Home Blog Page 29

รบ.อัดฉีด 3 แสนล้าน ผ่านธ.ก.ส. ฟื้นฟูเกษตรกรหลังโควิด-19 สร้างเศรษฐกิจฐานรากให้แข็งแกร่ง

นายอภิรมย์ สุขประเสริฐ ผู้จัดการธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) เปิดเผยว่า จากสถานการณ์การระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ที่ส่งผลให้สถานประกอบการหยุดกิจการ คนตกงานและต้องย้ายกลับภูมิลำเนา ส่งผลกระทบต่อรายได้และภาระค่าใช้จ่ายในการครองชีพของประชาชน รวมถึงภาวะเศรษฐกิจที่ถดถอยโดยรวม เพื่อสนับสนุนนโยบายรัฐบาลในการฟื้นฟูเศรษฐกิจ และการสร้างคนรุ่นใหม่ ที่มีความรู้ทักษะด้านเทคโนโลยีการตลาด เข้ามาร่วมพัฒนาภาคการเกษตร รวมถึงการสนับสนุนให้เกิดธุรกิจชุมชนอย่างเป็นรูปธรรม ธ.ก.ส. จึงได้ทำโครงการเศรษฐกิจพอเพียงสร้างไทยขึ้น เพื่อเสริมสร้างความเข้มแข็งให้กับภาคชนบท ภายใต้โครงการสำคัญ ๆ ดังนี้

1. โครงการเสริมสร้างความมั่นคงระดับครัวเรือน (ตั้งหลัก) ตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงและทฤษฎีใหม่ ขั้นที่ 1 “พึ่งตนเอง” โดยรัฐบาลสนับสนุนงบประมาณโดยตรง จำนวน 10,720 ล้านบาท ในการขับเคลื่อนและพัฒนาให้เกษตรกร จำนวน 300,000 ราย สามารถสร้างความมั่นคงทางอาหารโดยมีแหล่งอาหารเพื่อเลี้ยงชีพภายในพื้นที่รอบตัว (459 มีกินมีใช้) การสร้างโอกาสให้คนรุ่นใหม่ที่มีความรู้ มีความเชื่อมั่นในวิถีการเกษตรแบบใหม่ จำนวน 200,000 ราย มาร่วมขับเคลื่อนและพัฒนาภาคการเกษตรทดแทนเกษตรกรที่มีอายุมากขึ้น การพัฒนาและยกระดับศูนย์เรียนรู้เกษตรกรรมยั่งยืน เพื่อถ่ายทอดองค์ความรู้ด้านต่าง ๆ สู่เกษตรกรและคนในชนบท จำนวน 1,200 แห่งทั่วประเทศ และพัฒนาระบบการจัดการเรียนรู้แบบออนไลน์ ผ่านระบบ E-learning พร้อมทั้งการศึกษาดูงานที่ศูนย์เรียนรู้ โดย ธ.ก.ส.พร้อมสนับสนุนสินเชื่อดอกเบี้ยผ่อนปรน ได้แก่ สินเชื่อพอเพียงเพื่อเลี้ยงชีพวงเงิน 10,000 ล้านบาท สินเชื่อ New Gen Hug บ้านเกิดวงเงิน 60,000 ล้านบาท และสินเชื่อระยะสั้นฤดูการผลิตใหม่ (Jump Start Credit) วงเงิน 100,000 ล้านบาท

2. โครงการเสริมสร้างความเข้มแข็งระดับชุมชน (ตั้งฐาน) ตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงและทฤษฎีใหม่ ขั้นที่ 2 “พึ่งพากันและกัน” โดยรัฐบาลสนับสนุนงบประมาณ 22,000 ล้านบาท เพื่อสนับสนุนวิสาหกิจชุมชน 16,000 แห่ง สำหรับนำไปลงทุนพื้นฐานด้านการเกษตร เช่น ระบบน้ำ โรงเรือน เครื่องจักรกล และเทคโนโลยีนวัตกรรมทางการเกษตร ไม่เกินร้อยละ 50 ของมูลค่าการลงทุน และไม่เกินแห่งละ 5 ล้านบาท และสนับสนุนค่าใช้จ่ายในปัจจัยการผลิตสำหรับวิสาหกิจชุมชนที่มีการบริหารและดำเนินการผลิตเพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มโดย ธ.ก.ส. พร้อมสนับสนุนสินเชื่อดอกเบี้ยผ่อนปรน ได้แก่ สินเชื่อธุรกิจสร้างไทยวงเงิน 30,000 ล้านบาท และสินเชื่อ SMEเกษตรวงเงิน 40,000 ล้านบาท

3.โครงการเสริมสร้างความยั่งยืนของเศรษฐกิจฐานราก (ตั้งมั่น) ตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงและทฤษฎีใหม่ ขั้นที่ 3 “เชื่อมโยงเป็นเครือข่าย” โดยรัฐบาลสนับสนุนงบประมาณ 21,675 ล้านบาท เพื่อสนับสนุนให้สถาบันเกษตรกรและผู้ประกอบการ จำนวน 7,255 แห่ง เป็นหัวขบวนในการรวบรวมผลผลิต การแปรรูปผลผลิต การเชื่อมโยงการตลาด การจัดการขนส่ง การให้บริการทางการเกษตร และการท่องเที่ยวชุมชน โดยเน้นการมีส่วนร่วมและให้ชุมชนเป็นศูนย์กลาง ประกอบด้วย ค่าลงทุนปัจจัยพื้นฐาน การปรับเปลี่ยนการผลิต การเช่า การจ้างแรงงาน ไม่เกินร้อยละ 50 ของค่าลงทุนและค่าใช้จ่ายและไม่เกินแห่งละ 5 ล้านบาท รวมถึงการนำไปพัฒนาความรู้เพื่อเสริมสร้างความเข้มแข็งให้กับผู้นำสถาบันเกษตรกร โดย ธ.ก.ส.ยังสนับสนุนสินเชื่อดอกเบี้ยผ่อนปรน ได้แก่ สินเชื่อธุรกิจชุมชนสร้างไทยวงเงิน 10,000 ล้านบาท และสินเชื่อ SME เกษตรวงเงิน 10,000 ล้านบาท

การฟื้นฟูเกษตรกรภายหลังสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ภายใต้โครงการเศรษฐกิจพอเพียงสร้างไทย ถือว่าเป็นการบูรณาการความร่วมมือจากหน่วยงานต่าง ๆ สู่การพัฒนาชุมชนให้เข้มแข็ง สนับสนุนการดำเนินกิจกรรมทางเศรษฐกิจฐานรากที่สอดคล้องกับวิถีชีวิตของคนในชุมชน ทั้งในด้านการผลิต การซื้อ-ขายผลผลิต การแปรรูป และการบริโภคของคนในชุมชนอย่างมีส่วนร่วม โดยใช้ทรัพยากรของชุมชน มีการแบ่งปันผลประโยชน์อย่างเกื้อกูลและเป็นธรรม โดยคนรุ่นใหม่ที่มีความรู้ความสามารถเข้ามาร่วมคิด ร่วมสร้างธุรกิจชุมชนภายใต้หลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง ควบคู่กับการใช้นวัตกรรมและเทคโนโลยีสมัยใหม่ ในการสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับผลผลิตทางการเกษตรและต่อยอดสู่ธุรกิจในชุมชน เน้นการมีส่วนร่วมของคนในชุมชนและภาคีเครือข่าย พร้อมส่งเสริมการดำเนินธุรกิจเพื่อสังคมในรูปแบบ Social Enterprise (SE) อันนำไปสู่การพัฒนาเศรษฐกิจฐานรากให้มีความเข้มแข็งและมุ่งสู่เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development)

