Home Blog Page 30

เงาหุ้น : ปรับฐาน!!

ดัชนีหุ้นไทยวันที่ 19 มิ.ย.63 ปิดที่ 1,370.82 จุด ลดลง 2.16 จุด มีมูลค่าซื้อขาย 63,320.03 ล้านบาท ต่างชาติขายสุทธิ 4,036.65 ล้านบาท

หุ้นไทยสัปดาห์นี้ปรับฐานลงต่ออีก 12 จุด นักลงทุนกังวลการระบาดรอบ 2 ของไวรัสโควิด-19 ขณะที่สัปดาห์นี้ต่างชาติขายสุทธิต่อเนื่องอีก 13,951 ล้านบาท สถาบันในประเทศซื้อสุทธิ 3,933 ล้านบาท รายย่อยซื้อสุทธิ 9,985 ล้านบาท และพอร์ตโบรกเกอร์ซื้อสุทธิ 32 ล้านบาท

มีข่าวจาก ก.ล.ต. กล่าวโทษอดีตกรรมการและผู้บริหาร IFEC กับพวกรวม 5 ราย ต่อกองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเศรษฐกิจ (บก.ปอศ.) กรณีกระทำทุจริตแสวงหาประโยชน์โดยมิชอบด้วยกฎหมาย จากกรณีที่ IFEC ซื้อหุ้นของบริษัท ซีอาร์ โซลาร์ จำกัด หรือ CRS ช่วงปี 57-58 เป็นเหตุให้ IFEC ได้รับความเสียหาย
โดยผู้ถูกกล่าวโทษประกอบด้วยนายวิชัย ถาวรวัฒนยงค์ ขณะเกิดเหตุ เป็นประธานกรรมการและประธานกรรมการบริหาร, นายสิทธิชัย พรทรัพย์อนันต์ ขณะเกิดเหตุ เป็นรองประธานกรรมการ รองประธานกรรมการบริหาร ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร และกรรมการผู้จัดการ, บริษัท ที แอนด์ เอส อินเตอร์ โปรดักส์ ไลฟ์ จำกัด หรือ T&S, นายปัณณวิชญ์ จตุรพรสวัสดิ์ เป็นกรรมการผู้มีอำนาจกระทำการแทนบริษัท T&S และนายธนวัตน์ แก่นทอง

จากการตรวจสอบพยานหลักฐานพบว่า ปลายปี 57 IFEC โดยกรรมการ คือนายวิชัยและนายสิทธิชัย ได้ตกลงจะซื้อหุ้น CRS โดยตรงจากผู้ถือหุ้นเดิมของ CRS ที่ราคา 142 ล้านบาท จากการชักนำของ นายธนวัตน์ และได้จ่ายเงิน 20 ล้านบาทเพื่อวางมัดจำไว้แก่ผู้ถือหุ้นเดิมแล้ว แต่ในวันทำสัญญาซื้อขายหุ้น CRS เมื่อ 12 ก.พ.58 กลับมี T&S เข้ามาทำสัญญาซื้อขายแทน ที่ราคา 155 ล้านบาท โดยไม่มีเหตุสมควร

ทำให้ IFEC ต้องชำระเงินเพิ่มอีก 13 ล้านบาท ให้แก่ T&S โดยผู้ถือหุ้นเดิมของ CRS ได้รับเงินค่าขายหุ้น CRS 142 ล้านบาทตามที่ตกลงกันไว้เท่านั้น การกระทำดังกล่าวเป็นการทุจริตแสวงหาประโยชน์โดยมิชอบด้วยกฎหมายเพื่อตนเองหรือบุคคลอื่น รวมถึงได้ลงข้อความเท็จในเอกสารของ IFEC และเปิดเผยข้อมูลต่อตลาดหลักทรัพย์ฯ โดยอ้างว่า IFEC ได้ทำสัญญาซื้อขายหุ้น CRS ที่ราคา 155 ล้านบาท เพื่อลวงบุคคลใดๆ อันทำให้ IFEC ได้รับความเสียหาย

การกระทำดังกล่าวเข้าข่ายเป็นความผิดตาม พ.ร.บ.หลักทรัพย์ พ.ศ.2535 ก.ล.ต.จึงกล่าวโทษบุคคลทั้ง 5 ต่อ บก.ปอศ. และยังแจ้งการดำเนินคดีตาม พ.ร.บ.หลักทรัพย์ฯ ต่อสำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.) ด้วย!!

ที่มา คอลัมน์ เงาหุ้น โดย อินเด็กซ์51 หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ

ซีพีเอฟ จับมือคู่ค้า พันธมิตร เดินหน้า Food Truck มอบอาหารครั้งที่ 22

นายสากล ม่วงศิริ ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ร่วมกับ บริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) หรือ ซีพีเอฟ นำโดย นายวิบูลย์ สุภัครพงษ์กุล รองกรรมการผู้จัดการบริหาร และ นายวิโรจน์ ยุทธยงค์ รองกรรมการผู้จัดการอาวุโส พร้อมด้วยคณะผู้บริหารและพนักงานซีพีเอฟจิตอาสา ร่วมมอบอาหารอุ่นร้อนพร้อมรับประทาน จาก CPF Food Truck ในโครงการ “อาหารปลอดภัย จากใจ..สู่ชุมชน” ครั้งที่ 22 ที่วัดพรหมรังษี เขตบางขุนเทียน กรุงเทพฯ

