร่วม ระยะเวลาที่ใช้ กิจกรรมที่ผู้คนทำ และการระบายอากาศ

สำหรับกิจกรรมที่มีความเสี่ยงต่ำ ต้องอยู่ห่างกันมากกว่าหรือเท่ากับ 1 เมตร ใช้เวลาอยู่ด้วยกันน้อยกว่า 30 นาที มีการพูดคุยธรรมดาไม่มาก และเป็นสถานที่เปิดไม่ติดแอร์ อากาศสามารถ่ายเทได้ดี

กิจกรรมที่มีความเสี่ยงปานกลาง มีระยะห่างของคนน้อยกว่า 1 เมตร แต่ไม่เบียดเสียด ใช้เวลาอยู่ร่วมกัน 30 นาที- 1ชั่วโมง มีการส่งเสียงพูด ร้องตะโกนเป็นบางช่วง และสถานที่ปิด หรือติดแอร์ การระบายอากาศเพียงพอ

กิจกรรมที่มีความเสี่ยงมาก มีการเบียดเสียด ห่างกันน้อยกว่า 30 เซนติเมตร ใช้เวลาอยู่ร่วมกันมากกว่า 1 ชั่วโมง มีการส่งเสียงพูด ร้อง ตะโกน เดือบตลอดเวลา และเป็นสถานที่ปิด หรือ ติดแอร์ การระบายอากาศไม่เพียงพอ

เมื่อจัดระดับความเสี่ยงแล้ว จึงจำแนกกลุ่มสถานประกอบการแต่ละกลุ่มที่สามารถเปิดได้ และบางประเภทไม่สามารถเปิดดำเนินการได้ คือ

กลุ่มความเสี่ยงต่ำที่สุด เป็นสถานประกอบการขนาดเล็ก อยู่ที่โล่งแจ้ง มีลักษณะเป็นหาบเร่ แผงลอย หรือไม่มีหน้าร้านเป็นหลักแหล่ง

กลุ่มความเสี่ยงต่ำ สถานประกอบการขนาดเล็ก ติดแอร์ หรือ ไม่ติดแอร์ ไม่มีการสัมผัสตัว เช่น ร้านขายหนังสือ ร้านขายเสื้อผ้า ร้านขายของทั่วไป ร้านขายวัสดุก่อสร้าง สวนสาธารณะ สนามออกกำลังกายกลางแจ้ง ลานกีฬา เช่น สนามเทนนิส

กลุ่มความเสี่ยงปานกลาง จำแนกเป็น สถานที่รวมร้านค้าขนาดเล็ก เช่น ตลาดสด ตลาดนัด ตลาดอาหาร ฟู้ดเซ็นเตอร์ สถานประกอบการขนาดใหญ่ เช่น ห้างสรรพสินค้า ร้านค้าโมเดิร์นเทรด คอมมูนิตี้มอลล์ เป็นต้น สถานประกอบการขนาดเล็ก ติดแอร์ มีการสัมผัสตัว เช่น ร้านทำตัดผม คลีนิคความงาม คลีนิคแพทย์ คลืนิคทำฟัน สนามกีฬาบางประเภท มีพื้นที่ห่างกัน ที่มีการระบายอากาศ เช่น สนามแบตมินตัน สระว่ายน้ำ

กลุ่มความเสี่ยงสูง จำแนกเป็น สถานประกอบการขนาดเล็กติดแอร์ แต่มีการนั่งอยู่กับที่นาน ๆ เช่น ร้านเกมส์ ร้านอินเตอรเ์น็ต  สถานประกอบการที่อยู่ในห้องแอร์ แต่มีลักษณะผู้ใช้บริการต้องนั่งอยู่เป็นเวลานาน ๆ 1-2 ชั่วโมง เช่น โรงภาพยนตร์ โรงละคร โรงมหรสพอื่น ร้านนวด สถานประกอบการท่ีมีการชุมนุมผู้คนจำนวนมากและอยู่ในสถานที่ปิด เช่น ศูนย์แสดงสินค้า ศูนยป์ระชุม ห้องจัดเลี้ยงขนาดใหญ่ สถานประกอบการที่ชักนำให้มีการเคลื่อนที่ของคนข้ามพื้นท่ี เช่น สถาบันกวดวชิา สถานประกอบการท่ีมีการชุมนุมจำนวนมากอยู่ในสถานที่เปิดแต่ชวนให้ส่งเสียงดังตะโกนเชียร์ เช่น สนามกีฬา และ สถานประกอบการท่ีมีหลักฐานชัดเจนว่าเป็นแหล่งแพร่เชื้อ เนื่องจากมีพื้นที่ปิด อากาศไม่ถ่ายเท มีกิจกรรมที่มีการส่งเสียง ตะโกน เชียร์ ผับ บาร์คาราโอเกะ สนามมวย โรงสอนมวย สนามกฬีาในห้องแอร์

และกลุ่มสุดท้าย ที่มีความเสี่ยงสูง จะไม่ได้รับการพิจารณาเปิดดำเนินการ จนกว่าจะมีมาตรการหรือหลักฐานทางวิทยาศาสตร์แสดงให้เห็นว่าปลอดภัย ถึงค่อยทบทวนให้สามารถเปิดบริการได้

ทั้งนี้ สำหรับสถานประกอบการที่สามารถเปิดบริการได้ กระทรวงสาธารณสุขจะจัดทำคู่มือสำหรับสถานประกอบการรายประเภท ใช้เป็นแนวทางปฏิบัติ และต้องลงทะเบียนออนไลน์ เพื่อแจ้งว่า ได้ดำเนินการเรียบร้อย ตามข้อปฏิบัติพื้นฐานและคู่มือสำหรับสถานประกอบการแล้ว จากนั้นถึงจะเปิดดำเนินการตามมาตรการป้องกัน รวมถึงจัดระบบลงทะเบียนสำหรับสถานประกอบการ