เงาหุ้น : โค้งสุดท้าย SSFX

ดัชนีหุ้นไทยวันที่ 23 มิ.ย.63 ปิดที่ 1,356.43 จุด เพิ่มขึ้น 4.25 จุด มีมูลค่าซื้อขาย 49,101.67 ล้านบาท ต่างชาติขายสุทธิ 772.97 ล้านบาท

หุ้นมูลค่าซื้อขายสูงสุด KBANK ปิด 89 บาท ลบ 0.25 บาท, CPF ปิด 31.50 บาท ลบ 0.50 บาท, STA ปิด 27.75 บาท ลบ 1.25 บาท, BBL ปิด 106 บาท บวก 1 บาท และ MINT ปิด 20.60 บาท ลบ 0.10 บาท

หุ้นไทยพลิกขึ้นในกรอบจำกัด นักลงทุนคลายความกังวลสงครามการค้าจีน-สหรัฐฯ หลังสหรัฐฯยืนยันไม่เลิกข้อตกลงการค้ากับจีน

ขณะที่กระแสเงินทุนต่างชาติไหลออกจากตลาดหุ้นภูมิภาคโค้งสุดท้ายของการซื้อกองทุนเพื่อการออมระยะยาวแบบพิเศษ SSFX ที่เปิดให้ซื้อถึง 30 มิ.ย.นี้ เพื่อนำเงินลงทุนไปลดหย่อนภาษีได้เพิ่มขึ้นอีก 2 แสนบาท ซึ่งขณะนี้เปิดเสนอขายอยู่ 20 กองทุน จาก 15 บลจ. โดย SSFX นี้ ที่กำหนดให้ลงทุนในตลาดหุ้นไทย ไม่ต่ำกว่า 65% ส่วนที่เหลือสามารถลงทุนในสินทรัพย์อื่นๆได้

สำนักงาน ก.ล.ต.ออกบทแนะนำผู้ที่ยังไม่แน่ใจว่าจะลงทุน SSFX กองไหนดีให้พิจารณา 3 คำถามนี้ เพื่อช่วยเลือก SSFX ที่ใช่สำหรับตัวเอง น่าสนใจ!! ดังนี้ 1. สินทรัพย์ที่กองทุนลงทุนสอดคล้องกับระดับความเสี่ยงที่ยอมรับได้หรือไม่หากกองทุนเน้นลงทุนในหุ้น 80% ขึ้นไป

ซึ่งมีความเสี่ยงสูงมักมีโอกาสได้ผลตอบแทนสูงขึ้น แต่ก็มีความเสี่ยงมากขึ้น ส่วนกองที่กระจายลงทุนในสินทรัพย์ 20-35% อื่น เช่น หุ้นกู้ เงินฝาก ทองคำ น้ำมัน ช่วยลดความเสี่ยงได้

2.ใช้กลยุทธ์การลงทุนแบบ active หรือ passive โดยการลงทุนแบบ active คือ การลงทุนหุ้นที่มุ่งสร้างผลตอบแทนให้มากกว่าดัชนีอ้างอิง ต้องอาศัยความสามารถของผู้จัดการกองทุนในการบริหารจัดการกองหรือมีกระบวนการคัดเลือกหุ้นด้วยการวิเคราะห์เชิงลึก ส่วนการลงทุนแบบ passive เน้นสร้างผลตอบแทนไปในทิศทางเดียวกันกับดัชนีอ้างอิง เช่น SET50 หรือ SET100 จึงทำให้ค่าธรรมเนียมการจัดการกองทุน passive ต่ำกว่ากองทุนรวมที่มีกลยุทธ์แบบ active

3.ต้องการรับเงินปันผลระหว่างทางหรือไม่ ซึ่งขณะนี้มีทั้งกองทุนที่มีนโยบายจ่ายปันผลและไม่จ่ายปันผล มีข้อดีต่างกันคือ SSFX ที่จ่ายปันผลเหมาะกับผู้ที่ชอบผลตอบแทนระหว่างการลงทุน หรือเพื่อให้มีกระแสเงินสด แต่เงินปันผลจะถูกหักภาษี 10%

เลือกเอาว่า รัก–ชอบแบบไหน อายุต่ำกว่า 50 ปี ลุยไปเลย เพราะต้องถือลงทุนยาว 10 ปีโลดดดด!!

ที่มา คอลัมน์ เงาหุ้น โดย อินเด็กซ์ 51 หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ

EXIM BANK เตือนผู้ส่งออก เตรียมรับมือปัญหาผู้ซื้อตปท.ไม่จ่ายเงิน แนะบริหารความเสี่ยง

นายพิศิษฐ์ เสรีวิวัฒนา กรรมการผู้จัดการ ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย (EXIM BANK) เปิดเผยว่า จากผลกระทบของการแพร่ระบาดโควิด-19 ธนาคารโลกได้คาดการณ์ว่า ในปี 2563 เศรษฐกิจโลกจะหดตัว 5.2% ต่ำสุดในรอบเกือบ 100 ปีนับตั้งแต่เกิดภาวะเศรษฐกิจตกต่ำครั้งใหญ่ ในช่วงทศวรรษ 1930 ขณะที่การค้าโลกจะหดตัว 13.4% เป็นการหดตัวรุนแรงเกินเลข 2 หลัก (-10% ขึ้นไป) ครั้งแรกนับตั้งแต่เกิดวิกฤตสินเชื่อซับไพรม์หรือวิกฤตแฮมเบอร์เกอร์ในปี 2552

EXIM BANK คาดว่า ในปี 2563 ภาคการส่งออกของไทยจะหดตัว 5-8% สินค้าที่มีโอกาส เช่น สินค้าจำเป็นประเภทอาหาร และสินค้าตามกระแสเมกะเทรนด์ เช่น อุปกรณ์สำนักงานสำหรับทำงานจากบ้าน (Work from Home) เครื่องมือแพทย์ เภสัชภัณฑ์ เครื่องใช้ไฟฟ้า และรถจักรยานยนต์

จากการคาดการณ์ของออยเลอร์เฮอร์เมส (Euler Hermes) บริษัทประกันสินเชื่อทางการค้าชั้นนำของโลก โควิด-19 จะส่งผลกระทบให้ธุรกิจการค้าทั่วโลกขาดทุนคิดเป็นมูลค่า 3.5 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ รวมทั้งจะมีธุรกิจล้มละลายเพิ่มสูงขึ้นกว่า 20% ผู้ส่งออกไทยจึงต้องบริหารความเสี่ยงทางการค้าระหว่างประเทศ โดยวิธีกระจายตลาดส่งออกสินค้าไปยังตลาดที่ยังเติบโตหรือมีคนรุ่นใหม่ที่ยังมีกำลังซื้ออยู่มาก เช่น ตลาดใหม่อย่าง CLMV (กัมพูชา สปป.ลาว เมียนมา และเวียดนาม) เอเชียใต้ และแอฟริกา ในขณะเดียวกันผู้ส่งออกไทย โดยเฉพาะ SMEs ซึ่งมีอำนาจการต่อรองต่ำและเงินทุนหมุนเวียนไม่มาก ต้องบริหารความเสี่ยงจากการไม่ได้รับชำระเงินค่าสินค้า เนื่องจากโควิด-19 อาจทำให้ผู้ซื้อในต่างประเทศไม่สามารถกระจายสินค้าได้ ชำระเงินล่าช้าหรือผิดนัดชำระเงิน ซึ่งผลการสำรวจผลกระทบของโควิด-19 ต่อธุรกิจในระยะสั้นของกลุ่มความร่วมมือองค์กรรับประกันชั้นนำของโลก Berne Union เมื่อเดือนเมษายน 2563 ที่ผ่านมา พบว่า องค์กรรับประกันในประเทศต่าง ๆ ทั้งสหรัฐอเมริกา ยุโรป และเอเชีย เริ่มพบสัญญาณการขอขยายระยะเวลาการชำระเงินและชำระเงินล่าช้าของผู้ซื้อในต่างประเทศเพิ่มมากขึ้นตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ 2563 ที่ผ่านมา เป็นสัญญาณเตือนการผิดนัดชำระเงินค่าสินค้าที่อาจเกิดขึ้นในไตรมาสที่ 3-4 ปี 2563