CPF มุ่งมั่นช่วยเหลือประเทศชาติ ประชาชน ให้ก้าวผ่านวิกฤตโควิด-19 ไปด้วยกัน ภายใต้แนวคิด Good Corporate Citizen ตามหลักปรัชญา 3 ประโยชน์สู่ความยั่งยืน เพื่อให้ประชาชนได้เข้าถึงอาหารคุณภาพ อร่อย ปลอดภัย และถูกสุขอนามัย โดยเฉพาะในช่วงสถานการณ์โควิด-19

สำหรับโครงการ “อาหารปลอดภัย จากใจ..สู่ชุมชน” CPF Food Truck ได้นำอาหารคุณภาพปลอดภัย 6 เมนู ได้แก่ ข้าวอกไก่ซอสจิ้มแจ่ว ข้าวผัดไก่ย่างซอสเกาหลี ข้าวไก่สไปซี่ ข้าวอกไก่ย่างซอสเกาหลี ข้าวตับกระเทียม และข้าวไข่เจียว พร้อมด้วย น้ำแร่ และไข่ต้ม CP มามอบให้แก่ชุมชนต่างๆ ในกรุงเทพฯ รวมทั้งหมด 6 เขต ได้แก่ บางกอกน้อย บางพลัด ห้วยขวาง บางบอน หนองแขม และบางขุนเทียน

นอกจากนี้ ซีพีเอฟ ยังร่วมกับบริษัทในเครือ CP อย่าง ข้าวตราฉัตร และ ซิมทรู พร้อมด้วย คู่ค้าและพันธมิตร ได้แก่ โอสถสภา ร่วมมอบเครื่องดื่มเอ็มเกลือแร่-คาลพิสแลคโตะ, Mcยีนส์ ร่วมมอบหน้ากากผ้า พร้อมด้วย น้ำตาลมิตรผล และ SCG ร่วมด้วย

เงาหุ้น : หุ้นผันผวนต่ำปันผลสูง

ดัชนีหุ้นไทยวันที่ 18 มิ.ย.63 ปิดที่ 1,372.98 จุด ลบ 3.20 จุด มีมูลค่าซื้อขาย 70,282.43 ล้านบาท ต่างชาติขายสุทธิ 4,462.59 ล้านบาท

หุ้นมูลค่าซื้อขายสูงสุด SUPER ปิด 1 บาท ลบ 0.01 บาท, AOT ปิด 61.75 บาท ลบ 1.50 บาท, KBANK ปิด 97.75 บาท ลบ 2 บาท, SAWAD ปิด 57.50 บาท ลบ 1.50 บาท และ CPF ปิด 32 บาท บวก 0.75 บาท

ตลาดหุ้นไทยแกว่งตัว sideway ในทิศทางขาลง หลังขาดปัจจัยใหม่ๆเข้ามากระตุ้น ขณะที่นักลงทุนระมัดระวังและกังวลต่อสถานการณ์แพร่ระบาดระลอกสอง ของ COVID-19

บล.เอเซียพลัส ออกบทวิเคราะห์ระบุว่า เดือน มิ.ย. 63 หุ้นไทยอยู่ในภาวะการเก็งกำไรอย่างเห็นได้ชัด จาก 2 ประเด็น

1.ผลตอบแทนหุ้นขนาดเล็ก Outperform เป็นพิเศษ สะท้อนได้จากดัชนีหุ้นขนาดเล็กที่ไม่ได้อยู่ใน MAI อย่าง SSET Index ให้ผลตอบแทนสูงถึง 5.07% (mtd) สูงกว่า SET Index ที่ให้ผลตอบแทนเพียง 2.48% (mtd) และสูงกว่า SET50 Index (ประกอบด้วยหุ้นขนาดใหญ่) ที่ให้ผลตอบแทนเพียง 2.07% (mtd) เท่านั้น

แสดงให้เห็นถึงภาวะการเข้ามาเก็งกำไรของนักลงทุน รวมถึงการปรับตัวเพิ่มขึ้นของดัชนียังขาดเสถียรภาพ

2.ต่างชาติกลับมาขายสุทธิ ทั้งในตลาดหุ้นและตลาดฟิวเจอร์สไทย ภาพรวม Fund Flow ในตลาดหุ้นภูมิภาคเดือน มิ.ย. ต่างชาติสลับมาขายสุทธิเกือบทุกประเทศ รวมถึงตลาดหุ้นไทยถูกขายสุทธิมากสุดในภูมิภาคราว 56 ล้านเหรียญ

โดยเฉพาะ 1 สัปดาห์ที่ผ่านมาต่างชาติขายสุทธิหุ้นไทยไปแล้วกว่า 8.2 พันล้านบาท พร้อมกับเปิดสัญญาชอร์ตสุทธิ SET50 Futures กว่า 3.1 หมื่นสัญญา ในช่วงเวลาเดียวกัน

สรุป ตลาดหุ้นยังเผชิญปัจจัยกดดันรอบด้าน ทั้งความกังวลการระบาด COVID-19 ระลอกที่ 2 และในประเทศมีปัจจัยกดดันกลุ่มการเงิน จากมาตรการช่วยเหลือลูกหนี้ ผ่านการลดดอกเบี้ยทุกกลุ่ม ขณะเดียวกัน Fund Flow เริ่มชะลอการไหลเข้าตลาดหุ้นไทยอย่างเห็นได้ชัด

ดังนั้น กลยุทธ์ยังคงเน้นลงทุนในหุ้นผันผวนต่ำปันผลสูง อย่าง TTW, INTUCH, BTSGIF, AP, TVO รวมถึงหุ้นที่มีปัจจัยบวกเฉพาะตัว อย่าง CPALL, CPF และเก็งกำไรหุ้นขนาดเล็กที่น่าจะ Outperform ตลาดได้ดีในช่วงนี้ อย่าง AMATA, DCC!!

