ดัชนีหุ้นไทยวันที่ 20 พ.ค.63 ปิดที่ 1,322.20 จุด เพิ่มขึ้น 12.25 จุด มีมูลค่าการซื้อขาย 67,672.70 ล้านบาท ต่างชาติขายสุทธิ 2,648.58 ล้านบาท
หุ้นไทยเด้งรับ กนง.ปรับลดดอกเบี้ยนโยบายลงอีก 0.25% ลงมาอยู่ที่ 0.50% ต่ำสุดเป็นประวัติการณ์ ดีต่อบรรยากาศการลงทุนในตลาดหุ้น ขณะที่กลุ่มสาธารณูปโภคและนิคมอุตสาหกรรมโดดเด่น
บล.เอเซียพลัส ชี้ว่า ผลการประชุม กนง. มีมติ 4 ต่อ 3 ให้ลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลง 0.25% เหลือ 0.5% (ต่ำสุดเป็นประวัติการณ์) ตามที่ตลาดและเอเซียพลัสคาด และ กนง. ยังส่งสัญญาณพร้อมใช้นโยบายการเงินผ่อนคลายเพิ่มเติม (ดอกเบี้ยในอนาคตมีโอกาสลดลงได้อีก) เนื่องจากดอกเบี้ยที่แท้จริง (Net Interest Rate) ยังเป็นบวก 3.49%
โดยการลดอัตราดอกเบี้ยลง 0.25% จะทำให้ Market Earning Yield Gap ขยายตัวกว้างขึ้น ส่งผลให้ค่า P/E เป้าหมายของตลาดหุ้นไทยปรับตัวสูงขึ้นได้ราว 0.7-0.8 เท่า มาเป็น 18.1-18.2 เท่า ซึ่งเป็นผลดี
แต่อีกมุมหนึ่ง ดัชนีตลาดยังมี Downside จากประมาณการกำไรบริษัทจดทะเบียน โดย EPS ตลาดปัจจุบันอยู่ที่ 72.6 บาท/หุ้น มีโอกาสถูกปรับลงเป็น 66-67 บาท/หุ้น และหากอิงดัชนีที่ 1,300 จุด ค่า P/E สิ้นปี 63 จะอยู่ที่ 19.7-20.3 เท่า สูงกว่าค่า P/E เป้าหมายใหม่ กรณีปรับลดดอกเบี้ย แสดงถึงผลบวกจากการลดดอกเบี้ย ไม่อาจชดเชยผลกระทบจากการปรับลดประมาณการได้
แต่ช่วงสั้นการลดดอกเบี้ยถือเป็น Sentiment เชิงลบต่อ หุ้นแบงก์ใหญ่จึงแนะเลี่ยงลงทุน แต่เป็น Sentiment บวกต่อหุ้นกลุ่มเช่าซื้อ, อสังหาริมทรัพย์ เช่น LH–AP, หุ้นปันผล เช่น ADVANC–PTT–RATCH–TTW–DCC–DIF
ขณะที่ บล.หยวนต้า โฟกัสค่าเงินบาทที่แข็งค่าอีก +0.3% และแข็งค่ามาแล้ว +2.2% ในเดือนนี้ (MTD) สวนทางค่าเฉลี่ยภูมิภาคที่อ่อนค่า -0.4% MTD หุ้นที่มักปรับตัวขึ้นได้ดีในช่วงบาทแข็งคือ น้ำมัน, ปิโตรเคมี, โรงไฟฟ้า, สื่อสาร, ผู้ค้าสินค้าไอที, นิคมฯ ส่วนกลุ่มที่อาจถูกกดดันระยะสั้นคือส่งออกเกษตรและอาหาร, ชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์, ยานยนต์
ส่วนหุ้นกลุ่มที่ได้ประโยชน์จากบาทแข็งและยังมี Upside เมื่อเทียบกับราคาเป้าหมาย คือ SCC–RATCH–GUNKUN– ADVANC–TRUE และ AMATA!!
ที่มา คอลัมน์ เงาหุ้น โดย อินเด็กซ์ 51 หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