ในช่วง 5 เดือนแรกของปี 2563 (มกราคม-พฤษภาคม 2563) พบว่า ลูกค้าประกันการส่งออกของ EXIM BANK ยื่นเอกสารผู้ซื้อในต่างประเทศชำระเงินล่าช้าเป็นจำนวนเพิ่มขึ้น 195% คิดเป็นมูลค่าการส่งออกค้างชำระกว่า 617.33 ล้านบาท ทำให้มีลูกค้ายื่นขอรับค่าสินไหมทดแทนจำนวน 24 ราย มูลค่า 284.97 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 226% จาก 12 ราย มูลค่า 87.50 ล้านบาทในช่วงเดียวกันของปีก่อน สาเหตุส่วนใหญ่เกิดจากผู้ซื้อไม่ชำระเงินค่าสินค้า (92%) รองลงมาคือ ผู้ซื้อล้มละลาย (8%) ประเทศที่มีมูลค่ายื่นขอรับค่าสินไหมทดแทนสูงสุดได้แก่ สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ สหรัฐอเมริกา และฝรั่งเศส ส่วนประเภทสินค้าที่มีการจ่ายค่าสินไหมทดแทนสูงสุดได้แก่ ข้าว อาหารกระป๋อง อัญมณีและเครื่องประดับ

“EXIM BANK มีความเชี่ยวชาญในการช่วยผู้ส่งออกบริหารความเสี่ยงทางการค้าระหว่างประเทศ โดยพัฒนาบริการประกันการส่งออกเพื่อตอบสนองความต้องการของผู้ส่งออก โดยเฉพาะ SMEs มานานกว่า 26 ปี นับตั้งแต่ปี 2537 ได้ให้ความคุ้มครองธุรกิจส่งออกไทยเป็นมูลค่ากว่า 1.37 ล้านล้านบาท อย่างไรก็ตาม หัวใจสำคัญคือ ผู้ส่งออกต้องให้ความสำคัญกับการบริหารความเสี่ยงทางการค้าระหว่างประเทศ เพื่อให้สามารถดำเนินกิจการผลิตและส่งออกสินค้าและบริการให้แก่ผู้ซื้อในต่างประเทศได้อย่างต่อเนื่องโดยไม่สะดุด แม้ในภาวะวิกฤตที่ยังมีโอกาสใหม่ ๆ ทางธุรกิจอยู่เสมอ” นายพิศิษฐ์กล่าว

เทหุ้นแบงก์

ดัชนีหุ้นไทยวันที่ 22 มิ.ย.63 ปิดที่ 1,352.18 จุด ลดลง 18.64 จุด มีมูลค่าการซื้อขาย 65,772.37 ล้านบาท ต่างชาติขายสุทธิ 3,106.15 ล้านบาท

หุ้นไทยถูกกดดันจากแรงขายหุ้นแบงก์ หลังแบงก์ชาติสั่งงดจ่ายปันผลงวดระหว่างกาล และงดซื้อหุ้นคืน โดย บล.ทรีนีตี้มองกดดันราคาหุ้นในเชิงจิตวิทยา แต่ผลกระทบจะจำกัดแค่ในส่วนปันผล และมองว่าผลประกอบการช่วงที่เหลือของปีกลุ่มธนาคารยังมีปัจจัยกดดัน ทั้งจาก NIM ที่จะอ่อนตัวลง และคุณภาพหนี้ที่อาจแย่ลง

จึงยังคงกลยุทธ์ Selective Buy โดยให้ BBL (TP 158 บาท) เป็น Top-pick เนื่องจากลูกหนี้ธุรกิจขนาดใหญ่มีความเสี่ยงต่ำที่สุด ในสถานการณ์ปัจจุบัน บวกกับ Valuation ที่ยังถูกกว่าในเชิงเปรียบเทียบ

บล.เคทีบีมีมุมมองเป็นลบต่อการงดจ่ายปันผลระหว่างกาล แม้จะช่วยให้เงินกองทุนแข็งแรงขึ้น แต่ระดับเงินกองทุนของกลุ่มปัจจุบันมีสูงถึง 17-21% มากกว่าขั้นต่ำที่ ธปท.กำหนดไว้ที่ 12%

มองนักลงทุนที่ถือหุ้นเพื่อรับปันผลจะขายทำกำไรออกมา โดยธนาคารที่จ่ายปันผลระหว่างกาลคือ BBL, KBANK, SCB และ KKP ซึ่งจะทำให้ dividend yield หายไป 0.5-3.4% ในปี 63 ขณะที่คาดว่า หุ้นที่จะปรับตัวลงเยอะจากมากไปน้อย เรียงตามอัตราเงินปันผลระหว่างกาลคือ KKP, SCB, BBL และ KBANK

ส่วนการประกาศให้งดการซื้อหุ้นคืน ไม่กระทบต่อแบงก์รายตัว เพราะก่อนหน้านี้ KBANK, TCAP ได้ซื้อหุ้นคืนครบทั้งจำนวนแล้ว ส่วน SCB ได้ยกเลิกการซื้อหุ้นคืนไปแล้ว ทั้งนี้ ในแง่ของ Valuation จะไม่กระทบต่อประมาณการ

โดยยังคงน้ำหนักการลงทุนกลุ่มธนาคารเป็น “เท่าตลาด” มองหุ้น TISCO มีผลกระทบน้อยสุด ให้ราคาเป้าหมาย 88 บาท

บล.หยวนต้าเผยผลศึกษาการเคลื่อนไหวราคาหุ้นแบงก์ในอังกฤษ 4 แบงก์ใหญ่ ที่ประกาศงดจ่ายปันผลงวดผลประกอบการปี 63 ซึ่งเป็นมาตรการที่รุนแรงที่สุดเมื่อเทียบกับมาตรการในประเทศอื่น ที่ให้งดจ่ายเงินปันผลระหว่างกาล เพื่อประเมินการตอบสนองของราคาหุ้นกรณีเลวร้าย

พบว่า 1.วันแรกที่ประกาศงดปันผลประจำปี 63 ราคาหุ้นทั้ง 4 แบงก์ตอบสนองเชิงลบรุนแรงราว 7.3-13.2% 2.หุ้น 3 ใน 4 แบงก์มีการฟื้นตัว สู่ระดับราคา ก่อนการประกาศงดจ่ายปันผลค่อนข้างเร็ว ใช้เวลาเพียง 4-6 วัน 3.ผลตอบแทนเฉลี่ยสำหรับการลงทุน ตั้งแต่วันที่ประกาศงดจ่ายปันผลจนถึง 19 มิ.ย. อยู่ที่ 13.8% มีเพียง 1 แบงก์ที่ให้ผลขาดทุนราว 4.3%.