ที่มา คอลัมน์ เงาหุ้น โดย อินเด็กซ์ 51 หนังสือพิมพ์ ไทยรัฐ

แบงก์ชาติ ร่วมมือภาคเอกชน พัฒนาระบบต้นแบบการชำระเงินโดยใช้สกุลเงินดิจิทัล

ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ประกาศโครงการพัฒนาระบบต้นแบบการชำระเงินโดยใช้สกุลเงินดิจิทัลที่ออกโดยธนาคารกลาง (Central Bank Digital Currency: CBDC) ร่วมกับภาคธุรกิจเอกชน ซึ่งเป็นการต่อยอดการพัฒนาจากโครงการอินทนนท์ เพื่อศึกษาความเป็นไปได้และแนวทางในการเชื่อมต่อ CBDC กับนวัตกรรมที่พัฒนาโดยภาคเอกชน

รายงานข่าวจากธนาคารแห่งประเทศไทย เปิดเผยว่า  ธปท. เห็นความสำคัญและสนับสนุนการพัฒนานวัตกรรมและเทคโนโลยีทางการเงินเพื่อยกระดับขีดความสามารถทางการแข่งขันและความพร้อมของภาคธุรกิจที่เข้าสู่ยุคดิจิทัล ซึ่งโครงการนี้เป็นก้าวแรกที่สำคัญในการนำ CBDC ไปเชื่อมสู่ภาคธุรกิจที่มีขอบเขตการใช้ประโยชน์ที่กว้างขึ้น ในการทดสอบ CBDC จะถูกเชื่อมต่อกับระบบการบริหารการจัดซื้อและการชำระเงินระหว่าง บริษัทปูนซิเมนต์ไทย จำกัด (มหาชน) กับคู่ค้า (Suppliers) ในห่วงโซ่อุปทาน โดยมี บริษัท ดิจิทัล เวนเจอร์ส จำกัด ซึ่งเป็นผู้พัฒนาระบบดังกล่าวร่วมทดสอบ โดย ธปท. คาดหวังว่าระบบต้นแบบการชำระเงินนี้จะรองรับนวัตกรรมทางการเงินของภาคธุรกิจที่สามารถเพิ่มประสิทธิภาพการชำระเงิน เช่น มีความยืดหยุ่นในการโอนเงินมากขึ้น เพิ่มความเร็วและความคล่องตัวในการชำระเงินระหว่างกัน การทดสอบดังกล่าวจะเริ่มต้นในเดือนกรกฎาคม 2563 และคาดว่าจะแล้วเสร็จภายในปี 2563 ซึ่ง ธปท. จะเผยแพร่ผลการทดสอบและแนวทางการดำเนินงานต่อไป

นอกจากนี้ โครงการอินทนนท์ ซึ่งเป็นความร่วมมือระหว่าง ธปท. และสถาบันการเงิน 8 แห่ง ที่ร่วมกันศึกษาและทดสอบการใช้สกุลเงินดิจิทัลในการชำระเงินระหว่างธนาคาร (Wholesale CBDC) ได้ดำเนินการสำเร็จลุล่วงแล้ว รวมทั้งได้ทดสอบการโอนเงินระหว่างประเทศร่วมกับธนาคารกลางฮ่องกง (Hong Kong Monetary Authority: HKMA) เสร็จสิ้นในเดือนมกราคม 2563 ปัจจุบัน ธปท. และ HKMA ร่วมกับสถาบันการเงินสมาชิก อยู่ระหว่างดำเนินการเพื่อขยายขอบเขตการทดสอบการโอนเงินระหว่างประเทศโดยใช้ CBDC ซึ่งจะมีการประกาศในรายละเอียดต่อไป

ธปท. เชื่อมั่นว่ากระบวนการพัฒนานวัตกรรมทางการเงินร่วมกับภาคธุรกิจเป็นรากฐานสำคัญสำหรับการเตรียมเข้าสู่โลกดิจิทัลทางการเงินในอนาคต โดย ธปท. ยังคงเปิดกว้างสำหรับภาคธุรกิจที่สนใจร่วมพัฒนานวัตกรรมต่าง ๆ เพื่อนำไปสู่การใช้ประโยชน์ในวงกว้างต่อไป

เงาหุ้น : หุ้นแบงก์–นอนแบงก์!!

ดัชนีหุ้นไทยวันที่ 17 มิ.ย.63 ปิดที่ 1,376.18 จุด เพิ่มขึ้น 9.05 จุด มีมูลค่าซื้อขาย 71,555.79 ล้านบาท ต่างชาติขายสุทธิ 1,860.54 ล้านบาท

หุ้นมูลค่าซื้อขายสูงสุด MINT ปิด 23.10 บาท บวก 1.20 บาท, PTT ปิด 38 บาท ไม่เปลี่ยนแปลง, STA ปิด 29 บาท บวก 1.75 บาท, KTC ปิด 31 บาท บวก 1 บาท และ PTTEP ปิด 93.75 บาท ลบ 0.25 บาท ตลาดหุ้นไทยดีดกลับขึ้นตามตลาดต่างประเทศ จากการออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจทั้งในและต่างประเทศ 