ที่มา คอลัมน์ เงาหุ้น โดย อินเด็กซ์ 51 หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ

กยศ.เปิดตัวระบบบริหารหนี้ DMS พร้อมให้บริการผ่านแอปฯ

นายชัยณรงค์ กัจฉปานันท์ ผู้จัดการกองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา (กยศ.) เปิดเผยว่า ขณะนี้ กยศ.ได้เปิดใช้งานระบบบริหารหนี้ (Debt Management System – DMS) ซึ่งจะทำให้ผู้กู้ยืมสามารถตรวจสอบข้อมูลบัญชีเงินกู้ ยอดเงินที่ต้องชำระ หรือรายการชำระเงินย้อนหลังได้แบบ Real-time และจัดการข้อมูลได้ด้วยตนเอง รวมถึงผู้ค้ำประกันยังสามารถตรวจสอบข้อมูลการค้ำประกันตามสัญญาได้อีกด้วย โดยผู้กู้ยืมและผู้ค้ำประกันต้องลงทะเบียนเข้าใช้งานผ่านทางแอปพลิเคชัน “กยศ. Connect” โดยใช้ได้ทั้งระบบปฏิบัติการ iOS และ Android หรือลงทะเบียนทางเว็บไซต์ https://wsa.dsl.studentloan.or.th ตั้งแต่วันที่ 22 มิถุนายน 2563 เป็นต้นไป ซึ่งผู้กู้ยืมยังคงสามารถชำระเงินผ่านช่องทางบริการรับชำระทั่วประเทศและ Mobile Banking ของทุกธนาคาร โดยระบบบริหารหนี้ได้พัฒนาขึ้น เพื่อรองรับการให้บริการผู้กู้ยืม ผู้ค้ำประกัน ให้ได้รับความสะดวกและมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้นผ่านช่องทาง “กยศ. Connect” และเว็บไซต์

ชัยณรงค์ กัจฉปานันท์ ผู้จัดการกองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา (กยศ.)

สำหรับวันที่ 5 กรกฎาคมของทุกปี ถือเป็นวันครบกำหนดชำระเงินคืนกองทุน ซึ่งในปีนี้มีผู้กู้ยืมที่ครบกำหนดชำระประมาณ 3.5 ล้านราย กองทุนจึงขอฝากประชาสัมพันธ์ให้ผู้กู้ยืมรุ่นพี่มาชำระเงินคืนภายในกำหนดดังกล่าว และกองทุนต้องขอขอบคุณผู้กู้ยืมรุ่นพี่ทุกท่านที่มาชำระเงินคืนเพื่อส่งต่อโอกาสทางการศึกษาให้แก่นักเรียน นักศึกษารุ่นน้อง สอบถามเพิ่มเติมได้ที่ Line บัญชีทางการ กยศ. หรือโทร 0 2016 4888

มุมมอง ทรีนีตี้ กรณีธปท. ขอให้แบงก์งดจ่ายเงินปันผลระหว่างกาลและงดซื้อหุ้นคืน

โดย ธนภัทร ฉัตรเสถียร ผู้อำนวยการ ฝ่ายวิเคราะห์หลักทรัพย์ บริษัทหลักทรัพย์ ทรีนีตี้ จำกัด

มอง Downside จำกัดแค่ในส่วนปันผล

มองว่าแนวทางของ ธปท. เป็นการดำเนินการตาม IMF ธนาคารกลางยุโรป และธนาคารกลางอังกฤษ ซึ่งจะทำให้ธนาคารมีความสามารถในการปล่อยสินเชื่อเพื่อช่วยเหลือเศรษฐกิจ และรองรับการตั้งสำรองสำหรับ NPL ได้มากขึ้น โดยการนำแนวทางนี้มาใช้กับธนาคารพาณิชย์ไทยที่มีระดับเงินกองทุนที่แข็งแกร่งอยู่แล้ว เรามองว่าเป็นการช่วยรักษาความแข็งแกร่งให้แก่เงินกองทุน มากกว่าจะเป็นความกังวลต่อความเสี่ยงที่เงินกองทุนจะลดลงอย่างรุนแรง จึงมองผลกระทบด้านลบต่อราคาหุ้นจะจำกัดอยู่ในส่วนของปันผล โดยหากจำกัดเฉพาะในส่วนของเงินปันผลระหว่างกาล มองว่า Downside จะอยู่ที่ราว 1-2% สำหรับธนาคารพาณิชย์ที่คาดว่าจะจ่ายปันผลระหว่างกาล เช่น BBL, KBANK และ SCB หรือหากมองว่าธนาคารพาณิชย์ทั้งหมดจะไม่จ่ายปันผลสำหรับปี 2563 เลย คาดผลกระทบต่อราคาหุ้นที่รุนแรงที่สุดจะไม่เกิน 11% ดังแสดงในแผนภาพด้านล่าง

ธนาคารพาณิชย์ไทยยังแกร่งในด้านเงินทุน

สำหรับความกังวลที่คุณภาพหนี้ (NPL) ที่จะเกิดขึ้นจะกระทบต่อสัดส่วนเงินกองทุนของธนาคารนั้น ทรีนีตี้มองว่าปัจจุบันธนาคารมีความเสี่ยงจากคุณภาพหนี้อยู่แล้วตามสภาวะเศรษฐกิจไทยและเศรษฐกิจโลก และอาจกระทบต่อกำไรของธนาคาร ซึ่งจากประมาณการเดิม คาดกำไรปี 2563 ของธนาคารจะอ่อนตัวลงราว 10-20% อย่างไรก็ตาม มองว่าความเสี่ยงดังกล่าวต่อฐานเงินกองทุนของธนาคารพาณิชย์ยังต่ำ เนื่องจากในปัจจุบันสัดส่วนเงินกองทุนของธนาคารพาณิชย์ยังแข็งแกร่ง โดยหากพิจารณาที่สัดส่วน Tier 1 ของธนาคารพาณิชย์ที่วิเคราะห์เฉลี่ยอยู่ที่ 16% สูงกว่าเกณฑ์ขั้นต่ำ 9.5% ค่อนข้างมาก

และในกรณีที่ NPL จะกระทบไปถึงเงินกองทุน จะต้องผ่าน Buffer อีก 2 ชั้น คือ 1. กำไรจากการดำเนินงานของแต่ละธนาคารในแต่ละปี (ในกรณีงดจ่ายปันผล) และ 2. สำรองส่วนเกินที่แต่ละธนาคารมี จาก Sensitivity Analysis ของทรีนีตี้ โดยตั้งสมมติฐานการเพิ่มขึ้นของ NPL จะส่งผลกระทบให้กำไรลดลงจากค่าใช้จ่ายสำรองหนี้ที่เพิ่มขึ้น และ Risk Weighted Assets เพิ่มขึ้น โดยธนาคารจะสามารถรองรับ NPL ได้สูงกว่าปัจจุบันโดยเฉลี่ยราว 4 เท่า จึงจะกระทบทำให้เงินกองทุนลดลง และ NPL ต้องสูงขึ้นจากปัจจุบันถึงราว 8.2 เท่า จึงจะมีความเสี่ยงที่จะต้องเพิ่มทุน (Tier 1 ลดลงจนถึงเกณฑ์ขั้นต่ำที่ 9.5%)

มาตรการช่วยเหลือลูกหนี้กระทบธุรกิจเช่าซื้อน้อย

ด้านมาตรการช่วยเหลือลูกหนี้ระยะที่ 2 ที่ ธปท. ประกาศมีความแตกต่างจากข่าวที่ออกมาก่อนหน้า โดยเฉพาะในประเด็นธุรกิจเช่าซื้อ ซึ่งจากข่าวเดิมมีประเด็นการลดดอกเบี้ยลง 1% จากสัญญาเดิม แต่ในรายละเอียดที่ออกมาจริงเป็นเพียงการเลื่อนชำระค่างวด (เงินต้นและดอกเบี้ย) 3 เดือน หรือ ลดค่างวดโดยขยายเวลาการชำระหนี้ ทำให้ผลกระทบต่อธุรกิจเช่าซื้อต่ำกว่าที่คาดมาก ทั้งในส่วนของธนาคาร อาทิ TISCO และ KKP และ Finance อาทิ TK, S11 และ AMANAH จึงเป็นปัจจัยบวกเชิงจิตวิทยา โดยเฉพาะในกลุ่มธนาคารเช่าซื้อที่ราคาอ่อนตัวลงมาก่อนหน้าจากข่าวดังกล่าว

ยังคงกลยุทธ์ Selective Buy

มองว่าประเด็น ธปท. ขอความร่วมมือจากธนาคารให้งดจ่ายปันผลระหว่างกาล และงดซื้อหุ้นคืน จะเป็นปัจจัยกดดันราคาหุ้นในเชิงจิตวิทยา แต่ผลกระทบจะจำกัดแค่ในส่วนปันผล อย่างไรก็ตาม มองว่าผลประกอบการในช่วงที่เหลือของปีของกลุ่มธนาคารยังมีปัจจัยกดดันหลายด้าน ทั้งจาก NIM ที่จะอ่อนตัวลง และคุณภาพหนี้ที่อาจแย่ลง จึงยังคงกลยุทธ์ Selective Buy โดยให้ BBL (TP 158 บาท) เป็น Top-pick เนื่องจากลูกหนี้ธุรกิจขนาดใหญ่มีความเสี่ยงต่ำที่สุดในสถานการณ์ปัจจุบัน บวกกับ Valuation ที่ยังถูกกว่าในเชิงเปรียบเทียบ

เอไอเอส จับมือโรงหนังเอสเอฟ ใช้หุ่น 5G ดูแลลูกค้า

รายงานข่าว เปิดเผยว่า บริษัท เอไอเอส โดยนางศิวลี บูรณสงคราม หัวหน้าแผนกงานบริหารแบรนด์  ร่วมกับโรงภาพยนต์ เอส เอฟ โดยนางสาวพิมสิริ ทองร่มโพธิ์ ผู้อำนวยการฝ่ายการตลาด ยกระดับมาตรการดูแลลูกค้าของโรงภาพยนตร์ในเครือ SF ด้วยการนำเครือข่าย 5G พร้อมหุ่นยนต์อัจฉริยะ 4 แบบ ได้แก่ หุ่นยนต์ ROBOT FOR CARE (ROC), AIS K9LISA และ PP  ทำหน้าที่คอยต้อนรับ ให้ข้อมูลลูกค้า และนำทางจากจุดหนึ่งไปยังอีกจุดที่กำหนดไว้, ช่วยคัดกรอง ตรวจวัดอุณหภูมิลูกค้า ให้บริการเจลแอลกอฮอลล์ ก่อนเข้าโรงภาพยนตร์ เพื่อลดการสัมผัส และป้องกันการแพร่ระบาดของ COVID-19 ภายในพื้นที่โรงภาพยนตร์ เอส เอฟ เวิลด์ ซีเนม่า ศูนย์การค้าเซ็นทรัลเวิลด์

นอกจากนี้ ยังมอบสิทธิพิเศษส่วนลดดูหนัง ให้ลูกค้าเอไอเอส และ เอไอเอส ไฟเบอร์ ซื้อตั๋วดูหนังในราคา เพียง 120 บาท ทุกวันศุกร์-วันอาทิตย์ รับสิทธิ์ 1 หมายเลข / 1 สิทธิ์ / เดือน) สำหรับลูกค้าเอไอเอส เซเรเนด รับสิทธิ์ 1 หมายเลข / 2 สิทธิ์ / เดือน และ โปรโมชั่นดูหนังวันธรรมดา ในวันพฤหัสบดีแรกของทุกเดือน ลูกค้าเอไอเอสและ เอไอเอส ไฟเบอร์ ซื้อตั๋วดูหนังในราคาเพียง 80 บาท รับสิทธิ์ 1 หมายเลข / 1 สิทธิ์ / เดือน ตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไป จนถึง 31 ธันวาคม 2563 (หรือจนกว่าสิทธิ์จะหมด)

โค้งสุดท้าย SSFX

บทความโดย ฐิติเมธ โภคชัย

ผู้บริหารงาน ฝ่ายพัฒนาความรู้ผู้ลงทุน ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย

วันอังคารที่ 30 มิถุนายน 2563 นี้ จะเป็นวันสุดท้ายที่สามารถซื้อกองทุนเพื่อการออมพิเศษ (Super Savings Fund Extra: SSFX) ได้ ดังนั้น หากคุณมีความพร้อมในเรื่องเงิน เห็นความสำคัญของการออมในระยะยาว ต้องการสิทธิประโยชน์ทางภาษี และเห็นจังหวะราคาหุ้นปรับลดลง ควรใช้โอกาสนี้ในการลงทุน

ทำไมต้องซื้อกองทุน SSFX คำตอบคือ เป็นโอกาสพิเศษสำหรับการลงทุน ซึ่งประเด็นนี้ สาห์รัช ชัฎสุวรรณ ผู้อำนวยการสายการตลาดและที่ปรึกษาการลงทุน บลจ.ทิสโก้ เฉลยถึงความพิเศษของการลงทุนในกองทุน SSFX ว่า

  1. ไม่ว่าคุณจะมีฐานรายได้มากหรือน้อย เป็นรายได้ประจำหรือไม่ประจำ เมื่อซื้อกองทุน SSFX จะได้สิทธิลดหย่อนภาษีเป็นกรณีพิเศษ สูงสุดไม่เกิน 200,000 บาท
  2. เงินลงทุนในกองทุน SSFX ที่นำไปลดหย่อนภาษี จะไม่นับรวมกับกองทุนกลุ่มเกษียณอื่นๆ หมายความว่า หากลงทุนในกองทุนกลุ่มเกษียณที่ได้สิทธิลดหย่อนภาษีอื่นๆ ในปีนี้จนเต็มวงเงิน 500,000 บาทแล้ว และถ้าลงทุนในกองทุน SSFX อีก 200,000 บาท ก็จะได้สิทธิประโยชน์ทางภาษี นำไปลดหย่อนสูงสุดได้ถึง 700,000 บาท
  3. ลงทุนกองทุน SSFX เหมือนได้ส่วนลด (Discount) จากราคาปัจจุบัน เนื่องจากได้ลดหย่อนภาษี เช่น หากมีฐานภาษี 10% แสดงว่าได้ซื้อกองทุน SSFX ต่ำกว่าราคาปัจจุบัน 10% หรือฐานภาษี 15% แสดงว่าได้ซื้อ SSFX ต่ำกว่าราคาปัจจุบัน 15% เป็นต้น
  4. เนื่องจากกองทุน SSFX เมื่อซื้อแล้วต้องถือครอง 10 ปีขึ้นไป นับจากวันที่ซื้อ ซึ่งมีระยะเวลาลงทุนนานพอที่จะทำให้มีโอกาสได้รับผลตอบแทนที่ดีจากการลงทุน และเมื่อครบกำหนดสามารถขายหน่วยลงทุน ทำให้มีเงินเก็บจำนวนหนึ่ง เพื่อนำไปทำอย่างอื่นต่อได้