บล.บัวหลวง ออกบทวิเคราะห์ถึงกรณีที่แบงก์ชาติร้องขอให้กลุ่มลิสซิ่งและนอนแบงก์ให้ความช่วยเหลือแก่ลูกค้าผ่านการลดอัตราดอกเบี้ย 1-2% และขยายโครงการลดชำระค่างวด/เงินต้น และหรือพักชำระหนี้ออกไปอีก (ยังรอข้อสรุป) ประเมินว่า KTC อาจได้รับผลเสียจากผลการลดอัตราดอกเบี้ย 1-2% ของเพดานดอกเบี้ยบัตรเครดิตที่ 18% มีผลต่อประมาณการกำไรปี 63 ราว 6% และ 10% ปี 64 (สินเชื่อบุคคลไม่กระทบมากเพราะคิดดอกเบี้ยเฉลี่ย 26.5%)

ขณะที่ MTC ไม่น่าได้รับผลกระทบ ปัจจุบันคิดดอกเบี้ยลูกค้า 24% ซึ่งมีอัตราต่ำกว่าเพดานเงินกู้ที่ 28% ถึง 4% รวมถึงมีผู้ร้องขอ เรื่องการพักชำระหนี้เงินต้นและลดค่างวดน้อยมาก ด้าน SAWAD ก็อาจไม่ได้รับผลกระทบ แม้ปัจจุบันคิดดอกเบี้ยลูกค้า 28% ผ่านบริษัทเงินทุนศรีสวัสดิ์ (BFIT) ที่อยู่ภายใต้การกำกับของแบงก์ชาติเหมือนธนาคารพาณิชย์อื่นอยู่แล้ว รวมถึงมีผู้ร้องขอเรื่องการพักชำระหนี้เงินต้นและลดค่างวดน้อยมาก

ทั้งนี้ เชื่อว่ามาตรการแบงก์ชาติน่าจะมีผลบังคับใช้ และเชื่อว่า KTC มีความเสี่ยงจะได้รับผลกระทบสูงสุด ต่อประมาณการกำไร และอาจลดสำรองค่าเผื่อหนี้สูญลงปี 63–64 และลดต้นทุนการเงิน (ผ่านการกู้ Soft loan) เพื่อรักษาระดับกำไรให้ไม่ผันผวนมากนัก

ระยะสั้นแนะให้เลี่ยงลงทุนไปก่อน หากความชัดเจนไม่ปรากฏ ขณะที่แนะนำซื้อลงทุน MTC และ SAWAD หากราคาปรับตัวลงจากข่าวนี้

ปิดท้าย บล.ทิสโก้ออกบทวิเคราะห์หุ้นแบงก์ แนะ “ซื้อ” หุ้น BBL ให้มูลค่าเหมาะสม 154 บาท เนื่องด้วยโครงการของภาครัฐขับเคลื่อนด้วยอุปสงค์เป็นหลัก, การปรับโครงสร้างที่ต่ำของสินเชื่อธุรกิจแสดงให้เห็นถึงผลกระทบที่จำกัดกว่ากลุ่มอื่น และมีการตั้งสำรองล่วงหน้าที่สูงกว่ากลุ่ม

ที่มา คอลัมน์ เงาหุ้น โดย อินเด็กซ์51 หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ

ซีพีเอฟ หนุนผลิตไบโอก๊าซในฟาร์มและโรงงาน ส่งเสริมความมั่นคงทางพลังงานอย่างยั่งยืน

นายสุชาติ วิริยะอาภา รองกรรมการผู้จัดการอาวุโส ด้านความปลอดภัย อาชีวอนามัย สิ่งแวดล้อมและพลังงาน ซีพีเอฟ เปิดเผยว่า บริษัทดำเนินการปรับเปลี่ยนการใช้พลังงานอย่างเหมาะสมต่อเนื่อง โดยคำนึงถึงความมั่นคงทางพลังงานของบริษัทฯ ให้สอดคล้องกับการเติบโตของธุรกิจและสอดคล้องกับต้นทุน ตลอดจนการเพิ่มสัดส่วนการผลิตพลังงานหมุนเวียนในองค์กรและการผลิตพลังงานด้วยเทคโนโลยีประสิทธิภาพสูง เช่น โครงการก๊าซชีวภาพ เพื่อลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและชุมชน

ซีพีเอฟ ในฐานะบริษัทเกษตรอุตสาหกรรมและอาหารครบวงจรชั้นนำ มีเป้าหมายในการเพิ่มสัดส่วนการใช้พลังงานในฟาร์มปศุสัตว์ โรงงานแปรรูปอาหารและคอมเพล็กซ์ไก่ไข่ 7 แห่งทั่วประเทศ ให้เป็นแหล่งผลิตพลังงานทดแทนจากก๊าชชีวภาพ ซึ่งปัจจุบันฟาร์มสุกรของบริษัทในประเทศไทย92% มีการผลิตก๊าซชีวภาพเพื่อนำไปผลิตไฟฟ้าสำหรับใช้ในฟาร์มและสถานประกอบการโดยโรงงานอาหารแปรรูปจากเนื้อไก่นำก๊าซชีวภาพจากระบบบำบัดน้ำเสียไปใช้เป็นเชื้อเพลิงทดแทนน้ำมันเตาและก๊าซหุงต้มในหม้อไอน้ำ (Steam Boiler)