10 ปีกับการลงทุนกองทุน SSFX ถือว่าไม่นาน ยิ่งหากเคยลงทุนกองทุน LTF และ RMF มาแล้ว ก็ไม่ต้องคิดอะไรมาก ที่สำคัญกองทุน LTF และ RMF ได้พิสูจน์มาแล้วว่า การลงทุนในระยะยาวสามารถลดความเสี่ยง และเพิ่มผลตอบแทนได้อย่างน่าประทับใจ จึงเชื่อว่าเงินลงทุนกองทุน SSFX วันนี้ อีก 10 ปีข้างหน้าจะงอกเงยขึ้นตามลำดับ” สาห์รัช อธิบายถึงความพิเศษของการลงทุนในกองทุน SSFX

อย่างไรก็ตาม นอกจากต้องถามตนเองให้แน่ใจว่า เงินที่แบ่งมาลงทุนในกองทุน SSFX นั้น เป็นเงินก้อนที่จะไม่มีความจำเป็นต้องใช้ไปตลอด 10 ปีนับจากนี้หรือไม่ อย่าลืมศึกษานโยบายการลงทุนของแต่ละกองทุนว่า สอดคล้องกับสไตล์การลงทุนของตนเองมากน้อยเพียงใด

อีกทั้ง ต้องดูข้อจำกัดด้วย โดยเฉพาะหลังจากวันที่ 30 มิถุนายนนี้ไปแล้ว จะไม่สามารถลงทุนเพิ่มได้อีก

หรือเงื่อนไขในการสับเปลี่ยนกองทุน โดยกองทุน SSFX จะสับเปลี่ยนได้กับกองทุน SSFX ด้วยกันเท่านั้น แต่จะไม่สามารถสับเปลี่ยนไปยังกองทุนรวมประเภทอื่นๆ ได้ เพราะมีเงื่อนไขการลงทุนที่แตกต่างกัน ดังนั้น “ก่อนจะดำเนินการต้องสอบถามเจ้าหน้าที่ว่า กองทุนปลายทางที่ต้องการสับเปลี่ยนไปนั้น เป็นกองทุน SSFX หรือไม่” สาห์รัช แนะนำ

ที่สำคัญ ควรศึกษาถึงบทลงโทษเมื่อทำผิดเงื่อนไข กรณีขายคืนหน่วยลงทุนก่อนครบกำหนด 10 ปี

  1. จะต้องคืนเงินภาษีที่เคยได้รับลดหย่อนไป พร้อม “เงินเพิ่ม” ในอัตรา 1.5% ต่อเดือนของจำนวนเงินภาษีที่ได้รับลดหย่อน โดยควรยื่นชำระคืนภาษีทันทีที่ผิดเงื่อนไข เพราะเงินเพิ่มจะเริ่มนับตั้งแต่เดือนที่ผิดเงื่อนไข ไปจนถึงเดือนที่มีการยื่นเรื่องคืนภาษีให้กรมสรรพากร
  2. กำไรที่ได้จากการขายคืนกองทุน SSFX ถือเป็นรายได้ในปีที่ขายคืน ดังนั้น ต้องนำไปรวมเป็นเงินได้เพื่อเสียภาษีด้วย โดยบริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน (บลจ.) จะหักภาษี ณ ที่จ่าย ตามอัตราภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา
  3. หากขายคืนหน่วยลงทุนที่ถือครองต่ำกว่า 1 ปี จะเสียค่าปรับ 1.50% ของมูลค่าซื้อขาย

ถึงแม้กองทุน SSFX จะมีความพิเศษและข้อดี แต่ก็มีข้อจำกัดที่แตกต่างไปจากกองทุน LTF และ RMF ที่ผู้ลงทุนคุ้นเคย และยิ่งใกล้ถึงวันสุดท้ายที่เปิดให้ลงทุน เพื่อป้องกันความผิดพลาด ควรศึกษาข้อมูลให้ละเอียดก่อนตัดสินใจลงทุน

ดูรายชื่อและรายละเอียดกองทุน SSFX คลิก >> https://setga.page.link/fShfM54TGd2XrL4k6

ที่มา ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย

CPF Food Truck เสิร์ฟอาหารเติมอิ่ม ครั้งที่ 23 ให้ชาวชุมชนใต้สะพานพระราม 8

รายงานข่าว เปิดเผยว่่า เมื่อวันที่ 20 มิ.ย. นายเฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ พร้อมกับนายประสิทธิ์ บุญดวงประเสริฐ ประธานคณะผู้บริหาร บริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) หรือ ซีพีเอฟ ได้ร่วมกันจัดโครงการ “อาหารปลอดภัย จากใจ…สู่ชุมชน” ครั้งที่ 23 ส่งรถ CPF Food Truck นำอาหารอุ่นร้อนมอบชาวชุมชนใต้สะพานพระราม 8 เขตบางพลัด กรุงเทพมหานคร เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนจากสถานการณ์โควิด-19 โดยมีธุรกิจพันธมิตร ได้แก่ ข้าวตราฉัตร ทรูคอร์ปอเรชั่น แม็คกรุ๊ป และโอสถสภา เข้าร่วมด้วย

รมว.กระทรวงเกษตรฯ เปิดเผยว่า ขณะนี้ได้ดำเนินโครงการอย่างต่อเนื่องมาถึงครั้งที่ 23 หลายคนได้เห็นรถ CPF Food Truck เข้าแจกจ่ายอาหารแก่พี่น้องไปแล้วกว่า 100 ชุมชน ในพื้นที่ 6 เขตของกรุงเทพมหานคร ซึ่งนับว่าเป็นโครงการระยะยาวที่มีประสิทธิผลในการช่วยเหลือสังคมได้อย่างเป็นรูปธรรม

ด้าน นายประสิทธิ์ บุญดวงประเสริฐ กล่าวว่า ซีพีเอฟ เป็น Good Corporate Citizen หรือ พลเมืองที่ดีของประเทศ การได้ใช้ความเชี่ยวชาญขององค์กรในด้านอาหาร มาร่วมบรรเทาความเดือดร้อนของพี่น้องประชาชนอย่างต่อเนื่อง จึงเป็นความภูมิใจอย่างยิ่ง กระทั่งปัจจุบันเชื่อว่ารถ CPF Food Truck กลายเป็นสัญลักษณ์ของอาหารอุ่นร้อนเพื่อประชาชนที่ทุกคนจดจำได้ ว่าช่วยให้ทุกคนได้อิ่มท้องในช่วงเวลาที่ต้องการความช่วยเหลือ