ในปี 2562 ธุรกิจสุกร ธุรกิจแปรรูปอาหาร และคอมเพล็กซ์ไก่ไข่ มีการผลิตก๊าซชีวภาพได้รวม48.61 ล้านลูกบาศก์เมตร ช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้ 33,268 ตันคาร์บอนไดอ๊อกไซด์ และยังช่วยลดต้นทุนการผลิตได้อีก 236 ล้านบาท ประกอบการปรับเปลี่ยนมาใช้พลังงานทดแทนตลอดกระบวนการผลิตมาอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้ในปีที่ผ่านมาปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกต่อหน่วยการผลิตลดลง 8%เทียบกับปี 2561 และมีการใช้พลังงานจากก๊าซชีวภาพรวม 1,017,426 กิกะจูล

“ความสำเร็จของการผลิตก๊าซชีวภาพในประเทศไทย ยังได้ขยายผลไปใช้ในกิจการในต่างประเทศของบริษัท เช่น เวียดนาม ลาว กัมพูชา มาเลเซียและฟิลิปปินส์ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการใช้พลังงานและความรับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อมให้เป็นไปในทิศทางเดียวกัน”

นายวุฒิชัย สิทธิปรีดานันท์รองกรรมการผู้จัดการอาวุโส ด้านความรับผิดชอบต่อสังคมและการพัฒนาอย่างยั่งยืน ซีพีเอฟ กล่าวว่าการบรรเทาผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ผ่านการใช้พลังงานทดแทนและการอนุรักษ์พลังงานและมีการดำเนินการอย่างต่อเนื่อง โดยมีเป้าหมายปี 2563 ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกขอบเขตที่ 1 (ปล่อยโดยตรงจากการใช้เชื้อเพลิง) และขอบเขตที่ 2 (การซื้อพลังงานไฟฟ้าจากภายนอก) 15% เทียบกับปีฐาน 2558

นอกจากก๊าซชีวภาพที่ได้จากฟาร์มสุกรจะถูกนำไปใช้ผลิตไฟฟ้าใช้ภายในฟาร์มแล้ว น้ำจากบ่อก๊าซฯจะถูกบำบัดจนได้ค่ามาตรฐานแล้วปล่อยเป็น “น้ำปุ๋ย” ให้กับชุมชนรอบๆฟาร์ม เพื่อใช้ในการเกษตรสำหรับการปลูกข้าวโพดหญ้าเนเปีย อ้อย เป็นต้น ช่วยแก้ปัญหาน้ำขาดแคลนในช่วงฤดูร้อน    

ซีพีเอฟ ส่งเสริมการใช้พลังงานทดแทนและการเพิ่มประสิทธิภาพการใช้พลังงาน ภายใต้หลักการเศรษฐกิจหมุนเวียน มาเป็นแนวทางสำคัญในการบรรเทาผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศตลอดห่วงโซ่คุณค่า ซึ่งเป็นในเป้าหมายสู่การเพิ่มสัดส่วนรายได้สีเขียว (Green Revenue)สู่การเติบโตอย่างยั่งยืนของบริษัทด้วย

เครดิตบูโร เตือนสถาบันการเงิน ระวังโทษอาญา ไม่ให้เหตุผลปฏิเสธการให้สินเชื่อผู้ขอ

นายสุรพล โอภาสเสถียร ผู้จัดการใหญ่ บริษัท ข้อมูลเครดิตแห่งชาติ จำกัด (เครดิตบูโร) กล่าวว่า เครดิตบูโรได้รับแจ้งจากผู้ยื่นคำขอสินเชื่อจากสถาบันการเงินที่เป็นสมาชิกของเครดิตบูโรหลายรายผ่านช่องทางต่างๆ ว่าเมื่อสถาบันการเงินได้รับรู้ข้อมูลของผู้ยื่นคำขอสินเชื่อแล้ว ภายหลังจากที่ผู้ยื่นคำขอสินเชื่อได้ลงนามในหนังสือให้ความยินยอมเปิดเผยข้อมูลจากเครดิตบูโรแล้ว สถาบันการเงินที่เป็นสมาชิกมีเหตุให้ต้องปฏิเสธการให้สินเชื่อ พบว่าสถาบันการเงินที่เป็นสมาชิกบางราย ไม่ได้ออกหนังสือปฏิเสธสินเชื่อให้แก่ผู้ยื่นคำขอสินเชื่อ ตามมาตรา 28 แห่งพระราชบัญญัติการประกอบธุรกิจข้อมูลเครดิต พ.ศ. 2545 ซึ่งกำหนดให้เป็นหน้าที่ของสถาบันการเงินที่เป็นสมาชิกที่จะต้องแสดงเหตุผลในการปฏิเสธการให้สินเชื่อให้ผู้ยื่นคำขอสินเชื่อทราบเป็นหนังสือหรือวิธีการอื่นใดตามที่ได้ตกลงกันไว้และเป็นสิทธิของผู้ยื่นคำขอสินเชื่อ(ซึ่งเป็นเจ้าของข้อมูลตามที่กฎหมายกำหนด) ที่จะได้รับหนังสือดังกล่าวเพื่อนำมายื่นใช้สิทธิตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลกับเครดิตบูโรโดยไม่เสียค่าธรรมเนียม อันเป็นการคุ้มครองสิทธิของเจ้าของข้อมูลโดยบทบัญญัติแห่งกฎหมาย”

ทั้งนี้  การไม่ดำเนินการตามบทกฎหมายดังกล่าวข้างต้น อาจส่งผลทำให้สมาชิกซึ่งเป็นองค์กรสถาบันการเงิน ผู้บริหารและเจ้าหน้าที่ของสมาชิกได้รับโทษทางอาญาในอัตราสูงตามที่กฎหมายกำหนดตลอดเวลาที่ยังฝ่าฝืนอยู่หรือจนกว่าจะได้ปฏิบัติให้ถูกต้อง ด้วยเหตุดังกล่าว เครดิตบูโรจึงได้ขอความร่วมมือไปยังสถาบันการเงินที่เป็นสมาชิกให้ความเข้มงวดและกำชับการปฏิบัติงานของผู้ที่เกี่ยวข้องในกระบวนการปฏิเสธการให้สินเชื่อให้ถือปฏิบัติตามที่กฎหมายกำหนดด้วยความระมัดระวัง หากเกิดกรณีที่มีการไม่ปฏิบัติตามก็ขอได้โปรดพิจารณาลงโทษสถานหนัก ทั้งนี้ก็เป็นไปเพื่อป้องกันและบริหารความเสี่ยงด้านกฎหมาย อย่างไรก็ดี หากปัญหาดังกล่าวยังคงมีจำนวนกรณีเพิ่มมากขึ้นหรือถูกละเลยจนเกินสมควรแล้ว เครดิตบูโรก็อาจมีความจำเป็นที่จะต้องส่งเรื่องไปยังคณะกรรมการคุ้มครองข้อมูลเครดิตเพื่อพิจารณาต่อไป

เปิดตัววอลเล็ต สบม. ซื้อขายพันธบัตรแบบดิจิทัล ครั้งแรกของไทย นำร่องกับพันธบัตรรุ่นสะสมบอนด์มั่งคั่ง

นำร่องกับพันธบัตรออมทรัพย์รุ่นวอลเล็ต สบม. ของกระทรวงการคลัง ในปีงบประมาณ พ.ศ. 2563 แบบไร้ใบตราสาร (Scripless) รุ่นอายุ 3 ปี วงเงินรวมไม่เกิน 200 ล้านบาท

รายงานข่าว เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 16 มิ.ย. ดร. อุตตม สาวนายน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง นายธีรัชย์ อัตนวานิช ที่ปรึกษาด้านตลาดตราสารหนี้ สำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ นางสาวรื่นวดี สุวรรณมงคล เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ ดร.ภากร ปีตธวัชชัย กรรมการและผู้จัดการตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย และนายผยง ศรีวณิช กรรมการผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงไทย ร่วมกันแถลงข่าวเปิดตัว วอลเล็ต สบม. (วอลเล็ตสะสมบอนด์มั่งคั่ง) เพื่อรองรับการซื้อขายพันธบัตรแบบดิจิทัล ครั้งแรกของประเทศไทย โดย

นายผยง ศรีวณิช กรรมการผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงไทย เปิดเผยว่า ธนาคารได้พัฒนาช่องทางการซื้อขายพันธบัตรด้วยวอลเล็ต สบม. บนแอปพลิเคชันเป๋าตัง ซึ่งเป็นครั้งแรกในประเทศไทยที่จะได้เห็นการซื้อขายพันธบัตรผ่านช่องทางดิจิทัล โดยธนาคารได้ออกแบบแอปพลิเคชันเป๋าตัง ภายใต้โครงสร้างใหม่ เพื่อให้เป็นระบบการเงินแบบเปิด สามารถรองรับวอลเล็ตได้หลายตัวพร้อมๆกัน และมีการนำเทคโนโลยี Blokchain มาประยุกต์ออกแบบใหม่ เพื่อให้สามารถรองรับการเงินในโลกแห่งอนาคต สำหรับวอลเล็ต สบม.นี้ ได้ออกแบบการซื้อขายพันธบัตรให้เป็นแบบรวมศูนย์ ทำให้การจำหน่ายมีประสิทธิภาพสูงสุด สามารถซื้อขายได้แบบ Real Time ซึ่งผู้ขายจะมีข้อมูลผลลัพธ์การขายเป็นรายนาที ขณะที่ผู้ซื้อเห็นข้อมูลของเงินและพันธบัตรในวอลเล็ตเดียวกัน และเมื่อมีการซื้อขายพันธบัตรแล้ว ข้อมูลการถือครองจะแสดงให้เห็นในวอลเล็ตทันที ไม่ต้องรอ 15 วันเหมือนที่ผ่านมา

พันธบัตรออมทรัพย์รุ่นวอลเล็ต สบม. ยังมีเป้าหมายหลักที่จะส่งเสริมให้ประชาชนทุกกลุ่มสามารถเข้าถึงพันธบัตรได้อย่างเท่าเทียมกัน อีกทั้งยังเป็นครั้งแรกที่พันธบัตรออมทรัพย์มีหน่วยลงทุนขนาดเล็กเพียงหน่วยละ 1 บาท โดยลงทุนขั้นต่ำ 100 บาท และเพิ่มขึ้นครั้งละ 100 บาท แต่ไม่เกิน 500,000 บาท โดยจำหน่ายให้แก่บุคคลธรรมดาสัญชาติไทยที่มีอายุ 15 ปีขึ้นไป จึงเป็นอีกหนึ่งทางเลือกในการออมสำหรับนักลงทุนหน้าใหม่ สร้างนิสัยการออมแก่กลุ่มเยาวชนด้วยผลิตภัณฑ์ทางการเงินที่หลากหลาย บนแพลตฟอร์มที่ทันสมัยและเข้ากับไลฟ์สไตล์ของลูกค้า สามารถซื้อขายพันธบัตรด้วยตนเองบนวอลเล็ต สบม. ลดความยุ่งยากในการติดต่อกับตัวแทนจำหน่าย และการเก็บรักษาใบพันธบัตร