สำหรับอาหารกล่องอุ่นร้อนพร้อมรับประทานที่นำมาแจกจ่ายนั้นมีถึง 6 เมนูอร่อย ได้แก่ ข้าวอกไก่ซอสจิ้มแจ่ว ข้าวผัดไก่ย่างซอสเกาหลี ข้าวไก่สไปซี่ ข้าวอกไก่ย่างซอสกระเทียม ข้าวตับกระเทียม และข้าวไข่เจียว แจกพร้อมไข่ต้ม และน้ำดื่ม ซึ่งได้รับความสนใจจากประชาชนจำนวนมากที่มาเข้าคิวรับอาหารในลักษณะเว้นระยะห่าง หรือ Social Distacing นอกจากนี้ ยังได้รับความร่วมมือจากภาคธุรกิจหลายรายที่เข้ามาร่วมด้วยช่วยกันบรรเทาความเดือดร้อนประชาชน อาทิ ข้าวตราฉัตร ทรูคอร์ปอเรชั่น แม็คกรุ๊ป และโอสถสภา กลายเป็นพลังในการส่งเสริมความเกื้อกูลกันให้สังคมน่าอยู่ยิ่งขึ้น

ผู้ว่าแบงก์ชาติ แจงเหตุผลขอแบงก์พาณิชย์งดจ่ายปันผล และงดซื้อหุ้นคืน

ธนาคารแห่งประเทศไทย เผยแพร่ คำชี้แจงเพิ่มเติมของ นายวิรไท สันติประภพ ผู้ว่าการ ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เกี่ยวกับการขอให้ธนาคารพาณิชย์งดจ่าย “เงินปันผลระหว่างกาล” และ “งดซื้อหุ้นคืน” โดยมีเนื้อหา ดังนี้

การแพร่ระบาดของโควิด 19 เป็นสถานการณ์ที่มีความไม่แน่นอนสูงมาก ส่งผลกระทบรุนแรงต่อระบบเศรษฐกิจไทย ยังไม่รู้ว่าจะจบเมื่อไหร่ และจะจบอย่างไร การรักษาภูมิคุ้มกันให้กับระบบเศรษฐกิจและระบบสถาบันการเงินเป็นเรื่องที่สำคัญไม่น้อยกว่าการรักษาภูมิคุ้มกันให้กับสุขภาพของคนไทยแต่ละคน

          ภูมิคุ้มกันที่สำคัญมากอันหนึ่งของธนาคารพาณิชย์คือระดับเงินกองทุน ที่เป็นกันชนรองรับผลกระทบที่เกิดขึ้นแล้ว และความไม่แน่นอนที่จะเกิดขึ้นในอนาคต นอกจากนี้เงินกองทุนจะช่วยให้ธนาคารพาณิชย์สามารถปล่อยสินเชื่อได้เพิ่มขึ้น เพื่อสนับสนุนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยเมื่อการแพร่ระบาดของโควิด 19 คลี่คลายลง และเศรษฐกิจไทยเข้าสู่ช่วงฟื้นฟูอย่างเต็มที่

การกำกับดูแลธนาคารพาณิชย์และแนวทางบริหารความเสี่ยงอย่างระมัดระวังที่ผ่านมา ได้ส่งผลให้ระดับเงินกองทุนของธนาคารพาณิชย์ไทยเข้มแข็ง (ณ สิ้นไตรมาส 1 ปี 2563 อัตราส่วนเงินกองทุนต่อสินทรัพย์เสี่ยงหรือ BIS ratio ของระบบธนาคารพาณิชย์ไทยอยู่ที่ร้อยละ 18.7) ธนาคารพาณิชย์จึงสามารถออกมาตรการช่วยดูแลและเยียวยาลูกค้าที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโควิด 19 ได้หลากหลายมาตรการ ในระยะข้างหน้าที่เรายังต้องเผชิญกับความไม่แน่นอนสูง เราไม่ควร “การ์ดตก” ควรจะรักษาระดับเงินกองทุน หรือ “กันชน” ของธนาคารพาณิชย์ให้อยู่ในระดับสูงต่อเนื่องไปอีกระยะหนึ่ง การขอให้ธนาคารพาณิชย์งดจ่าย “เงินปันผลระหว่างกาล” และ “งดซื้อหุ้นคืน” เป็นมาตรการเพื่อไม่ให้ธนาคารพาณิชย์ “การ์ดตก” ให้รักษาระดับเงินกองทุนให้เข้มแข็งต่อเนื่องจนกว่าจะจัดทำแผนบริหารจัดการเงินกองทุนใหม่ได้ชัดเจนขึ้น

          การประเมินระดับเงินกองทุนที่เหมาะสมของธนาคารพาณิชย์ก็เหมือนการตรวจสุขภาพที่ต้องทำเป็นประจำ ในรอบที่ผ่านมาธนาคารพาณิชย์ได้ประเมินและจัดทำแผนบริหารจัดการเงินกองทุนก่อนเกิดการแพร่ระบาดของโควิด 19 ซึ่งสถานการณ์วันนี้ได้เปลี่ยนไปมาก นอกจากนี้ ทั้งการดำเนินงานของธนาคารพาณิชย์และของลูกค้าก็ได้รับผลกระทบจากมาตรการรักษาระยะห่างทางสังคม และมาตรการล๊อกดาวน์ด้วย ลูกค้าของธนาคารพาณิชย์ก็อยู่ในช่วงที่ต้องได้รับการเยียวยา ปรับตัว หรือวางแผนธุรกิจใหม่ ธนาคารพาณิชย์จึงไม่สามารถประเมินผลกระทบที่เกิดขึ้นกับทั้งลูกค้าและแผนธุรกิจของตนเองได้อย่างชัดเจน ธปท. จึงขอให้ธนาคารพาณิชย์เร่งทบทวนแผนบริหารจัดการเงินกองทุนในช่วง 1-3 ปีข้างหน้าโดยคำนึงถึงสถานการณ์ที่เปลี่ยนไปจากเดิมมาก

          นอกจากนี้ ในช่วงครึ่งแรกของปี 2563 ธนาคารแห่งประเทศไทยได้ออกมาตรการหลากหลายด้านเพื่อช่วยเหลือลูกหนี้ และผ่อนผันกฎเกณฑ์การกำกับดูแลหลายเรื่องเพื่อส่งเสริมให้ธนาคารพาณิชย์เร่งปรับปรุงโครงสร้างหนี้ให้แก่ลูกหนี้ด้วย ธนาคารพาณิชย์อยู่ระหว่างเร่งดำเนินการเยียวยาและปรับปรุงโครงสร้างหนี้ให้แก่ลูกหนี้ ซึ่งต้องคำนวณผลกระทบที่จะเกิดขึ้นกับผลประกอบการและระดับเงินกองทุนของธนาคารพาณิชย์อย่างละเอียดในสถานการณ์ต่างๆ (scenarios) ในอนาคตด้วย

          ในภาวะปกติ ธนาคารพาณิชย์บางแห่ง (ไม่ใช่ทุกแห่ง) จะจ่าย “เงินปันผลระหว่างกาล” ให้แก่ผู้ถือหุ้นในช่วงเดือนสิงหาคม “เงินปันผลระหว่างกาล” หรือ interim dividend เป็นการจ่ายเงินปันผลนอกรอบระยะเวลาบัญชี โดยไม่ต้องรอคำนวณผลการดำเนินงานเมื่อครบปี หรือครบรอบระยะเวลาบัญชี โดยอาจจะคำนวณจากผลประกอบการในรอบครึ่งปีแรกและผลการดำเนินงานที่คาดว่าจะเกิดขึ้นในช่วงที่เหลือของปีนำมาจ่ายเป็น “เงินปันผลระหว่างกาล” ให้แก่ผู้ถือหุ้นในช่วงประมาณเดือนสิงหาคม