ผู้สนใจซื้อพันธบัตรออมทรัพย์รุ่นวอลเล็ต สบม. กรณีที่มีแอปพลิเคชั่นเป๋าตังอยู่แล้ว เพียงสมัครวอลเล็ต สบม. และลงทะเบียนยอมรับเงื่อนไข สามารถใช้บริการได้ทันที สำหรับผู้ที่ยังไม่มีแอปฯ เป๋าตัง สามารถดาวน์โหลดแอปฯ ผ่านแอปสโตร์และกูเกิ้ลสโตร์ เลือกสมัครวอลเล็ต สบม. ยืนยันตัวตนด้วยการสแกนใบหน้า แล้วกรอกข้อมูลส่วนบุคคล จากนั้นใช้งานวอลเล็ต สบม. ได้ทันทีเช่นกัน โดยจะได้รับดอกเบี้ยเข้าวอลเล็ต ปีละ 2 ครั้ง และเมื่อพันธบัตร ครบกำหนดอายุ 3 ปี จะได้รับเงินต้นคืนเข้าวอลเล็ต นอกจากนี้ วอลเล็ต สบม. ยังสามารถดูข้อมูลการซื้อ ตรวจสอบประวัติการซื้อ และดาวน์โหลดเอกสารต่างๆ ผ่านแอปพลิเคชันได้อีกด้วย

ขั้นตอนการซื้อพันธบัตรออมทรัพย์รุ่นวอลเล็ต สบม. เพียงโอนเงินเข้าวอลเล็ต สบม. ด้วย Wallet ID และ QR PromptPay ผ่าน Mobile Banking ของทุกธนาคาร เลือกพันธบัตรที่ต้องการซื้อ พร้อมทั้งสามารถศึกษาและทำความเข้าใจข้อมูลพันธบัตรที่ต้องการลงทุนได้ ระบุจำนวนเงิน และกดยืนยันการชำระเงิน ด้วย PIN ซึ่งจะได้รับหลักฐานการชำระเงินเป็น E-Slip Payment ที่จัดเก็บในมือถือโดยอัตโนมัติ และยังสามารถเข้าไปดูพันธบัตรที่ถือครองได้ใน พันธบัตรของฉัน โดยขณะนี้ธนาคารอยู่ระหว่างพัฒนาวอลเล็ต สบม. ให้สามารถซื้อขายพันธบัตรในตลาดรอง เพื่อเป็นทางเลือกให้กับลูกค้าที่ไม่ต้องการรอรับเงินคืนเมื่อพันธบัตรครบกำหนดไถ่ถอน ตลอดจนสามารถซื้อพันธบัตรโดยไม่ต้องรอรอบการจัดจำหน่ายพันธบัตร ช่วยเพิ่มสภาพคล่องให้กับพันธบัตรรัฐบาล รวมทั้งส่งเสริมตลาดเงินตลาดทุนของประเทศอีกด้วย

ทั้งนี้ พันธบัตรออมทรัพย์รุ่นวอลเล็ต สบม. จะเริ่มจำหน่ายในวันที่ 24 มิถุนายน 2563 เวลา 8.30 น. อัตราดอกเบี้ยคงที่ร้อยละ 1.70 ต่อปี จ่ายดอกเบี้ยปีละ 2 งวด ในวันที่ 24 ธันวาคม และ 24 มิถุนายนของทุกปี ผู้สนใจสามารถดาวน์โหลด ลงทะเบียนและยืนยันตัวตนผ่านวอลเล็ต สบม. ได้ตั้งแต่วันที่ 19 มิถุนายน 2563 เป็นต้นไป

เงาหุ้น : เลือกเล่นหุ้นรายตัว

ดัชนีหุ้นไทยวันที่ 16 มิ.ย.63 ปิด 1,367.13 จุด เพิ่มขึ้น 25.14 จุด มีมูลค่าซื้อขาย 68,452.22 ล้านบาท ต่างชาติซื้อสุทธิ 422.78 ล้านบาท

หุ้นมูลค่าซื้อขายสูงสุด SUPER ปิด 0.93 บาท ลบ 0.10 บาท, KTC ปิด 30 บาท ลบ 3.50 บาท, PTTEP ปิด 94 บาท บวก 7 บาท, KBANK ปิด 99 บาท บวก 1 บาท และ PTT ปิด 38 บาท บวก 1.50 บาท

บล.โกลเบล็ก ประเมินทิศทางตลาดหุ้นไทย มีโอกาสปรับตัวลงตามทิศทางตลาดโลก หลังนักลงทุนกังวลการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 รอบสองในสหรัฐฯ จีน และ ญี่ปุ่น ประกอบกับราคาน้ำมันดิบ WTI ลดลง 8.3% ในสัปดาห์ที่ผ่านมา

เป็นตัวกดดันตลาด และหนี้ครัวเรือนของไทยที่อยู่ในระดับสูงแตะ 79% ของจีดีพี กดดันการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ

ขณะที่มีปัจจัยบวกการคาดการณ์ของมอร์แกน สแตนลีย์ ที่มีความมั่นใจว่าเศรษฐกิจโลกกำลังฟื้นตัวในรูป V-Shape และคาดว่าไตรมาส 4 ปีนี้ ภาพรวมเศรษฐกิจจะกลับเข้าสู่ระดับเดียวกับช่วงก่อนเกิดการแพร่ระบาดไวรัสโควิด-19