          ส่วนการ “ซื้อหุ้นคืน” นั้น ในช่วงที่ผ่านมาธนาคารพาณิชย์บางแห่งที่คิดว่ามีเงินกองทุนในระดับสูงเกินความจำเป็น หรือเห็นว่าราคาหุ้นในตลาดลงไปอยู่ในระดับต่ำเกินควร ได้มีแผน “ซื้อหุ้นคืน” จากผู้ถือหุ้นทั่วไป ซึ่งหมายถึงการซื้อหุ้นของตัวเองจำนวนหนึ่งออกจากตลาดหลักทรัพย์มาเก็บไว้ หรือเพื่อนำไปลดทุนในอนาคต ซึ่งจะส่งผลให้ระดับเงินกองทุนของธนาคารพาณิชย์ลดลง (การงดการซื้อหุ้นคืนของธนาคารพาณิชย์นั้น “ไม่กระทบ” ต่อการซื้อขายหุ้นธนาคารพาณิชย์ในตลาดหลักทรัพย์ของประชาชนตามปกติแต่อย่างใด)

          การแพร่ระบาดของโควิด 19 ทำให้ปีนี้เป็นปีที่ไม่ปกติ ทุกภาคส่วนของเศรษฐกิจไทยไม่ว่าจะเป็นธนาคารพาณิชย์ หรือลูกค้าของธนาคารพาณิชย์ได้รับผลกระทบรุนแรง และยังจะต้องเผชิญกับความไม่แน่นอนสูงต่อเนื่องไปอีกระยะหนึ่ง ธนาคารพาณิชย์จึงควรใช้เวลาประเมินสถานการณ์อย่างรอบคอบ วางแผนการดำเนินงานอย่างระมัดระวัง และทำงานกับลูกค้ากลุ่มต่างๆ อย่างใกล้ชิด เพื่อให้แผนบริหารจัดการเงินกองทุนของธนาคารพาณิชย์ที่จัดทำใหม่สอดคล้องกับสถานการณ์ข้างหน้า และสอดคล้องกับบทบาทของธนาคารพาณิชย์ที่จะต้องปล่อยสินเชื่อสนับสนุนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยภายหลังจากที่การแพร่ระบาดของโควิด 19 คลี่คลายลงด้วย

          การขอให้ธนาคารพาณิชย์งดจ่าย “เงินปันผลระหว่างกาล” และ “งดซื้อหุ้นคืน” นี้ แม้ว่าจะกระทบต่อผู้ถือหุ้นของธนาคารพาณิชย์ในช่วงสั้นๆ แต่จะเป็นผลดีสำหรับผู้ถือหุ้นของธนาคารพาณิชย์ในระยะยาว เป็นผลดีต่อผู้ฝากเงิน และเป็นผลดีต่อเศรษฐกิจไทยโดยรวมด้วย เพราะจะช่วยให้ระบบสถาบันการเงินไทยเข้มแข็ง รักษาระดับเงินกองทุนให้อยู่ในระดับสูงได้ต่อเนื่อง มีกันชนที่จะรองรับความไม่แน่นอนที่อาจจะเกิดขึ้นได้อีก โดยเฉพาะถ้าเกิดการแพร่ระบาดโควิด 19 ระยะใหม่ๆ

          การประกาศเรื่องนี้เป็นนโยบายกลางของ ธปท. นอกจากจะช่วยให้เกิดความชัดเจนแก่ผู้ร่วมตลาดแล้ว ยังช่วยลดความกังวลให้แก่ธนาคารพาณิชย์ต่างๆ ด้วย โดยเฉพาะธนาคารพาณิชย์ที่ต้องการบริหารจัดการแบบระมัดระวังเป็นพิเศษ ในช่วงที่ผ่านมาผู้บริหารธนาคารพาณิชย์หลายแห่งได้แจ้งความกังวลให้ ธปท. ทราบว่าผู้ถือหุ้น และผู้ฝากเงินอาจจะเข้าใจผิดได้ ถ้าธนาคารพาณิชย์บางแห่งที่เคยจ่ายเงินปันผลระหว่างกาลประกาศงดจ่ายในปีนี้ หรือยกเลิกแผนการซื้อหุ้นคืนด้วยตนเอง อาจจะถูกเข้าใจผิดไปว่าธนาคารพาณิชย์ที่ต้องการรอบคอบระมัดระวังเป็นพิเศษหรืออยาก “ตั้งการ์ดสูง” เป็นธนาคารพาณิชย์ที่กำลังมีปัญหาเรื่องฐานะการเงินหรือได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโควิด 19 รุนแรงกว่าธนาคารพาณิชย์อื่น ถ้า ธปท. ไม่ออกแนวนโยบายกลางให้ชัดเจน ธนาคารพาณิชย์ต่างๆ ที่เคยจ่าย “เงินปันผลระหว่างกาล” ก็คงจะต้องจ่ายไปตามปกติ ทั้งที่อยากจะสร้างกันชน และใช้เวลาประเมินสถานการณ์อย่างรอบคอบระมัดระวัง ในช่วงเวลาที่เศรษฐกิจไทยยังต้องเผชิญกับความไม่แน่นอนสูง

          ใครที่ติดตามเรื่องของธนาคารกลางและหน่วยงานกำกับดูแลสถาบันการเงินรอบโลกก็คงไม่แปลกใจกับนโยบายเรื่องนี้ของ ธปท. ในขณะที่ ธปท. เพิ่งขอให้ธนาคารพาณิชย์งดจ่าย “เงินปันผลระหว่างกาล” และ “งดซื้อหุ้นคืน” ในระหว่างทบทวนแผนบริหารจัดการเงินกองทุนใหม่ ธนาคารกลางและหน่วยงานกำกับดูแลหลายประเทศทั่วโลกได้ออกนโยบายเกี่ยวกับเรื่องนี้ไปก่อนหน้านี้หลายเดือน บางประเทศ (เช่น อังกฤษ) ขอให้งดซื้อหุ้นคืน และไปไกลถึงขนาดขอให้งดการจ่ายเงินปันผลประจำปีจากผลประกอบการของปีที่แล้วด้วย บางประเทศ (เช่น สหภาพยุโรป และนิวซีแลนด์) ขอให้งดซื้อหุ้นคืนและงดการจ่ายเงินปันผลไประยะเวลาหนึ่งเพื่อรอความชัดเจนของสถานการณ์โควิด 19 ก่อน บางประเทศ (เช่น ออสเตรเลีย) ขอให้ธนาคารพาณิชย์จัดทำ stress test ใหม่ภายใต้สถานการณ์ความไม่แน่นอนต่างๆ ก่อนที่จะพิจารณาจ่ายเงินปันผล หลายประเทศที่เป็นประเทศเศรษฐกิจเกิดใหม่ก็มีแนวนโยบายให้ธนาคารพาณิชย์งดจ่ายเงินปันผลเช่นกัน รวมทั้งกองทุนการเงินระหว่างประเทศ​ (IMF) ได้ออกมาสนับสนุนให้ธนาคารกลางและผู้กำกับดูแลสถาบันการเงินทั่วโลกมีนโยบายระงับการจ่ายเงินปันผลและการซื้อหุ้นคืนของธนาคารพาณิชย์ด้วย