ส่วนสถานการณ์ในไทยอยู่ในระดับที่ดี และ ครม.เก็บตกมาตรการเยียวยาให้กับผู้ที่ยังตกหล่นเข้าไม่ถึง และไฟเขียวแพ็กเกจกระตุ้นการท่องเที่ยวในประเทศ แต่ยังคงต้องใช้เวลากว่าจะเห็นผลบวกที่ชัดเจน

ยังมีประเด็นที่ต้องจับตา คือ การประชุมนโยบายการเงินของธนาคารกลางญี่ปุ่น และอียูจะเปิดเผยความเชื่อมั่นเศรษฐกิจเดือน มิ.ย. ขณะที่สหรัฐฯเปิดเผยตัวเลขเศรษฐกิจสำคัญ เช่น ยอดค้าปลีก การผลิตภาคอุตสาหกรรม และสต๊อกน้ำมันรายสัปดาห์ จำนวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานรายสัปดาห์ เป็นต้น

และวันที่ 17 มิ.ย. ญี่ปุ่น เปิดเผยยอดนำเข้า ยอดส่งออกและดุลการค้าเดือน พ.ค. ขณะที่ อียูเปิดเผยดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) เดือน พ.ค. และธนาคารกลางอังกฤษ (BoE) ประชุมนโยบายการเงิน

ทั้งนี้ คาดการณ์ดัชนีเคลื่อนไหวในกรอบ 1,340-1,390 จุด

แนะกลยุทธ์ลงทุนหุ้นรายตัวที่น่าจับตา คือหุ้นที่เข้าคำนวณดัชนี FTSE SET Large Cap Index เช่น CRC และ DIF และดัชนี FTSE SET Mid Cap Index เช่น ACE, BAM, IMPACT, LH, MINT และ TQM รอบใหม่ซึ่งมีผล 22 มิ.ย.นี้ และหุ้นเข้าคำนวณดัชนี SET50 ได้แก่ BPP และ TTW ส่วนดัชนี SET100 ได้แก่ AAV, ACE, DOHOME, RBF, SIRI, TVO และ WHAUP

และหุ้นพื้นฐานดีที่ยัง Laggard ดัชนี กลุ่มโรงพยาบาล CHG BCH และกลุ่มสื่อสาร ADVANC!!

ที่มา คอลัมน์ เงาหุ้น โดย อินเด็กซ์ 51 หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ

ซีพีเอฟ จัด Food Truck มอบอาหารให้ชุมชนจรัลฯ

CPF Food Truck จับมือ ก.เกษตรฯ และ 6 พันธมิตร เดินหน้าอาหารมั่นคง มอบอาหารปลอดภัย…ครั้งที่ 21 สู่ชุมชนจรัญฯ ศาลเจ้าปุงเท่ากง เขตบางพลัด

นายสมพร เจิมพงศ์ และ นายวิบูลย์ สุภัครพงษ์กุล รองกรรมการผู้จัดการบริหาร พร้อมด้วย นายวุฒิชัย สิทธิปรีดานันท์ รองกรรมการผู้จัดการอาวุโส บริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) หรือ ซีพีเอฟ ร่วมกับ นายชนินทร์ รุ่งแสง คณะที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ในฐานะผู้แทน รมว.เกษตรฯ นำชาวซีพีเอฟจิตอาสา มอบอาหารอุ่นร้อนพร้อมรับประทาน จาก CPF Food Truck ในโครงการ “อาหารปลอดภัย จากใจ..สู่ชุมชน” ครั้งที่ 21 เพื่อส่งเสริมให้คนไทยเข้าถึงอาหารปลอดภัย ช่วยลดค่าครองชีพและบรรเทาความเดือดร้อนให้กับพี่น้องชาวชุมชน ซ.จรัญสนิทวงศ์ 66/1 ที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 ณ ศาลเจ้าปุงเท่ากง เขตบางพลัด กรุงเทพฯ

โครงการ “อาหารปลอดภัย จากใจ..สู่ชุมชน” จะส่งรถ CPF Food Truck ลงพื้นที่ ส่งมอบอาหารอุ่นร้อนพร้อมรับประทานให้แก่ประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 ตามชุมชนต่างๆ ในพื้นที่กรุงเทพฯ รวมทั้งหมด 6 เขต ได้แก่ บางกอกน้อย บางพลัด ห้วยขวาง บางบอน หนองแขม และบางขุนเทียน อย่างต่อเนื่อง ในทุกวันอังคาร วันพฤหัสบดี และวันเสาร์

นอกจากนี้ บริษัทในเครือเจริญโภคภัณฑ์ อย่าง ข้าวตราฉัตร ร่วมมอบข้าวสาร และ True แจกซิมทรูมูฟเอช ตลอดจนพันธมิตร ได้แก่ โอสถสภา ร่วมแจกเครื่องดื่ม, Mc ยีนส์ ร่วมแจกหน้ากากผ้า พร้อมด้วย เนเจอร์ เบสท์ฟู้ด ร่วมแจกสาหร่ายปรุงรสโกลิโกะ และน้ำตาลลิน จากกลุ่มน้ำตาลไทยรุ่งเรือง

CPF ที่มุ่งมั่นช่วยเหลือประเทศชาติ ประชาชน ให้ก้าวผ่านวิกฤตโควิด-19 ไปด้วยกัน ภายใต้แนวคิด Good Corporate Citizen ตามหลักปรัชญา 3 ประโยชน์สู่ความยั่งยืน เพื่อให้ประชาชนได้เข้าถึงอาหารคุณภาพ อร่อย ปลอดภัย และถูกสุขอนามัย โดยเฉพาะในช่วงสถานการณ์โควิด-19